ผู้จัดการรายวัน--- ผู้ส่งออกข้าวในเวียดนามบ่นอุบปีที่แล้วเสียค่าโง่ผู้ส่งออกจากไทยซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ โดยรีบด่วนขายข้าวแต้ต้นปี ขณะที่ผู้ส่งออกไทยใจเย็นกว่า รู้ตลาดดีกว่าและขายข้าวได้ราคาดีกว่าเวียดนาม
ผู้ค้าข้าวจากจังหวัดที่ราบปากแม่น้ำโขงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association) หรือ VietFood หน่วยงานกึ่งรัฐบาลที่กำกับดูแลการส่งออกข้าว ในขณะที่รัฐบาลประกาศลดยอดส่งออกปีนี้เหลือ 4.4 ล้านตัน ลดลง 1 แสนตันจากปี 2550
ในขณะเดียวกันราคาข้าวในตลาดโลกก็กำลังถีบตัวสูงขึ้นในช่วงต้นปีนี้
ผู้ส่งออกจำนวนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วหลายบริษัทได้เซ็นสัญญาอย่างรีบร้อนเพื่อจำหน่ายข้าวปริมาณ 300,000 ตันในช่วงต้นเดือน เม.ย. ในราคาตันละ 291 ดอลลาร์ ซึ่งในขณะนั้นทุกฝ่ายเชื่อว่าราคาได้พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว
ส่วนคู่แข่งจากประเทศไทยมองสถานการณ์ด้วยความสุขุมรอบคอบยิ่งกว่า พวกเขาอดทนรอคอยจนกระทั่งถึงเดือน ธ.ค. ก่อนจะเซ็นสัญญาจำหน่าย ขณะที่ราคาพุ่งขึ้นสูงถึง 355 ดอลลาร์ต่อตัน
"นั่นคือสิ่งที่เวียดนามจะต้องเรียนรู้จากไทย ไม่ใช่แค่มีข้าวและรีบส่งออกขายอย่างเดียว" หนังสือพิมพ์เทยบ๋าวกิงเตไซ่ง่อน (Thoi Bao Kinh Te Saigon) หรือ “เศรษฐกิจไซ่ง่อน” อ้างคำกล่าวของผู้ส่งออกจากที่ราบปากแม่น้ำโขงรายหนึ่งซึ่งย้ำนักย้ำหนาว่า ไม่ควรจะรีบร้อนเซ็นสัญญาขารยข้าวในขณะนี้
ผลจากการเสียรู้เมื่อปีที่แล้วก็คือ ไทยจำหน่ายข้าวปริมาณ 9.5 ล้านตัน ทำรายได้รวม 3,700 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เวียดนามส่งออกประมาณครึ่งหนึ่งของไทย แต่ทำเงินได้ไม่ถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ดี
ในระยะใกล้ๆ นี้ทุกองค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกข้าวต่างเห็นพ้องกันว่า ราคาปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้วเนื่องจากจะมีข้าวออกสู่ตลาดโลกน้อยลง ประเทศผู้ส่งออกข้าวผลิตได้น้อยลง
ศาสตราจารย์หวอต่งซวน (Vo Tong Xuan) อดีตประธานสภามหาวิทยาลัยอานยาง (An Giang University) จ.อานยางซึ่งเป็นเชี่ยวชาญเรื่องข้าวคนหนึ่งกล่าวว่า ปีนี้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งขึ้นถึง 3 เท่าตัวเนื่องจากความต้องการมีสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องหันมาหาข้าวและทำให้ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้นไปด้วย
ในอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิต-ส่งออกข้าวรายใหญ่รายหนึ่งกำลังขาดแคลนข้าวสาลี ได้ประกาศลดยอดส่งออกข้าวลงแล้ว ขณะเดียวกันก็นำเข้าเมล็ดธัญพืชอื่นๆ มากขึ้น
รัฐบาลอินเดียยังออกมาตรการที่จำเป็นหลายอย่างเพื่อทำให้การส่งข้าวลดลง เป็นต้นว่าประกาศตั้งราคาจำหน่ายขั้นต่ำ 500 ดอลลาร์ต่อตันเป็นต้น
แต่ในขณะเดียวกันอินโดนีเซีย ประเทศอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ประกาศลดภาษีนำเข้าข้าวลง 18% เพื่อให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ให้ปริมาณข้าวในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น อินโดนีเซียเป็นลูกค้ารายใหญ่ของข้าวเวียดนามอีกรายหนึ่งในช่วงปีใกล้ๆ นี้
สมาคมอาหารเวียดนามกล่าวว่า อุปสงค์สูงขึ้นอุปทานลดลง ในช่วงต้นปีนี้ราคาข้าวโดยเฉลี่ยอาจจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 350 ดอลลาร์ต่อตัน
แต่สำหรับเวียดนาม ประเทศที่มีผู้บริโภคข้าวราว 85 ล้านคน ช่วงต้นปีนี้ราคาข้าวในประเทศก็พุ่งสูงขึ้นอีกด้วย
ต้นสัปดาห์ที่สองของปี 2551 นี้ ราคาข้าวในจังหวัดที่ราบปากแม่น้ำโขงได้เพิ่มขึ้นจาก 3,550 ด่งเป็น 3,650 ด่งต่อกิโลกรัม (อัตราแลกเปลี่ยน 560 ด่ง/บาท)ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาเปลี่ยนแปลง 100 ด่งต่อ กก.ในช่วงเวลาไม่กี่วัน ทั้งนี้เป็นไปตามราคาส่งออกข้าว
นายเลวันหาย (Le Van Hai) ประธานบริษัทแม่โขงค้าข้าว (Mekong Co) ในนครเกิ่นเธอ (Can Tho) ได้แนะนำให้สมาชิกผู้ค้าข้าวในเครือข่ายอดทนรอ หรือ เซ็นสัญญาขายในปริมาณจำกัด และ ส่งมอบในระยะสั้นๆ
"ราคาข้าวน่าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก การเซ็นสัญญาขายในระยะเวลาสั้นๆ น่าจะดีกว่า" นายหายกล่าว
นายหายเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เรียนรู้จากคู่แข่งในประเทศไทย เพราะเมื่อปีที่แล้วสมาชิกในเครือข่ายจำนวนหนึ่งรีบร้อนเซ็นสัญญาขายข้าวตอนที่ราคาได้พุ่งขึ้นเป็น 295 ดอลลาร์ต่อตัน แต่พอหลังจากนั้นไม่กี่วันราคาข้าวในตลาดโลกก็ทะยานขึ้นไปอีก ทำให้ทุกคนสูญเสียโอกาส
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวมากอันดับ 1 ของโลก เวียดนามติดตามมาเป็นอันดับ 2 แบบห่างๆ และ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้ส่งออกใหญ่อันดับ 3
ประธานบริษัทนี้กล่าวว่า ผู้ส่งออกทุกคนควรจะอดทนรอจังหวะไปจนถึงช่วงฤดูร้อน จึงพิจารณาราคาส่งออกอีกครั้งด้วยความรอบคอบ
อย่างไรก็ตามเมื่อตอนสิ้นปี 2550 ผู้ค้าข้าวเวียดนามจำนวนหนึ่งได้เซ็นสัญญาจำหน่ายข้าวขาวเมล็ดยาวคุณภาพดีให้ฟิลิปปินส์รวม 410,000 ตัน ในราคาระหว่าง 408.90-410.99 ดอลลาร์ต่อตัน โดยทำสัญญาส่งมอบเวลา 3 เดือน
ผู้ค้ารายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะให้ออกนามกล่าวกับ TBKSG ว่า การเซ็นสัญญาขายครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ "รีบร้อนจนเกินไป" และ เสียโอกาสเมื่อพิจารณาเทียบกับราคาในปัจจุบันที่ราคาข้าวขาวและข้าวชนิดอื่นๆ กำลังถีบตัวขึ้นไปอีก ขณะที่ต้นทุนในการส่งออกก็สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลช่วงสัปดาห์ที่แล้ว
"ผู้ส่งออกจากไทยก็ไปร่วมด้วย.." ผู้ค้ารายเดียวกันกล่าวถึงการประกวดราคาจำหน่ายข้าวให้แก่องค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Philippines National Food Authority) ช่วงก่อนสิ้นปี
"ไม่สังเกตหรือ? เพราะเหตุใดพวกเขา (ผู้ส่งออกไทย) จึงดูไม่รีบร้อน ไม่พยายามอะไรมากมายเพื่อเอาชนะการประกวดราคาส่งออกข้าวลอตใหญ่คราวนั้นให้ได้" ผู้ค้าคนเดียวกันตั้งคำถาม.