xs
xsm
sm
md
lg

แบบจำลองพยากรณ์อากาศ ความหวังรับมือเอลนีโญ-ลานีญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย JGSEE ชี้ไทยสามารถรับมือปรากฏการณ์ลานีญาได้ หากมีการพยากรณ์ล่วงหน้า ระบุแบบจำลองพยากรณ์ทำนายลานีญาได้ล่วงหน้า 1 ปี เผยที่ผ่านมาไทยมีการศึกษาทำแบบจำลองพยากรณ์บรรยากาศบ้างแล้ว แต่ไม่เพียงพอในการทำนายปรากฏการณ์เอนโซ (เอลนีโญ-ลานีญา) ควรมีการศึกษาแบบจำลองพยากรณ์เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรู้ทันและรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ปรากฏการณ์ฝนตกนอกฤดูที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณว่าปีนี้ประเทศไทยอาจต้องประสบกับปัญหาฝนตกต่อเนื่องยาวก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกรที่อาจได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร และประชาชนในจังหวัดต่างๆ อาจต้องประสบภัยน้ำท่วมบ้านเรือนเหมือนดังเช่นในปีก่อนๆ มีความเป็นไปได้ว่าปริมาณฝนจำนวนมากนี้ อาจเกิดจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งมีผลทำให้เกิดความชุ่มชื้น มีปริมาณฝนมาก และฝนตกยาวนานในฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปออสเตรเลีย ตรงข้ามกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะทำให้เกิดความแห้งแล้งในฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก

รศ.ดร.ปรุงจันทร์ วงศ์วิเศษ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา หรือที่เรียกรวมกันว่า ปรากฏการณ์เอนโซ เป็นปรากฏการณ์ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศครอบคลุมพื้นที่กว่า 75% ของโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งปรากฏการณ์นี้นับว่ามีความสำคัญกับประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญ หากปีใดแห้งแล้งผลผลิตทางการเกษตรอาจมีไม่มากเนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ หรือหากปีใดน้ำมากผิดปกติ น้ำท่วม พื้นที่ทางการเกษตรอาจเสียหาย และไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ดังนั้น หากสามารถทราบปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าได้ จะช่วยในการวางแผนและจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างเหมาะสม และช่วยในการตัดสินใจการทำการเกษตรและเลือกพันธุ์พืชที่จะทำการเพาะปลูก

“การพยากรณ์การเกิดปรากฏการณ์เอนโซ สามารถทำได้โดยใช้แบบจำลองสองแบบ ประกอบด้วย แบบจำลองพลวัต (dynamical model) ซึ่งจะอยู่ในรูปสมการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากกฎทางฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับกระแสคลื่นในมหาสมุทรกับกระแสลมในบรรยากาศ ทำการแก้สมการด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์แล้วเขียนเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ใช้คอมพิวเตอร์คำนวณ สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่า และแบบจำลองทางสถิติ (statistical model) แบบจำลองชนิดนี้จะเก็บข้อมูลสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นเวลา 30-50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรกับบรรยากาศที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อทำนายเหตุการณ์ที่คาดจะเกิดในอนาคต” รศ.ดร.ปรุงจันทร์ กล่าว

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ปริมาณฝนในช่วงปรากฏการณ์เอนโซที่เกิดขึ้นในอดีต ตั้งแต่ปี 2515-2544 โดย รศ.ดร.ปรุงจันทร์ วงศ์วิเศษ และ นางสาววัลลีย์ นวนมุสิก ด้วยการใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ทางด้านอุตุนิยมวิทยา Regional Atmospheric Modeling System (RAMS) ทำการคำนวณปริมาณน้ำฝน และเปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัดในช่วงปีดังกล่าว พบว่ามีผลจากการคำนวณด้วยแบบจำลองสอดคล้องกันกับการตรวจวัด กล่าวคือในปีพ.ศ.2520 2522 2535 และ 2536 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ มีผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกของประเทศไทย มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 10 และในปี พ.ศ.2518 2531 2537 2542 และ 2543 เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทุกภาคของประเทศมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 15 เมื่อพิจารณาปริมาณฝนรายเดือน พบว่า ช่วงที่ผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์ผลในอดีตที่ทำขึ้น เพื่อเป็นการทดสอบการใช้งานของแบบจำลอง หรืออาจนับเป็นก้าวแรกของการนำแบบจำลองคณิตศาสตร์ทางด้านอุตุนิยมวิทยา มาใช้ในการหาปริมาณฝน อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น ฯลฯ ยังไม่สามารถใช้ในการทำนายอนาคตได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาพัฒนาองค์ความรู้นี้ต่อไป

รศ.ดร.ปรุงจันทร์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดสำหรับการพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์อากาศ คือ ข้อมูลปัจจุบัน ที่จัดเก็บอย่างเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้เรายังไม่มีข้อมูลเหล่านั้นจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถศึกษาพัฒนาต่อไปได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีความรู้ด้านแบบจำลองพยากรณ์อากาศ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากInstitute of Atmospheric Physics, Chinese Academy of Sciences สาธารณรัฐประชาชนจีนหลายรูปแบบ แต่เรายังไม่สามารถนำแบบจำลองพยากรณ์เหล่านั้นมาใช้ได้จริงในประเทศไทย เนื่องจากพารามิเตอร์ หรือข้อมูลต่างๆ สำหรับใช้ในการประมวลผล เช่น ข้อมูลความเร็วลม ทิศทางลม ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิ ฯลฯ ต้องเป็นข้อมูลที่จำเพาะของแต่ละประเทศ เราจึงต้องการบุคลากรที่จะมาศึกษาองค์ความรู้และปรับค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ให้เข้ากับประเทศไทย จึงจะสามารถใช้ในการพยากรณ์ได้จริง

“การพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา และแบบจำลองพยากรณ์ชนิดอื่นๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เก็บข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา ในการพัฒนาการจัดเก็บข้อมูล และนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ความสนใจด้านบรรยากาศและอุตุนิยมวิทยา ในการศึกษาเพิ่มองค์ความรู้ด้านโมเดลพยากรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการตั้งรับกับภัยธรรมชาติต่างๆ ต่อไป” รศ.ดร.ปรุงจันทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น