xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว"ศรีเทพ" เสพบรรยากาศเมืองโบราณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรางค์ศรีเทพ
วันนี้"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอหลบปัญหาเรื่องมรดกโลกเจ้าปัญหาเขาพระวิหารที่ยังถกเถียงกันไม่จบสิ้นอันเกิดจากคนขายชาติเพียงไม่กี่คน ขอหลบจากปัญหาระหว่างคนกับโบราณสถานที่แก้ไม่ตกของมรดกโลกอยุธยา จนทำให้เกิดข่าวว่ามรดกโลกชิ้นนี้อาจจะถูกถอดถอน ขอหลบมาเที่ยวโบราณสถานที่กำลังจะถูกหมายมั่นปั้นมือเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ในอนาคตอย่างที่ "อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ" จ.เพชรบูรณ์ แทนดีกว่า
ปรางค์สองพี่น้อง
เมืองโบราณศรีเทพนั้น ได้ปรากฏชื่อขึ้นครั้งแรกเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ เนื่องจากพระองค์ทรงพบชื่อ "ศรีเทพ" ในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมือง และสืบค้นจนสันนิษฐานได้ว่าศรีเทพเป็นชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรี อีกทั้งยังทรงสำรวจพบโบราณวัตถุโบราณสถานต่างๆมากมายในแถบนี้ จึงทรงเป็นคนแรกที่เรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า "เมืองศรีเทพ"

เมืองศรีเทพนั้นเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบนั้นแสดงให้เห็นว่าเมืองศรีเทพนั้นเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี หรือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา และถูกทิ้งร้างไปในที่สุดหลังพุทธศตวรรษที่ 18
คนแคระแบกโบราณสถาน
หากให้ฉันเล่าคงจะมีคนหลับไปเสียก่อน เพราะฉะนั้นเพื่อความเข้าใจในที่มาของเมืองศรีเทพ ก็ขอเชิญทุกคนเข้าไปเยี่ยมชมศูนย์บริการข้อมูลของอุทยานฯ กันก่อนดีกว่า ภายในนั้นก็จะมีข้อมูลของเมืองโบราณศรีเทพ ตั้งแต่แผนผังที่ตั้งและขอบเขต ทำให้ฉันรู้ว่าเมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองสองชั้น คือมีเมืองในและเมืองนอก เมืองในเป็นส่วนที่สำคัญของเมืองศรีเทพ มีโบราณสถานอยู่กว่า 70 แห่ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขุดแต่ง มีสระน้ำสำคัญ และมีประตูเมืองตามแบบเมืองใหญ่ทั่วไป ส่วนเมืองนอกมีขนาดใหญ่กว่าเมืองใน มีโบราณสถานที่ค้นพบแล้วกว่า 60 แห่ง ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขุดแต่งเช่นเดียวกัน

อีกทั้งก็ยังมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ที่ขุดค้นพบมาจัดแสดงให้ชม เช่นสุริยเทพที่ขุดพบถึง 3 องค์ ท้าวกุเวร และมีภาพถ่ายเก่าๆระหว่างการขุดค้นที่เมืองศรีเทพ และล่าสุดหลังจากการปรับปรุง ทางศูนย์บริการฯก็ได้จัดทำห้องศิลาจารึก ซึ่งรวบรวมโบราณวัตถุประเภทจารึกที่ขุดค้นพบในเมืองศรีเทพ เช่นจารึกบนฐานประติมากรรม ซึ่งเป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี
โบราณสถานเขาคลังใน
คราวนี้ก็ได้เวลาออกเดินชมโบราณสถานกันแล้ว ในหน้าฝนอย่างนี้ท้องฟ้าอาจไม่แจ่มใส มีฝนฟ้าในบางวัน หากวันไหนแดดออกอากาศสดใสก็ถือว่าโชคดีไป แต่หากมาวันที่ฝนตกก็คิดเสียว่าไม่ต้องเผชิญกับแดดร้อน สายฝนที่โปรยลงมาก็ถือซะว่าเป็นพัดลมไอน้ำเย็นชื่นใจดี

สำหรับจุดแรก มาแวะกันก่อนที่ "หลุมขุดค้นทางโบราณคดี" ที่สร้างเป็นอาคาร ภายในจัดแสดงให้เห็นถึงการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเนินดินขนาดใหญ่ภายในเมืองศรีเทพ ซึ่งได้มีการขุดค้นเมื่อ พ.ศ.2531 และการขุดค้นนั้นก็ทำให้พบหลักฐานที่ทำให้เห็นถึงร่องรอยของชุมชนดั้งเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นั่นก็คือโครงกระดูกมนุษย์ 5 โครง และข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกฝังอยู่ในดินลึกถึง 4 เมตร มีอายุราวๆ 2,000 ปีมาแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองศรีเทพนี้ได้มีการตั้งถิ่นฐานชุมชนมาตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็นสังคมเมืองที่รับอารยธรรมทวารวดีและเขมรโบราณในราวพุทธศตวรรษที่ 11-18 ก่อนที่เมืองศรีเทพจะถูกทิ้งร้างไปราวก่อนหรือต้นสมัยสุโขทัย อีกทั้งภายในหลุมขุดค้นนี้ยังพบโครงกระดูกช้างโบราณในสมัยหลังลงมาอยู่ในบริเวณเดียวกันอีกด้วย
 โบราณสถานเขาคลังนอก อยู่ระหว่างการขุดเเต่ง
ออกจากหลุมขุดค้นมาชม "ปรางค์ศรีเทพ" กันต่อ ปรางค์ศรีเทพนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมร ตั้งอยู่บนฐานยกพื้นขนาดใหญ่ ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านหน้าองค์ปรางค์มีฐานของสิ่งก่อสร้างที่น่าจะเป็นบรรณาลัยอยู่สองหลัง สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา โดยปรางค์ศรีเทพนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17

มาชมปรางค์อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากปรางค์ศรีเทพนัก นั่นก็คือ "ปรางค์สองพี่น้อง" มีลักษณะคล้ายปรางค์ศรีเทพตรงที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่เป็นปรางค์สององค์ตั้งอยู่คู่กันโดยองค์หนึ่งขนาดใหญ่และสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่อีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นองค์เล็กกว่าได้หักพังไปจนเหลือให้เห็นเพียงแค่ฐานและซุ้มประตู
รูปจำลองสุริยเทพที่ขุดพบในอุทยานฯ ภายในศูนย์บริการข้อมูล
สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมที่ปรางค์สองพี่น้องนี้ก็คือที่บริเวณซุ้มประตูของปรางค์องค์น้อง ที่จากการขุดแต่งทางโบราณคดีได้พบทับหลังที่จำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารวตีประทับนั่งอยู่เหนือโคนนทิ มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ส่วนในปรางค์องค์พี่นั้นพบแท่นสำหรับตั้งศิวะลึงค์ตั้งอยู่ ทั้งจากเรื่องราวบนทับหลังและโบราณวัตถุต่างๆที่พบบริเวณปรางค์สองพี่น้องนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นโบราณสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย หรือนับถือพระศิวะเป็นใหญ่นั่นเอง

มาถึงโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดในเขตเมืองในดูบ้าง ที่ "โบราณสถานเขาคลังใน" ศาสนสถานในศาสนาพุทธที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ที่เรียกว่าเขาก็เพราะมีขนาดใหญ่โตราวกับภูเขาลูกย่อมๆ แม้สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่ในวันนี้จะมีเพียงฐานราก แต่ก็ยังเห็นถึงความใหญ่โต โดยฐานของเขาคลังในนั้นก่อด้วยศิลาแลง ผิวนอกฉาบปูน ทางด้านทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นสู่ลานด้านบน ซึ่งมีร่องรอยว่าเคยมีสิ่งก่อสร้างอยู่ด้านบน อาจจะเป็นสถูปหรือวิหารก็สุดที่จะทราบได้เพราะไม่มีใครเคยเห็น แต่ที่ได้ชื่อว่าเขาคลังก็เพราะเชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติจึงเรียกว่า "เขาคลัง" นั่นเอง
ธรรมจักรที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเขาคลังใน
รายละเอียดที่น่าสนใจของเขาคลังในนั้นก็อยู่ที่บริเวณฐานด้านล่าง หากลองไปด้อมๆมองๆดูที่ฐานของโบราณสถานทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกก็จะเห็นว่า ผู้สร้างได้ทำภาพปูนปั้นนูนต่ำประดับเอาไว้โดยรอบ โดยภาพปูนปั้นนั้นทำเป็นรูปคนแคระกำลังแบกโบราณสถานอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะทางศิลปะแบบทวารวดีเช่นเดียวกับเจดีย์วัดโขลง เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี คือมีประติมากรรมปูนปั้นรูปคนและสัตว์แสดงท่าค้ำยันฐานโบราณสถานเช่นเดียวกัน โดยคนแคระเหล่านี้ก็มีทั้งคนแคระที่มีศีรษะเป็นคน และมีศีรษะเป็นสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ลิง สิงห์ เป็นต้น ถือเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก็ว่าได้ ดังนั้นก็เลยถูกโจรแซะจากฐานขโมยออกไปจากอุทยาน เป็นข่าวเมื่อ 3-4 ปีก่อน แต่หลังจากนั้นไม่นานรูปปั้นคนแคระก็ได้กลับมาอยู่ที่เดิม โดยมีคนนำมาทิ้งไว้ที่วัดในจังหวัดลพบุรี ทางวัดจึงได้นำกลับมาคืนทางอุทยานฯเป็นที่เรียบร้อย

อีกทั้งบริเวณด้านหน้าเขาคลังในก็มีธรรมจักรศิลา ศิลปะสมัยทวารวดีที่ขุดพบในสภาพที่หักหายไปเสียครึ่งหนึ่ง แต่ลวดลายรายละเอียดต่างๆ ยังอยู่ครบ ซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเมืองศรีเทพเป็นเมืองโบราณในยุคทวารวดีซึ่งมีการนับถือศาสนาพุทธมาก่อน
โครงกระดูกมนุษย์ในหลุมขุดค้น
ทั้งหมดนี้ก็คือโบราณสถานที่จะได้ชมกันในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในเขตเมืองใน แต่ในตอนนี้ทางอุทยานฯ ก็กำลังดำเนินการขุดค้นโบราณสถานแห่งใหม่ในเขตเมืองนอกเพิ่มเติม นั่นก็คือที่ "โบราณสถานเขาคลังนอก" ที่ตั้งห่างจากเมืองโบราณศรีเทพออกไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร โดยเขาคลังนอกนั้นก็มีลักษณะเดียวกับเขาคลังใน แต่มีขนาดใหญ่กว่า ก่อนนี้เขาคลังนอกเป็นเพียงเนินดินขนาดใหญ่ บริเวณตอนกลางบนยอดสุดมีหลุมที่เกิดจากการลักลอบขุดเป็นโพรงลงไป

เมื่อขุดแต่งไปแล้วก็พบว่า เขาคลังนอกนั้นก็เป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดีที่มีความสำคัญเคียงคู่กันกับเขาคลังในที่ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณศรีเทพ แต่ที่โบราณสถานเขาคลังนอกนี้ยังพบซากเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐหลงเหลืออยู่ด้านบน ส่วนบริเวณฐานนั้นก็มีรูปแบบศิลปะสมัยทวารวดีอย่างชัดเจน และยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก
ทับหลังรูปพระอิศวรอุ้มนางปารวตี ประดับอยู่บนซุ้มประตูของปรางค์องค์น้อง
อีกทั้งยังมีการขุดแต่ง "ปรางค์ฤาษี" ที่อยู่ห่างจากเมืองโบราณศรีเทพไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 3 ก.ม. องค์เรือนธาตุยังค่อนข้างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานสำคัญที่มีความสำคัญคู่กับปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพที่ในเมืองโบราณศรีเทพ

อีกไม่นานการขุดแต่งก็คงจะเสร็จสิ้นลง และที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนี้ก็จะมีโบราณสถานที่สำคัญเพิ่มขึ้น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งเมืองโบราณศรีเทพ ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้เข้าชมกัน แต่ในอนาคตจะได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกหรือไม่ก็ยังต้องดูกันต่อไป

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลา 08.00-16.30 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รถยนต์นำเข้าอุทยาน คันละ 50 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการติดต่อวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร.0-5679-1787

การเดินทาง จากจังหวัดสระบุรี ให้วิ่งมาตามทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) เมื่อถึงสี่แยกอำเภอศรีเทพแล้วให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตรก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

กำลังโหลดความคิดเห็น