xs
xsm
sm
md
lg

"โลกร้อน" อาจทำบางจังหวัดทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยจุฬาฯ ศึกษาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย คาดอนาคตพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจะขยายวงกว้างขึ้น อาจทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดในบางจังหวัด ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคตะวันออกเข้าข่ายน่าจับตา ชี้หน้าร้อนจะมาเร็วขึ้นและอยู่นานกว่าเก่า ส่งผลให้ฤดูหนาวหดสั้นลง ขณะที่ฤดูฝนยังยาวนานเท่าเดิม แต่ปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูงขึ้น

ฤดูร้อนเริ่มคืบคลานมาถึง หลายคนเริ่มสัมผัสได้ถึงอากาศที่ร้อนขึ้นจนอดคิดไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ และในอนาคตประเทศไทยจะมีสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างไร?

นายศุภกร ชินวรรโณ นักวิจัยศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการการจำลองสภาพภูมิอากาศอนาคตสำหรับประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียงเปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มี.ค.51 ว่าเขาได้จำลองสภาพภูมิอากาศรายวันของประเทศไทยและประเทศข้างเคียงในช่วงปี 2553-2642 ขึ้น โดยแบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็นตารางขนาด 25 คูณ 25 กม.ต่อหนึ่งหน่วยการคำนวณ

ทั้งนี้ ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ประเทศไทยในอนาคตจะมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้อิทธิพลของภาวะโลกร้อนทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีอุณหภูมิสูงสุดในรอบปีสูงขึ้นประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส

แต่พื้นที่ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก อาจมีอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของพื้นที่ร้อนที่เพิ่มมากขึ้น บางจังหวัดจึงอาจมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นสถิติใหม่ได้

นอกจากนั้น อิทธิพลของภาวะโลกร้อนยังจะทำให้ประเทศไทยมีฤดูร้อนมาเร็วขึ้นและอยู่นานกว่าในอดีตซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดผลกระทบมากที่สุด เช่น ส่งผลต่อปริมาณน้ำการเกษตร การออกผลของผลไม้ และวงจรชีวิตของแมลงในธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังทำให้ฤดูหนาวหดสั้นลง ส่วนฤดูฝนจะมีระยะเวลาเท่าเดิมแต่ปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่ของประเทศข้างเคียงอย่างพื้นที่ปลูกข้าวรอบปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี นายศุภกร กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวบางส่วนยังต้องปรับแก้ให้สอดคล้องกับผลการตรวจวัดมากขึ้นต่อไป โดยจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคม 51 นี้ ทำให้เกิดความเข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนได้ดีขึ้น โดยผลที่ได้ยังสามารถนำไปศึกษาต่อในด้านผลกระทบ ความเสี่ยง และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตด้วย

สำหรับโครงการวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยเป็น 1 ใน 11 โครงการวิจัยด้านองค์ความรู้ ผลกระทบและทางเลือกในการปรับตัวในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการทำงานวิจัยแบบเป็นเครือข่ายมากขึ้นต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น