“ในนี้เขียนมาให้ข้าพเจ้าทราบว่าเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551 ท่านนายกรัฐมนตรีได้จัดให้มีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพบก พ.ศ.2551 โดยผู้บัญชาการทหารบก กับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาล ใจความสำคัญที่น่าชื่นใจคือ ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันทุกวิถีทางในการอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งก็คือแหล่งน้ำของเมืองไทย ข้าพเจ้าจึงรู้สึกซาบซึ้งขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี กองทัพบก กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าพเจ้าขอเอาใจช่วย และจะได้เฝ้ารอดูความเจริญเติบโตของป่าไม้ในเมืองไทยต่อไป”
ความหนึ่ง จาก พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2551
*เปิดแผนเช่าอุทยานแห่งชาติ
จากกรณีที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโรงแรมและที่พักในเขตพื้นที่บริการ 10 แห่ง
ประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก เป็นเวลา 30 ปี รวมทั้งการให้บริการท่องเที่ยว โดยอ้างว่าเพื่อจะนำรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาช่วยเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งดีกว่าปล่อยให้เสื่อมโทรมและถูกบุกรุกนั้น ได้เป็นการจุดประเด็นสร้างกระแสให้หมู่คนรักธรรมชาติและผู้ที่ห่วงใยตลอดจนถึงประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ด้วยกลัวว่าสิ่งที่ภาครัฐกำลังคิดริเริ่มจะทำนั้น จะเป็นการนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมที่ไวกว่าปกติเสียมากกว่าผลประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ เพราะไม่เชื่อใจในการเข้ามาของภาคเอกชน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าการสร้างรีสอร์ทในอุทยานแห่งชาติไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน
สำหรับคนรักธรรมชาติแล้วก็ได้พากันออกมาต่อต้านความคิดนี้กันเป็นวงกว้างทีเดียว บางคนถึงกันตั้งข้อสังเกตว่า งานครั้งนี้เป็นกลลวงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่แท้จริงไม่น่าจะอยู่ที่อุทยานแห่งชาติทั้ง10 แห่งที่ประกาศออกมาในเบื้องต้น แต่เป้าหมายจริงๆอยู่ที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีผลประโยชน์มหาศาลมากกว่า ซึ่งหากลงทุนไปแน่นอนว่าคุ้มค่าได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งล่าสุดก็มีกระแสข่าวเผยโฉม อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ว่ากันว่าเป็นเป้าหมายที่แท้จริงออกมาแล้วว่า มีด้วยกันทั้งหมด 7 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็ล้วนเป็นสุดยอดแห่งท้องทะเลอันดามันทั้งสิ้น ได้แก่
1. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา 2 แห่ง คือ เกาะตาชัย เนื้อที่ 45 ไร่ บริเวณอ่าวงวงช้าง เกาะแปด พื้นที่ 40 ไร่
2. อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต 3 แห่ง คือ บริเวณท่าฉัตรไชย หาดลายัน เนื้อที่ 70 ไร่ บริเวณหัวแหลมอ่าวปอ เนื้อที่ 30 ไร่
3. อุทยานแห่งชาติเขาลำปี - หาดท้ายเหมือง จ.พังงา มี 2 แห่งคือ บริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป. 3 (ปาง) และบริเวณข้างเคียง และบริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป. 3 (ปาง) ต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ
4. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มี 4 แห่งคือ บริเวณหาดนพรัตนธารา เนื้อที่ 5 ไร่ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 2 (สุสานหอย) เนื้อที่ 12 ไร่ บริเวณที่ราบเกาะปอดะใน เนื้อที่ 70 ไร่ และบริเวณอ่าวต้นไทร เกาะพีพีดอน เนื้อที่ 40 ไร่
5. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง รวมพื้นที่ 7 แห่งรวมเนื้อที่ทั้งหมด 1,910 ไร่ ได้แก่ บริเวณที่ทำการอุทยาน (หาดฉางหลาง) เนื้อที่ 809 ไร่ บริเวณหาดยาว เนื้อที่ 440 ไร่ บริเวณเกาะกระดาน เนื้อที่ 118 ไร่ บริเวณหาดหยงหลิน เนื้อที่ 53 ไร่ บริเวณหาดฉางหลาง (เพิ่มเติม) เนื้อที่ 179 ไร่ บริเวณหาดสั้น เนื้อที่ 162 ไร่ และบริเวณเกาะมุกต์เนื้อที่ 149 ไร่
6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ 2 แห่งคือ พื้นที่ตั้งอุทยานแห่งชาติ 1 (เกาะรอก) เนื้อที่ 336 ไร่ บริเวณชายหาดอ่าวไม้ไผ่ ใกล้จุดที่ทำการอุทยานฯ ลันตา เนื้อที่ 26 ไร่
7. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล 4 จุด คือ บริเวณอ่าวจาก เกาะตะรุเตา เนื้อที่ 80 ไร่ อ่าวเมาะและ เกาะตะรุเตา เนื้อที่ 40 ไร่ บริเวณอ่าวราชา เกาะราวี เนื้อที่ 30 ไร่ บริเวณอ่าวตะโละปะเหลียน เกาะราวี เนื้อที่ 60 ไร่
อีกทั้งยังมีกระแสข่าวเปิดเผยว่าขณะนี้ ทางบริษัทบ้านปูละคร ได้เสนอแผนลงทุนโรงแรม 5 ดาว ที่ "อ่าวเมาะ" และ "เกาะตะรุเตา” โดยบริษัทบ้านปูละคร (2550) จำกัด ที่ได้เสนอแผนวิเคราะห์การลงทุนพัฒนาโรงแรมระดับห้าดาวจำนวน 140 ห้อง บนพื้นที่อ่าวเมาะและ
แต่ที่ประชุมยังเห็นว่าเอกสารยังไม่ครบถ้วนตามระเบียบว่าด้วยการอนุญาตพ.ร.บ. ปี 2547 จึงไม่พิจารณา และให้นำเรื่องกลับไปพิจารณาโดยละเอียดว่าไม่ครบถ้วนในประเด็นใดบ้าง และให้นำเสนอเป็นเอกสารมาอีกครั้ง (ให้ตีเรื่องกลับไปแต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ผ่านหรือไม่อนุญาตให้เช่า)
อีกทั้งมีข่าวแว่วๆ มาว่า ร้านอาหารฟาดฟู้ดชื่อดัง สนใจจะตั้งสาขาในอุทยานหลายแห่ง เมื่อมีนักข่าวสอบถามไปถามไปยัง นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ปัจจุบันหมดวาระแล้วละมีอธิบดีคนใหม่คือ นายอุภัย วายุพัฒน์) ถึงกรณีที่มีข่าวว่า ร้านอาหารฟาดฟู้ดชื่อดังได้ทำการติดต่อขอเช่าพื้นที่ในอุทยานฯทั่วประเทศเพื่อขอตั้งร้านในอุทยานแห่งชาติ ภายหลังจากทราบว่า ร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปเช่าพื้นที่ขายของ และทำรีสอร์ทได้ จริงหรือไม่
นายเฉลิมศักดิ์ก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบ เอกชนทุกรายมีสิทธิเข้ามาดำเนินการได้ทั้งสิ้น และตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้มีอำนาจในการอนุมัติให้เอกชนมาเช่าอุทยานนั้น คือรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
*การบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
แน่นอนว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างพอสมควรและคงกว้างมากพอ ที่จะทำให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงฯเต้นได้ เพราะไม่นานหลังจากเรื่องนี้ได้กลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเองก็ได้จัดเวทีสาธารณะขึ้น ซึ่งผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารกริต สามะพุทธิ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการเปิดรับฟังกระแสความคิดเห็นจากผู้คนในสังคมอย่างรอบด้าน
แม้หลายคนที่มาร่วมงานจะออกแนวมึนงงกันบ้างว่า การจัดงานดังกล่าวบอกกล่าวได้กระชั้นชิดและไม่มีรายละเอียดที่ถี่ถ้วน ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และมีคนหมู่มากให้ความสนใจ แต่การจัดงานครั้งนี้ก็ยังถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะค่อนข้างได้รับความสนใจจากภาคประชาชน และกลุ่มนักอนุรักษ์หลายองค์กร ที่เดินทางมาเข้ายื่นหนังสือ และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในอุทยานแห่งชาติ กลุ่มคนที่เข้ามายื่นหนังสือส่วนใหญ่มองว่ามีความเป็นห่วงต่อทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยาน และไม่มั่นใจว่ารัฐจะสามารถควบคุมเอกชนได้จริง
นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มาเป็นประธานเปิดงานกล่าวถึงกระแสข่าวของ 7 อุทยานทางฝั่งอันดามันว่า เรื่องการที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯได้กำหนดพื้นที่เขตบริการในอุทยานแห่งชาติทางฝั่งอันดามันทั้ง 7 แห่ง นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในอุทยานแห่งชาติได้หรือไม่ ที่ผ่านมามีเพียงแนวคิดจากคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่อยากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แต่ยังไม่ได้มีการสรุปหรือทำอะไรทั้งสิ้น
ทางด้าน นายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ในฐานะประธานคณะทำงานฯเต็งหนึ่งโต้โผแนวคิดนี้ ได้กล่าวอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในอุทยานฯว่า เป็นเพราะแนวโน้มนักท่องเที่ยวมากขึ้น จากสถิติในช่วงปี 2550 มีนักท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 14 ล้านคน และปี 51 มี 12 ล้านคน ขณะที่อช.มีแค่ 101 แห่ง และรองรับนักท่องเที่ยวได้ 4,000 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวกางเต้นท์ ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในแหล่งท่องเที่ยว และที่พักที่ไม่เพียงพอ
ด้วยความสงสารนักท่องเที่ยว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำระเบียบการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานปีพ.ศ.2547 ขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง ว่าจะกำหนดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้หรือไม่
ทั้งนี้ได้มีการหยิบยกอ้างว่าในต่างประเทศก็มีอุทยานฯที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแลและประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งได้ทั้งคำถามไว้ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเก็บไปขบคิดด้วยว่า การเปิดให้เอกชนเข้ามามีเอี่ยวกับอุทยานฯ 1.จริงหรือ ที่จะขายอุทยานแห่งชาติให้แก่นายทุน? 2.จริงหรือที่เอกชนเข้าร่วมบริการ พื้นที่อุทยานแล้วจะเป็นการทำลายธรรมชาติ 3.อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างชาญฉลาด
*หลากความเห็น
แน่นอนว่าเรื่องนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย เราลองมาฟังความคิดเห็นบางส่วนจากผู้คนหลายภาคส่วนกันบ้างว่า พวกเขาคิดเห็นอย่างไรเพื่อท่านผู้อ่านจะได้เก็บเอาไปคิดประกอบการตัดสินใจว่า อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของอุทยานฯไทยที่มีเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
นักวิชาการอย่าง ศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติพยายามจะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาทำที่พักในอุทยานโดยอ้างว่าต่างประเทศก็ทำกัน ไม่เป็นความจริง เพราะตอนนี้แม้แต่ที่เกาะสิปาตัน มาเลเซีย ยังนำรีสอร์ทจำนวน 6 แห่ง ออกจากพื้นที่เพราะปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสียหาย
สวนทางกับประเทศไทย ที่มีแผนนำเอาเกาะทางอันดามัน แหล่งปะการังดีที่สุดติดอันดับ 1 ใน10 ของโลก โดยเฉพาะที่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน เกาะรอก ไปสร้างที่พักบนเกาะถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะแม้แต่โรงแรมรอบอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ก็มีกระแสข่าวโรงแรมปล่อยน้ำเสียลงทะเลจนปะการังเสื่อมโทรม เมื่อหลายปีก่อน
“ถ้าจะทำจริงๆ ต้องกำหนดเรื่องนับคนเพื่อจำกัดการท่องเที่ยวจะนับพนักงานที่พักด้วยหรือไม่ โรงแรมที่พักทุกกรณีจะต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ เพราะพื้นที่อุทยานอ่อนไหวมาก ที่สำคัญวิธีการคัดเลือกภาคเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการใครจะเป็นคนกำหนด รวมทั้งการตรวจสอบประเมิน และความรับผิดชอบหากเกิดปัญหาความเสียหายขึ้น”ศ.ดร.ธรณ์ตั้งข้อสังเกต
ด้าน ผศ.สุรเชษฐ์ เชษมาส จากคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้กรมอุทยานแห่งชาติให้ความสำคัญเรื่องการท่องเที่ยวมากเกินไปหรือเปล่า หากรัฐจะให้สัมปทานเอกชนอย่างที่เป็นข่าว กรมอุทยานฯควรต้องมีความชัดเจนเรื่องสถานะของตัวเองและมีภาพลักษณ์ในแต่ละอุทยานก่อน อีกทั้งควรนำร่องอย่างละหนึ่ง แห่งคือทางบกหนึ่ง ทางทะเลหนึ่ง เพื่อนำร่อง แต่ต้องโปร่งใสเรื่องวิธีการคัดเลือก การติดตามประเมิน และนำบทเรียนการให้สัมปทานในอดีตมาใช้ด้วย
ส่วน ผ่อง เล่งอี้ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ก่อตั้งอุทยานแห่งชาติ ผู้ใหญ่แห่งวงการป่าไม้ กล่าวเตือนสติว่า คนที่มีจิตวิญญาณอนุรักษ์จะไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าอุทยานแน่นอน ให้นึกถึงวีรชนที่เสียสละชีวิตเพื่อผืนป่าด้วย
พร้อมทั้งยกตัวอย่างที่ผิดพลาดบทเรียนในอดีตเคยมีมา คือยอมให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ขึ้นไปบริหารบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีทั้งโรงแรม สนามกอล์ฟ ซึ่งต้องใช้ความพยายามกันอย่างมาก เพื่อจะเอาสิ่งเหล่านั้นออกมาจากพื้นที่อุทยานฯเนื่องจากเกิดผลกระทบกับพื้นที่ป่าไม้ แต่วันนี้ เรากำลังจะบอกว่า เราต้องการนำสิ่งเหล่านี้กลับขึ้นไป จึงอยากถามว่า ถูกต้องหรือไม่
"ผมอยากเตือนว่า ให้คำนึงถึงความล้มเหลวทีผ่านมา มีบทเรียนไม่ใช่ว่า เราไม่มี เมื่อ ปี 2510 เราพูดเรื่องสัมปทานป่าไม้ให้เอกชน เหมือนวันนี้ที่เราพูดเรื่องให้เอกชนเข้ามาสัมปทานพื้นที่อุทยานฯแห่งชาติด้วยแนวคิดเดียวกัน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแนวคิดล้มเหลว ป่าไม้เกือบหมดประเทศในขณะนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าแนวคิดนี้มันเสี่ยงเกินไป ละเอียดอ่อนเกินไป และผมไม่แน่ใจนิสัยของคนไทยจะควบคุมได้มากแค่ไหน และทำตามกฎหมายหรือไม่ คนที่จะดำเนินการเรื่องนี้ จึงเสี่ยงอย่างมากกับผลกระทบที่ตามมา" พี่ใหญ่แห่งวงการป่าไม้กล่าว
ด้าน นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในนักอนุรักษ์ที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า ตอนสมัยที่ทำงานก็มีคำของกรมอุทยานว่า Park For People แต่หลังจากลาออกไปได้สองปี ประมวลไปประมวลมากลายเป็น “Park For Sele” พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อกรมอุทยานฯ ว่าวันนี้เราเปลี่ยนปรัชญาเป็น Park For Sale แล้วใช่หรือไม่
แม้ ณ วันนี้เรื่องนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะแว่วมาว่ายังจะต้องมีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อเปิดระดมความคิดเห็นกันอีกหลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่ก็ไม่อยากให้นิ่งนอนใจกันเพราะผืนป่าและท้องน้ำทะเลไทยเป็นสมบัติของแผ่นดินที่ทุกคนในชาติ ต้องหวงแหนรักษาไว้อย่าปล่อยให้ถูกทำลายด้วยคนเพียงหยิบมือ เพราะอุทยานแห่งชาติเป็นของเราทุกคน
ดังความหนึ่งของพระราชเสาวนีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อ วันที่12 สิงหาคม พ.ศ.2551 ความหนึ่งว่า
“เพราะฉะนั้นทำไมเราไม่รู้จักเก็บป่าไม้ที่เป็นแหล่งสะสมน้ำไว้ให้ดี อย่าพากันไปตัดคนละหนุบคนละหนับ ความจริงป่าไม้ก็เป็นของคนไทยทั้งชาติ เป็นผลประโยชน์ของคนไทยทั้งชาติ ไม่มีสิทธิ์ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้าไปตัด และจะทำการค้าแต่ลำพัง ต่อไปถ้าประเทศไทยขาดน้ำจะทำอย่างไร เพราะเราก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย”