xs
xsm
sm
md
lg

JGSEE พัฒนาแบบจำลอง "อุณหภูมิ-น้ำฝน" ในไทย เริ่มใช้จริงปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย JGSEE วิจัยปรับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงในประเทศไทย ใช้คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ-น้ำฝนในช่วง 10 ปี ระบุเริ่มคาดการณ์ได้กลางปีหน้า

รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร นักวิจัยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (JGSEE) ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาค RegCM3 สำหรับประเทศไทย เปิดเเผยว่า กำลังศึกษาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาค "เร็กซีเอ็มรุ่นที่ 3" (RegCM3) ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ทันสมัย แพร่หลายในวงนักวิชาการทั่วโลกและไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้งาน

ทั้งนี้เพื่อย่อลดขนาดให้เหมาะกับการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซึ่งจะมีความแม่นยำมากขึ้น เบื้องต้นจะเน้นไปยังการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนในอีก 10 ปีข้างหน้า

รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าวว่า ในการทดสอบระบบเร็กซีเอ็มรุ่นที่ 3 ให้มีความแม่นยำเหมาะสมกับการคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงจริง ทีมวิจัยได้ป้อนข้อมูลจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Model : GCM) ที่มีคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ให้การสนับสนุนภายใต้สถานการณ์จำลอง "เอ 1 บี" (A1B) ซึ่งคาดการณ์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงไว้ที่ระดับปานกลางจำนวน 3 ปีระหว่างปี 2540-2543 ให้แก่เร็กซีเอ็มรุ่นที่ 3 เพื่อนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลมาตรฐานของหน่วยวิจัยภูมิอากาศ (Climatic Research Unit : CRU) ประเทศอังกฤษ รวมทั้งเปรียบเทียบกับข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศระดับมาตรฐานของกรมอุตุนิยมวิทยาอีกกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ โดยเร็วๆ นี้การทดสอบระบบจะแล้วเสร็จ และเริ่มนำแบบจำลองที่ได้ไปคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนได้

ดร.เกษมสันต์ มโนมัยพิบูลย์ นักวิจัยร่วมสถาบันและเป็นนักวิจัยร่วมโครงการเผยว่า ในส่วนของการคาดการณ์ ทีมวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้จากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลกย้อนหลัง 30 ปีระหว่างปี 2513-2543 และข้อมูลจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลกที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า 40 ปีระหว่างปี 2553-2593 ไปคำนวณกับเร็กซีเอ็มรุ่นที่ 3 ที่ผ่านการประเมินระบบแล้วเพื่อหาค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยในอนาคตต่อไป

"เดือนกรกฎาคมปีหน้า งานวิจัยก็จะแล้วเสร็จตามที่ระยะเวลาโครงการที่กำหนดไว้แต่แรก แต่เชื่อว่าจะมีการศึกษาต่อเนื่องด้วย โดยจะนำปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจัยด้านอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนมาคำนวณด้วยเพื่อให้แบบจำลองมีความแม่นยำมากที่สุด" รศ.ดร.สิรินทรเทพทิ้งท้าย

สำหรับ รศ.ดร.สิรินทรเทพ และ ดร.เกษมสันต์ ได้นำเสนอความก้าวหน้าในงานวิจัยดังกล่าวระหว่างการประชุมนำเสนอผลงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทยครั้งที่ 1 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.51 โดยเป็น 1 ใน 11 โครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบ และทางเลือกในการปรับตัว และเพื่อให้เกิดเครือข่ายการวิจัยในด้านดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งการนำเสนอผลงานครั้งนี้จัดเป็นครั้งแรกหลังนักวิจัยเริ่มต้นศึกษาไปแล้วประมาณ 6 เดือน.



กำลังโหลดความคิดเห็น