ผู้จัดการรายวัน -- ราคาข้าวในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงตกต่ำอย่างวิกฤต อันเนื่องมาจากการส่งออกที่หยุดชะงักลง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง และฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างกล่าวหากันและกันว่าเป็นต้นเหตุ
สถานการณ์ราคาได้เปลี่ยนไปมากเทียบกับช่วงต้นปีที่เวียดนามหยุดส่งออก ขณะที่ราคาข้าวในตาดโลกพุ่งขึ้นสูง 800-1,000 ดอลลาร์ต่อตัน
วันนี้ราคาข้าวเปลือกในเขตอู่ข้าวใหญ่ที่สุดของประเทศตกวูบลงถึง 25% ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นรายงานของสื่อทางการ ที่อ้างตัวเลขของสมาคมอาหารเวียดนาม หรือ VietFood (Vietnam Food Association)
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนไทมส์ ราคาข้าวเปลือกในนครเกิ่นเธอ (Can Tho) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ข้าวเปลือกเมล็ดแห้งซื้อขายกันในราคา 3,500-3,600 ด่ง ต่อกิโลกรัม (อัตราแลกเปลี่ยน 17,000 ต่อดอลลาร์)
ราคาข้าวสารเมล็ดยาวใน จ.ซ๊อกจาง (Soc Trang) ที่ปลูกมากที่สุดขึ้นลงอยู่ระหว่าง 5,300 ด่งต่อกิโลกรัม หรือเพียงประมาณ 320 ดอลลาร์ต่อตัน สื่อของทางการกล่าว
ผู้ค้าและชาวนาจำนวนมาก ที่ไม่ต้องการให้ระบุชื่อต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์สมาคมอาหารฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนองนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องข้าว โดยกล่าวว่า กลไกกำหนดราคาที่จัดตั้งขึ้นนั้นไม่สอดคล้องกับตลาดโลก และเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออก
ในปัจจุบัน Viet Food ได้กำหนดราคาส่งออกพื้นฐานที่ 600 ดอลลาร์ต่อตัน สำหรับข้าวผสมข้าวเมล็ดหัก 5% ทำให้ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตาม ในขณะที่ราคาแท้จริงน่าจะอยู่ประมาณ 520 ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น
ในช่วง 12 วันแรกของเดือน ก.ย.นี้ เวียดนามได้ส่งข้าวให้ลูกค้าในต่างประเทศเพียง 80,100 ตัน เทียบกับที่ส่งออกทั้งหมด 510,000 ตัน ในเดือน ส.ค.ปัจจุบันราคาข้าวในประเทศที่กำหนดไว้สูงทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ และไม่มีการออกซื้อข้าวจากชาวนาเนื่องจากไม่มีที่เก็บเพียงพอ
กลไกกำหนดราคาที่ใช้ในปัจจุบันกำลังสร้างความทุกข์ยากให้แก่ชาวนา ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะได้เงินกู้จากธนาคารเพื่อนำไปใช้หนี้เป็นค้าปุ๋ย สารเคมีฆ่าแมลง และค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในปัจจุบัน ไซ่ง่อนไทมส์รายงานอ้างคำกล่าวของผู้ส่งออกรายหนึ่ง
“สมาคมอาหารฯ ได้แต่อธิบายอย่างเลื่อนลอย ว่า ราคาส่งออกควรกำหนดเอาไว้สูงเพื่อพิทักษ์การผลิตในท้องถิ่นและป้องกันการจำหน่ายข้าวราคาถูกๆ” ผู้ส่งออกรายเดียวกันกล่าวอย่างโกรธแค้น
สถานการณ์ข้าวในเวียดนาม ดูยิ่งสิ้นหวังลงทุกทีเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวใหญ่ที่สุดของปีใกล้เข้ามา หลายฝ่ายต่างเป็นกังวลว่าชาวนาจะมีหน้าสินล้นพ้นตัวในปีนี้ ถ้าหากยังไม่สามารถขายข้าวได้ในเดือนนี้
ผู้ค้าบางราย กล่าวว่า สมาคมอาหารฯ กำหนดราคาข้าวส่งออกตามอำเภอใจ แม้กระทั่งหน่วยงานส่วนกลาง คือ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท หรือกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ก็ไม่ได้รับทราบ
นายซเวี๊ยปกิงเติ่น (Diep Kinh Tan) รัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงเกษตรฯ ให้สัมภาษณ์สื่อในเวียดนาม ว่า กระทรวงไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกกำหนดราคาที่สมาคมอาหารฯ จัดตั้งขึ้นมา และเพิ่งจะเคยได้ยินเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า VietFood ตั้งราคาส่งออกสูงกว่าราคาในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม สมาคมอาหารเวียดนามยังคงปกป้องนโยบาย กำหนดราคาโดยระบุว่า กลไกสามารถยืดหยุ่นได้ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้ค้ากล่าวหา แต่ราคาพื้นฐานดังกล่าวกำหนดขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ส่งออกและเกษตรกร อาจจะมีหลายคนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่สมเหตุสมผล
เมื่อเดือนที่แล้วทางการเวียดนามได้เรียกร้องให้ผู้ค้าเร่งออกซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่ผู้ปลูกจะได้กำไร 40% นอกจากนั้น ยังร้องขอไปยังธนาคารแห่งต่างๆ ช่วยผัดผ่อนหนี้ของชาวนาเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมกับปล่อยกู้เพิ่มเติมให้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคาร ต้องพึ่งพารายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกเพื่อนำเงินไปใช้หนี้และค่าใช้จ่ายต่างๆ เนื่องจากปีนี้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นในอัตราสูง ต้นทุนการทำนาก็สูงขึ้นเป็นเงา
กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทแถลงในกลางเดือนที่แล้วว่า ผลผลิตข้าวในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงปีนี้จะได้ข้าวเปลือกทั้งสิ้น 20.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจาก 18.68 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว
ตัวเลขใหม่จากที่ราบปากแม่น้ำโขงจะทำให้ผลผลิตข้าวทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 37.6 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้สามารถส่งออกได้ถึง 4.6 ล้านตัน มากกว่าเป้าหมายเดิม 100,000 ตัน
รัฐมนตรีเกษตรฯ นายกาวดึกฟ๊าต (Cao Duc Phat) ได้เร่งเร้าให้บรรดาผู้ส่งออกรีบเซ็นสัญญาขายข้าวกับตลาดต่างประเทศเพื่อให้สามารถระบายข้าวได้ทัน ก่อนที่จะเกิดสต๊อคค้างปริมาณมหาศาลซึ่งจะทำให้ข้าวราคาตก
เวียดนามได้กลับมาส่งออกข้าวเป็นครั้งแรกในเดือน ส.ค.หลังจากหยุดส่งออกในเดือน เม.ย. เมื่อราคาในประเทศพุ่งขึ้นสูง เกิดสภาวะข้าวของแพงทำให้ประชาชนทั่วไปแตกตื่นเกรงว่าข้าวจะขาดแคลนและกว้านซื้อไปกักตุน
รัฐบาลเวียดนามสั่งให้ VietFood หยุดการส่งออกจนถึงเดือน มิ.ย. เพื่อรอดูตัวเลขผลผลิตข้าวทั้งหมดให้แน่นอน เนื่องจากเกรงว่าจะมีไม่พอสำหรับการบริโภคของประชากร 85 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม เวียดนามกลับมาส่งออกอีกครั้งหนึ่งในขณะที่ราคาในลาดโลกเริ่มลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศขยายยอดส่งออกเป็น 10 ล้านตันในปีนี้ จากเดิมเพียง 9.5 ล้านตัน นสพ.แทงเนียน กล่าว
ในเดือน ส.ค.นี้ ข้าวผสมข้าวหัก 5% ซึ่งเป็นข้าวเกรดดีจากเวียดนามยังจำหน่ายได้ราคา 550-600 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงจาก 650-670 ดอลลาร์ในเดือน ก.ค.และ 840-850 ดอลลาร์ต่อตันในเดือน มิ.ย. ขณะที่เวียดนามห้ามการส่งออก เทียบกับราคาข้าวไทยที่จำหน่ายได้ 1,100-1,200 ดอลลาร์ต่อตัน ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงสุด