ลีซาจับมือครุศาสตร์ จุฬาฯ เปิดอบรม "ดาราศาสตร์ออนไลน์" ปั้นครูดาราศาสตร์ไฮเทค เสริมเด็กไทยเรียนรู้ศาสตร์แห่งดวงดาวอย่างถูกต้อง-มีความสุข ชูมีข้อดีมากมาย เรียนรู้ได้ทุกที่ ช่วยคุณครูประหยัดทั้งเวลาและเงิน
การเรียนรู้ศาสตร์แห่งดวงดาวและอวกาศ หรือ "ดาราศาสตร์" อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินเข้าใจ แต่กว่านักเรียนตัวน้อยจะเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างถูกต้องนั้น ด่านแรกคือ "คุณครู" ที่จะต้องรู้จักและเข้าใจศาสตร์นี้เองเสียก่อน
น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผอ.ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ผู้ก่อตั้งหอดูดาวเกิดแก้ว จ.กาญจนบุรี เผยว่า ดาราศาสตร์เป็นวิชาใหม่ที่บรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาของชาติตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ครอบคลุมชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีเนื้อหาเช่น ทรงกลมท้องฟ้า กลุ่มดาว ระบบสุริยะ เอกภพ และเทคโนโลยีอวกาศ จากเดิมทีที่ศาสตร์นี้จะถือเป็นเพียงบทเรียนหนึ่งในวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลักสูตรและสาระการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนแล้ว แต่การเตรียมครูผู้สอนในศาสตร์ดังกล่าวก็ยังขาดตกบกพร่องอยู่ เพราะยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดที่ผลิตครูผู้สอนดาราศาสตร์เลย ครูผู้สอนส่วนใหญ่จึงไม่มีความรู้ด้านดาราศาสตร์ตลอดทั้งมีสื่อช่วยสอนมากเพียงพอ ที่ผ่านมาจึงเน้นการท่องจำเป็นหลัก เมื่อผู้เรียนเกิดความสนใจและไต่ถามในเชิงลึก ครูมักตอบไม่ได้ จึงพลอยส่งผลไปยังการต่อยอดความสนใจในผู้เรียนให้เรียนได้อย่างมีความสุขไปด้วย
จากปัญหานี้เอง น.อ.ฐากูร กล่าวว่า ลีซาภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดหลักสูตร "ไอแอสโตร" (iAstro) หรือ "การอบรมสาระการเรียนรู้ดาราศาสตร์และอวกาศผ่านอินเทอร์เน็ต" ขึ้นเพื่อเสริมศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับความรู้และเกิดความมั่นใจในการสอนวิชาดาราศาสตร์มากขึ้น
หลักสูตรดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปยังการสร้างความเข้าใจในแนวคิดสำคัญๆ ทางดาราศาสตร์แก่ครูเป็นหลัก ซึ่งนอกจากผู้เรียนจะเรียนรู้ผ่านบทเรียนออนไลน์แล้ว ยังจะมีชุดการเรียนรู้ดาราศาสตร์และอวกาศ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลอง ซอฟต์แวร์แบบจำลองระบบสุริยะ และซอฟต์แวร์วัตถุในห้วงอวกาศลึกที่ได้รับอนุญาตจากผู้พัฒนาจากนานาชาติแล้วส่งไปถึงบ้านให้นำไปศึกษาด้วยตัวเองด้วย
นอกจากนั้น ตลอดหลักสูตรยังจะมีการสอดแทรกกิจกรรมประกอบการสอนและแนะนำแหล่งการค้นคว้าเพิ่มเติมเสมอๆ ส่วนการประเมินผลการเรียนจะประเมินจากการส่งงานประจำสัปดาห์ การฝึกภาคสนาม 2 วัน 1 คืน ณ หอดูดาวเกิดแก้ว รวมถึงการสอบข้อเขียนในท้ายที่สุด
รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สกว.กล่าวว่า ข้อดีของหลักสูตรนี้จะอยู่ที่ครูผู้สอนสามารถเรียนรู้ผ่านเครือข่าวอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัดเฉพาะครูในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลเท่านั้น โดยเป็นวิธีที่ประหยัดเงินและรบกวนเวลาของครูน้อยที่สุด อีกทั้งผู้รับการอบรมยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้เสริมประสิทธิภาพการสอนในชั้นเรียนไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากมีเนื้อหาล้อตามหลักสูตรการศึกษาของชาติโดยกระทรวงศึกษาธิการทุกประการ
ทั้งนี้ ลีซาเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการอบรมแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะเปิดอบรมหลักสูตร iAstro 101 "ดาราศาสตร์สังเกตการณ์และระบบสุริยะ" ในเดือนมิถุนายน-กันยายน 2551 และเปิดอบรมหลักสูตร iAstro 102 "ดาวฤกษ์ กาแล็กซี และเทคโนโลยีอวกาศ" ในเดือนพฤศจิกายน 2551-กุมภาพันธ์ 2552 หลักสูตรละ 16 สัปดาห์ เวลาเรียนสัปดาห์ละ 12 ชั่วโมง ผู้เรียนครบตามหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตร
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2218-2462-3 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.iastrocenter.com