xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ค้าเวียดนามแข็งข้อฝืนคำสั่งฮือส่งออกข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#00cc00> ภาพแฟ้มเอเอฟพีวันที่ 29 พ.ค.2550 ชาวนาในเขต อ.ห่าไต (Ha Tay) ซึ่งในปัจจุบันถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของกรุงฮานอย กำลังขนข้าวบนเกวียนเทียมวัวนำกลับเข้าหมู่บ้าน นี่เป็นช่วงเดือนแห่งการเก็บเกี่ยวที่มีชีวิตชีวาของชาวนาในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงทางภาคเหนือ ควบคู่กับการเกี่ยวข้าวฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงภาคใต้ ปีนี้เวียดนามผลิตข้าวได้มากเป็นประวัติการณ์ แต่ทางการยังคงห้ามส่งออกไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน -- ผู้ส่งออกข่าวในจังหวัดที่ราบปากแม่น้ำโขงเวียดนาม ได้เซ็นสัญญาจำหน่ายข้าวรอบใหม่กับลูกค้าในต่างประเทศ หลังจากทางการอนุมัติให้ส่งออกได้ ซึ่งคาดว่า เดือน เม.ย.เพียงเดือนเดียวจะมีการส่งมอบข้าวราว 2 แสนตัน

สมาคมอาหารเวียดนาม หรือ VietFood (Vietnam Food Association) ได้คลายแรงกดดันอนุญาตให้ผู้ค้าในจังหวัดทางภาคใต้สามารถส่งออกข้าวได้อีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์กลางเดือน เม.ย.ในขณะที่ยังไม่ได้ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามที่ใช้มาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.โดยให้เหตุผลว่าในขณะนั้น สมาคมอาหารฯ มีกำหนดจะพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เซ็นสัญญาซื้อขายครั้งใหม่ได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป และยังไม่มีคำอธิบายว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงอนุญาตให้ผู้ค้าส่งออกข้าวได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว

ตามรายงานของสื่อทางการ ผู้ค้าใน จ.เกียนซยาง (Kien Giang) ส่งออกทันที 10,000 ตัน ในสัปดาห์เดียวกัน ซึ่งคนในวงการ กล่าวว่า เป็นข้าวที่ซื้อขายกันใหม่นอกเหนือจากที่เซ็นค้างเอาไว้เมื่อต้นปี และผู้ค้ารายเดียวกันนี้ กล่าวว่า ตั้งเป้าจำหน่ายข้าวให้ได้ 43,500 ตันตลอดเดือน เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของ VietFood กล่าวว่า มีการตั้งเงื่อนไขให้ผู้ค้าใน จ.เกียนซยาง ต้องแบ่งโควตาส่งออก 30% กับผู้ค้าในจังหวัดใกล้เคียง แต่ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าได้จัดเตรียมข้าวลงเรือเอาไว้ล่วงหน้าจนเสร็จเรียบร้อย ไม่สามารถแบ่งเนื้อที่ให้ผู้ค้ารายอื่นได้

ตั้งแต่ต้นปีมานี้ผู้ค้าใน จ.เกียนซยาง เพียงจังหวัดเดียวส่งออกข้าวแล้วนับล้านตัน ผู้ค้ารายหนึ่งกล่าวว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามความต้องการของ VietFood ได้ เนื่องจากได้เซ็นสัญญากับลูกค้าเอาไว้หลายรายตั้งแต่ต้นปี มีการเปิดแอลซีกับธนาคารเรียบร้อย ตั้งแต่ก่อนที่ทางการจะประกาศห้ามส่งออก การยกเลิกสัญญาจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ขบวนการส่งออกข้าวทั้งมวล
<CENTER><FONT color=#00cc00> ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ ฤดูเก็บเกี่ยวปัจจุบันชาวนาในจังหวัดที่ราบปากแม่น้ำโขงและเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงผลิตข้าวรวมกันได้ราว 25 ล้านตัน มากจนเกินพอสำหรับบริโภคภายในและส่งออก ขณะที่ทั่วทั้งประเทศกำลังเตรียมไถหว่านข้าวฤดูมรสุม เพื่อเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ซึ่งจะทำให้เวียดนามมีข้าวออกสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง   </FONT></CENTER>
ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซเพรส ความเคลื่อนไหวของผู้ค้าใน จ.เกียนซยาง ได้ทำให้ผู้ค้าในจังหวัดอื่นๆ เคลื่อนตามอย่างคึกคัก หลังจากที่เคยร่วมกันร้องเรียนให้ทางการอนุญาตเซ็นสัญญาซื้อขายและส่งออกส่งออกข้าวได้โดยไว เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์กำลังจะซ้ำรอยเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเวียดนามห้ามส่งออก ปล่อยให้ข้าวไทยกอบโกยเงินอย่างมหาศาล ในขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปี

ผู้บริการของบริษัทค้าข้าวหลายรายได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น ขู่จะฟ้องร้องสมาคมอาหารฯ ที่มีคำสั่งห้ามส่งออกทั้งๆ ที่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณข้าวอันแท้จริง สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจภาคเอกชน ซึ่งตัวเลขของผู้ค้ายืนยันได้ชัดเจนว่า ปีนี้มีข้าวส่งออกถึง 6 ล้านตัน โดยไม่กระทบกระเทือนถึงความมั่นคงด้านอาหารของประเทศแม้แต่น้อย

นายหวี่งมีงเหว (Huynh Minh Hue) เลขาธิการสมาคมอาหารฯ กล่าวว่า จะมีการพิจารณาดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับผู้ค้าที่ขัดคำสั่งห้ามส่งออกข้าวเช่นเดียวกัน แต่ก็ยอมรับว่า การทำเช่นนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบถึงบรรยากาศการส่งออกโดยรวมด้วย

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ กล่าวว่า สมาคมไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการสั่งปรับ หรือลงโทษผู้ที่ละเมิดกฎระเบียบ แต่อาจจะตัดโควตาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งได้

วันที่ 20 ก.พ.สมาคมอาหารเวียดนามได้แจ้งให้ผู้ส่งออกยุติการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวกับลูกค้าในต่างประเทศจนถึงเดือน พ.ค.ศกนี้ เนื่องจากยอดขายได้เข้าใกล้ยอดส่งออกตลอดทั้งปีเข้าไปทุกที

แต่ผู้ค้าใน จ.เกียนซยาง กล่าวว่า ได้เซ็นสัญญากับลูกค้า 3 รายในติมอร์เลสเต กับบางประเทศในแอฟริกา เพื่อส่งมอบข้าว 53,500 ตัน ภายในเดือน มี.ค.และ เม.ย.ก่อนที่ VietFood จะมีคำสั่งห้าม และเมื่อเดือนที่แล้วได้ร้องเรียนต่อทางการจังหวัด ต่อมามีการ้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้

วันที่ 16 เม.ย.นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สมาคมอาหารฯ ผ่อนปรน แต่ให้ตั้งเงื่อนไขกับผู้ส่งออกในจังหวัดนี้ ซึ่งเป็นที่มาของโควตา 30% ที่จะต้องแบ่งปันให้กับผู้ค้ารายอื่นๆ
<CENTER><FONT color=#00cc00> ภาพแฟ้มเอเอฟพีวันที่ 29 พ.ค.2550 เกวียนเทียมวัวขนข้าวผ่านฝูงเป็ดที่กำลังหากินในท้องนาเขต อ.ห่าไต (Ha Tay) สร้างภาพแห่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน เสียดายปีนี้ราคาข้าวในตลาดโลกไม่สูงเช่นในช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ว่าราคาข้างนอกจะเป็นอย่างไร ชาวนาในเวียดนามมีหลักประกันว่าจะได้กำไร 30-40% ตามคุณภาพของข้าวที่ผลิตได้   </FONT></CENTER>
ตามรายงานบนเว็บไซต์ของสถานีวิทยุกระจายเสียงเวียดนามหรือ VOV (Voice of Vietnam) ปีนี้ยอดส่งออกข้าวของประเทศพุ่งเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ต้นปี กล่าวคือ เพิ่มขึ้น 70% ในเชิงปริมาณ โดยมีการส่งมอบ 235,000 ตัน ในช่วงครึ่งแรกของเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และ เพิ่มขึ้นราว 80% ในเชิงมูลค่าทำให้รายได้ส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นเป็น 736 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เป็นตัวเลขของสมาคมอาหารฯ

อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวในตลาดโลกไม่ได้สูงเช่นเมื่อปีที่แล้วในช่วงเดียวกันนี้ โดยครึ่งแรกของเดือน เม.ย.ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 460 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับข้าวผสมเมล็ดหัก 5% และ 400 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับข้าวผสมเมล็ดหัก 25% สูงขึ้นจากราคาเมื่อเดือนที่แล้ว 5-20 ดอลลาร์ต่อตัน

สมาคมอาหารฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ส่งออกได้เซ็นสัญญาจำหน่ายข้าวรวมทั้งสิ้น 3.65 ล้านตัน สำหรับส่งมอบใน 6 เดือนแรกของปี ขณะที่ราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มจะค่อยๆ ขยับตัวขึ้นอีกเล็กน้อย

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ได้ประมาณว่า ข้าวฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิตในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงที่เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้ จะได้ผลผลิตรวมประมาณ 18 ล้านตัน นี่คือฤดูเก็บเกี่ยวที่ให้ผลผลิตมากที่สุดในภาคใต้เวียดนาม ขณะที่การเก็บเกี่ยวข้าวอีกฤดูหนึ่งในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงทางภาคเหนือซึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนนี้คาดว่าจะให้ผลผลิตรวม 6.5 ล้านตัน

ตามรายงานงานสำนักงานใหญ่สถิติ หรือ GSO (General Statistics Office) ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เวียดนามส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 18,630 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.1% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว แต่ช่วงเดียวกันนี้การส่งออกข้าวขยายตัวถึง 43.9%
กำลังโหลดความคิดเห็น