ผู้จัดการรายวัน-- ทางการเวียดนามกล่าวว่าปี 2550 เป็นปีแรกที่สามารถจำหน่ายข้าวเหนียวได้ในราคาที่สูงกว่าข้าวชนิดเดียวกันจากประเทศไทย แต่ปัญหาสำคัญคือเวียดนามไม่มีข้าวเพียงพอส่งออกในขณะที่ความต้องการในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยุดในปลายปีจนถึงปี 2551 นี้
ทางการเวียดนามระบุดังกล่าว ขณะที่เกษตรกรในอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศคือที่ราบกู๋ลอง (Cuu Long) หรือที่ราบปากแม่น้ำโขง กับที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง (Song Hong) กำลังจะเริ่มฤดูการเก็บเกี่ยวใหม่เดือนหน้า
กระทรวงเกษตรเวียดนามเชื่อว่า ความต้องการข้าวในตลาดโลกจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และเป็นโอกาสอันดีที่จะขยายการผลิตเพื่อให้มีข้าวส่งออกมากขึ้น
ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศไทย แต่ก็เป็นอันดับ 2 ที่ยอดส่งออกยังห่างไกลกับอันดับที่ 1 เกือบจะสองเท่าตัว
ตัวเลขยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามคาดว่าปี 2550 ข้าวส่งออกทั้งหมดจะมีประมาณ 4.53 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 1,500 ล้านดอลลาร์ ปริมาณส่งออกลดลงจากเมื่อปีก่อน 3% แต่มูลค่ากลับเพิ่มขึ้นราว 15% ตามราคาตลาดโลกที่สูงขึ้น
นายเจื่องแท็งฟ่ง (Truong Thanh Phong) ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (VietFood) กล่าวว่าราคาเฉลี่ยส่งออกปีที่แล้วอยู่ที่ 295 ดอลลาร์ต่อตัน สูงขึ้น 41 ดอลลาร์ต่อตันจากในปี 2549 ซึ่งนับเป็นราคาที่ดีมาก
นายฟ่งเปิดเผยด้วยว่าปี 2550 เวียดนามเซ็นสัญญาจำหน่ายข้าวเหนียวจำนวน 230,000 ตัน ในราคา 400 ดอลลาร์ต่อตัน อันเป็นราคาที่สูงกว่าข้าวเหนียวของไทย
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่เวียดนามผู้นี้มิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตลาดที่ซื้อข้าวเหนียวจากเวียดนามเมื่อปีที่แล้ว และไม่ได้เปิดเผยตัวเลขราคาที่ผู้ค้าของไทยส่งจำหน่าย
โชคร้ายก็คือ เมื่อปีที่แล้วการผลิตไม่เป็นไปตามเป้า รัฐบาลสั่งจำกัดปริมาณส่งออกเพื่อตุนข้าวไว้บริโภคในประเทศ ทำให้เวียดนามพลาดโอกาสที่จะกอบโกยรายได้งามจากการส่งออกข้าวอันเป็นผลดีทั้งต่อชาวนาและต่อผู้ส่งออก
ราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้นเมื่อปีที่แล้วได้ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้นด้วย เกษตรกรชาวนาเวียดนามมีรายได้ดีขึ้น แต่ผลร้ายตกอยู่ที่ประชาชนทั่วไปที่ต้องซื้อข้าวบริโภคแพงขึ้นขณะเดียวกันราคาข้าวและอาหารได้เป็นตัวกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อสูงในเดือน ธ.ค.ขึ้นอีกด้วย
ทางการเวียดนามประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2550 กว่า 8.4% แต่อัตราเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้นสูงกว่า 12.4%
เมื่อต้นปี 2550 ผู้ส่งออกในเวียดนามคาดว่าราคาข้าวเปลือกในประเทศน่าจะอยู่ที่ 2,800 ด่งต่อกิโลกรัม แต่ราคาแท้จริงสูงขึ้นเป็น 3,200 ด่งต่อกก. ส่วนชาวนาในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงจำหน่ายข้าวในราคา 3,600 ด่งต่อกก. (อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์ที่แล้ว 561 ด่ง/บาท) ขณะที่ต้นทุนการผลิตของชาวนาเพียง 1,600 ด่งต่อกก.
ตามข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม อุปสรรคสำคัญในการส่งออกข้าวและสินค้าการเกษตรในปีนี้ยังรวมทั้ง การขาดแคลนเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และค่าขนส่งที่สูงขึ้น 60%-70%
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเชื่อว่า ราคาข้าวส่งออกปีนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูง ราคาข้าวผสมข้าวหัก 25% อาจจะสูงขึ้นเป็น 320 ดอลลาร์ต่อตัน จากราคาคาดการณ์ในเดือน พ.ย. ที่ 320 ดอลลาร์ต่อตัน และ อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 340 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับข้าว 5% จากราคาคาดการณ์ 320 ดอลลาร์ต่อตัน
กระทรวงอุตสาหกรรมฯ คาดว่าปี 2551 นี้เวียดนามจะมีข้าวส่งออกประมาณ 4.5 ล้านตัน หรือเท่าๆ กับเมื่อปีที่แล้ว แต่ลดลงอย่างมากมายจากตัวเลขส่งออก 5.1 ล้านตันเมื่อปี 2549
ตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรฯ เมื่อเดือน ก.ย. ที่เชื่อว่าปริมาณข้าวส่งออกปี 2551 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน เนื่องจากเวียดนามผลิตข้าวเปลือกได้สูงกว่าการคาดหมายราว 1.4% รวมเป็น 36.5 ล้านตันเมื่อสิ้นปี
ลูกค้าข้าวเวียดนามยังรวมทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งล้วนเคยเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่จากไทย นอกจากนั้นยังมีคิวบา ประเทศในแอฟริกา รัสเซีย อิรักและอิหร่าน หรือแม้กระทั่งจีน
ราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยได้เพิ่มสูงขึ้น 16% ในปี 2550 สมาคมอาหารเวียดนามคาดว่า ราคาจะสูงขึ้นอีกราว 6% ในไตรมาสแรกของปีนี้
คาดว่าประชากรเวียดนามในปัจจุบันมีจำนวนใกล้ๆ 85 ล้านคน ขณะที่อัตราเพิ่มสูงเฉียด 1 ล้านคนต่อปี ทำให้รัฐบาลต้องสั่งห้ามส่งออกข้าวตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เพื่อสต๊อคเอาไว้บริโภคภายในประเทศ
เวียดนามได้พยายามอย่างหนักในช่วงหลายปีมานี้ในการเพิ่มผลิตข้าว มีการวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ๆ และขยายพื้นที่นาออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อให้มีหลักประกันด้านธัญญาหารสำหรับประชาชน และให้เหลือส่งออก
ตัวเลขที่มีการเปิดเผยในการประชุมสัมมนานัดหนึ่งที่จัดขึ้นในกรุงฮานอยปลายปีที่แล้ว พบว่าตลอด 20 ปีแห่งการเปิดประเทศ ภายใต้นโยบายเปลี่ยนใหม่หรือโด่ยเหมย (Doi Moi) เวียดนามได้สูญเสียเนื้อที่นาไปแล้ว 300,000 เฮกตาร์ (1,785,000 ไร่) ให้แก่การพัฒนาอุตสาหกรรมและไปสู่ความทันสมัย
เวียดนามได้ประกาศเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็น 9% ในปี 2551 นี้เพื่อยกระดับรายได้ต่อหัวประชากรต่อปีขึ้นเป็นประมาณ 1,000 ดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ประเทศนี้พ้นจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ ตามคำจำกัดความของธนาคารโลก
ถึงแม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะขยายตัวสูงมากในช่วงปีใกล้ๆ นี้ แต่การส่งออกสินค้าการเกษตรรายการต่างๆ ก็ยังทำรายได้ให้แก่ประเทศในระดับรองๆ ลงมา และ การส่งออกสินค้าหลายตัวยังมีความคืบหน้าอีกด้วย
ปี 2550 เวียดนามส่งออกกาแฟมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ เท่าๆ กับหรือสูงกว่ามูลค่าส่งออกข้าวเล็กน้อย เนื่องจากราคากาแฟในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น
เวียดนามยังเป็นประเทศส่งออกกาแฟใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล แต่เป็นผู้ผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสต้ารายใหญ่ที่สุด.