xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีแห่งความสำเร็จ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระมหาธาตุเจดีย์ ในวัดจันเสน
พูดถึงชื่อ “จันเสน” ขึ้นมา คงมีน้อยคนที่จะรู้จักว่าเป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และคงมีน้อยคนยิ่งขึ้นไปอีก ที่รู้จักว่า “จันเสน” นั้น เป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือในช่วงยุคโลหะตอนปลาย ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดีตอนต้นที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปีมาแล้ว จันเสนถือเป็นเมืองที่ร่วมสมัยเดียวกับเมืองอู่ทองในลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเมืองฟูนันในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำโขง

เมืองจันเสนถือเป็นเมืองแรกๆ ในสุวรรณภูมิที่มีการติดต่อกับอินเดีย และเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองต่อมาอยู่หลายปี แต่เมื่อทางน้ำได้ตื้นเขินลง ก็ทำให้เมืองจันเสนร่วงโรยไปเช่นเดียวกับเมืองโบราณหลายๆ แห่งที่อยู่ในแถบลุ่มน้ำนี้ จนเมื่อมีการศึกษาพื้นที่และภาพถ่ายทางอากาศโดยอาจารย์นิจ หิญชีระนันทน์ ในปี พ.ศ.2509 เมืองโบราณแห่งนี้จึงได้ถูกค้นพบ โดยบริเวณเมืองโบราณจันเสนนั้นเป็นเนินดินสูงกว่าพื้นที่รอบนอก และล้อมรอบด้วยคูเมืองที่ยังพอมองเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงเรียกเนินดินนั้นว่า “โคกจันเสน” แต่ในวันนี้ไม่มีซากโบราณสถานให้เห็นเพราะขุดทำลายไปเสียหมดแล้ว เหลือก็แต่เพียงโบราณวัตถุต่างๆ มากมายที่มีการขุดค้นพบ เช่น พระพิมพ์ต่างๆ ตราดินเผา ตุ๊กตาดินเผา ตะเกียงดินเผา เศษภาชนะดินเผาประดับลวดลาย ลูกปัดและเครื่องประดับที่เหมือนกับที่พบในอินเดียและแคว้นฟูนัน
กลางพิพิธภัณฑ์ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อโอด หรือพระครูนิสัยจริยคุณไว้ด้วย
ข้าวของเหล่านั้นได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดจันเสน ในอำเภอตาคลี และต่อมา “หลวงพ่อโอด” หรือพระครูนิสัยจริยคุณ เจ้าอาวาสวัดจันเสนในสมัยนั้นก็ได้มีความคิดที่จะสร้าง “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน” ขึ้นภายในวัด พร้อมทั้งจะจัดพื้นที่ภายในเจดีย์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของที่ขุดพบในเมืองโบราณจันเสนพร้อมกันไปด้วย

แต่หลวงพ่อโอดมรณภาพไปเสียก่อนที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสนจะสร้างเสร็จ พระครูนิวิฐธรรมขันธ์ หรือ “หลวงพ่อเจริญ” เจ้าอาวาสรูปต่อมาจึงเป็นกำลังสำคัญที่สานต่องานพิพิธภัณฑ์จนเสร็จสมบูรณ์ลงในปี พ.ศ.2539 และต่อมาในปี พ.ศ.2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑ์จันเสนอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังได้ทอดพระเนตรการจัดแสดงข้าวของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์โดยทั่วถึงอีกด้วย
ผู้คนให้ความสนใจชมโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ
ดังนั้นหากใครได้มาเยือนที่วัดจันเสน จึงต้องไม่พลาดที่จะได้มากราบพระมหาธาตุในองค์เจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบทวารวดี กราบหลวงพ่อนาค พระพุทธรูปปางนาคปรกอันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่นำมาจากเมืองลพบุรี และต้องไม่พลาดชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสนที่ตั้งอยู่ด้านล่างองค์เจดีย์ด้วย

เมื่อได้เข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน ก็อย่าลืมกราบสักการะรูปหล่อของหลวงพ่อโอดผู้ซึ่งเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างองค์เจดีย์และพิพิธภัณฑ์ขึ้น จากนั้นจึงเดินชมสิ่งต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ที่ได้นำเสนอเรื่องราวของเมืองโบราณจันเสนอย่างครบถ้วน โดยเริ่มเรื่องเกี่ยวกับ “การศึกษาทางโบราณคดีบริเวณจันเสน” ที่พูดถึงการค้นพบเมืองโบราณจันเสนจากภาพถ่ายทางอากาศ และนำไปสู่การขุดค้นในเวลาต่อมา ซึ่งไม่ใช่เเค่เมืองโบราณจันเสนเท่านั้นที่ถูกค้นพบ เพราะห่างออกไปประมาณ 2 ก.ม. ก็ยังมีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานเช่นไร จากนั้นก็พูดถึง “พัฒนาการของชุมชนในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก” ชุมชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นระยะแรกในยุคสำริด โดยได้พบโบราณวัตถุ เช่น เครื่องปั้นดินเผา แม่พิมพ์ขวานสำริด รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์ผู้หญิงในยุคโลหะซึ่งขุดค้นพบที่บ้านใหม่ชัยมงคล
ยุวมัคคุเทศก์กำลังอธิบายถึงข้าวของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจฟัง
“พัฒนาการบ้าน-เมืองในยุคเหล็ก” แสดงให้เห็นถึงเครื่องมือเหล็กในหลุมฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เช่นใบหอก ขวาน หัวธนู จากนั้นจึงเป็นหัวข้อ “จันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มน้ำลพบุรี ป่าสัก” โดยอธิบายว่าบริเวณนี้เป็นเมืองโบราณชื่อว่าโคกจันเสน มีขนาดใหญ่ประมาณ 300 ไร่ โดยการขุดค้นนั้นไม่พบโบราณสถานใดๆ พบเพียงซากอิฐดินเผา และจากการศึกษาก็พบว่าเมืองนี้เป็นเมืองในสมัยทวารวดี และรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12

“จันเสนในสมัยฟูนัน-สุวรรณภูมิ” ที่กล่าวว่าเมืองจันเสนเป็นเมืองที่ร่วมสมัยเดียวกับอาณาจักรฟูนัน และเมืองอู่ทอง อีกทั้งจันเสนยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย เป็นชุมชนที่มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบ อีกทั้งยังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ และศาสนสถานต่างๆ ด้วย “จันเสนในสมัยทวารวดี” ที่มีการขุดพบศิลปวัตถุต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เช่น พระพิมพ์ดินเผา ฐานพระพุทธรูป เป็นต้น
หลวงพ่อนาคน้อย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจันเสนต่างเคารพ ประดิษฐานอยู่ด้านบนพระมหาเจดีย์
“วิถีชีวิตชาวจันเสนสมัยทวารวดี” แสดงให้เห็นถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการทำมาหากิน เช่น ภาชนะดินเผา แท่นและที่บดทำจากหิน และเครื่องประดับต่างๆ โดยเฉพาะแวปั่นด้ายที่ทำจากดินเผาจะพบเยอะเป็นพิเศษ แสดงให้เห็นว่ามีการทอผ้าเป็นจำนวนมาก และหลังจากที่ทางเดินน้ำเปลี่ยนทิศไป ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุมชนจันเสนร้างผู้คนไปเป็นเวลานาน จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีรถไฟวิ่งผ่านเมืองจันเสน ทำให้เมืองนี้เป็นชุมชนริมทางรถไฟ และกลับมาเป็นชุมชนเหมือนในอดีตอีกครั้ง

ในการชมพิพิธภัณฑ์นั้น นักท่องเที่ยวไม่เพียงแต่จะได้ชมข้าวของโบราณวัตถุต่างๆ ด้วยตนเอง แต่ยังจะได้รับรู้เรื่องราวของจันเสนจากยุวมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวัดจันเสน และโรงเรียนจันเสนเอ็งสุวรรณอนุสรณ์ ทั้งในระดับประถมและมัธยมซึ่งได้รับการอบรมเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์โบราณคดีของท้องถิ่นและความเป็นมาของชุมชน และมาบรรยายนำชมแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนให้ได้รับรู้เรื่องราวของเมืองโบราณจันเสนเป็นความรู้กลับบ้านกันไปด้วย
ข้าวของต่างๆ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสนนี้ไม่ใช่แค่ข้าวของด้านในเพียงเท่านั้น แต่ที่มาของพิพิธภัณฑ์ซึ่งถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลำดับต้นๆ ของไทยที่มีการร่วมมือกันของวัด ชุมชนและโรงเรียนในการดูแลจัดการ ตั้งแต่เริ่มแรกที่สร้างพระมหาธาตุเจดีย์และพิพิธภัณฑ์นั้น ก็ไม่ต้องอาศัยเงินทุนงบประมาณของภาครัฐเลย เพราะคนในชุมชนและประชาชนทั่วไปได้มีศรัทธาบริจาคสบทบทุน อีกทั้งยังมีนักเรียนในชุมชนรวมกลุ่มกันเป็นยุวมัคคุเทศก์ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนของตนเอง พิพิธภัณฑ์จึงยังอยู่ต่อเนื่องมาจนถึง 10 ปีโดยที่มีผู้คนนักท่องเที่ยวเข้ามาดูอย่างสม่ำเสมอ ไม่ซบเซาไปอย่างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอื่นๆ
มัคคุเทศก์ตัวเล็กๆ กำลังเตรียมพร้อมนำนักท่องเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์
สาเหตุหนึ่งนั้น รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาในหัวข้อ “การเรียนรู้และประสบการณ์ 1 ทศวรรษ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน” ซึ่งจัดโดยวัดจันเสน และมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวว่า ความสำเร็จของพิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นมาจากความรู้ที่มาจากข้างใน คือคนในชุมชนที่ร่วมมือกันสร้าง ต่างจากที่อื่นๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนที่มาทำพิพิธภัณฑ์นั้นส่วนใหญ่เป็นคนนอกมาคิดให้ แต่ไม่มีสำนึกร่วม ไม่ใช่คนในชุมชน แต่ที่จันเสนนี้เป็นคนในที่รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ทำให้ประสบความสำเร็จอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบัน
*****************************************
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน ตั้งอยู่ที่วัดจันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน สำหรับยุวมัคคุเทศก์จะมีให้บริการในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หากเข้าชมเป็นหมู่คณะ โปรดติดต่อล่วงหน้าได้ที่โทร.0-5633-9115 ถึง 6
กำลังโหลดความคิดเห็น