xs
xsm
sm
md
lg

ภูพระบาท มรดกไทย มรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางธรรมชาติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทย ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ มรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และผืนป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็น และมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีก 3 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย–ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร, อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี

สถานที่เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เมื่อต้นปี พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเคยได้รับฟังข่าวสาร ของว่าที่มรดกโลกอีก 2 แห่งของไทย ที่ทางยูเนสโกตอบรับขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย คือ เส้นทางวัฒนธรรมปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ เชื่อมต่อกับโบราณสถานใกล้เคียง และอีกแห่งหนึ่งคือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ซึ่งขณะนี้ทางยูเนสโกได้จัดทำเอกสาร ส่งไปยังศูนย์มรดกโลกแล้วเสร็จทั้ง 2 แห่ง จึงเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายคือ รอการประกาศอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2551 เท่านั้น

ในด้านของว่าที่มรดกโลกอย่างเส้นทางวัฒนธรรมปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ เชื่อมต่อกับโบราณสถานใกล้เคียงนั้น เชื่อว่านักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป คงจะคุ้นเคยกับชื่อและภาพปราสาทหินต่างๆเป็นอย่างดี

ทว่าหากเอ่ยถึงว่าที่มรดกโลกอีกแห่งอย่าง “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ใน จ.อุดรธานี เชื่อแน่ว่า มีหลายๆคนที่ไม่คุ้นหูหรือแทบจะไม่รู้จักกับว่าที่มรดกโลกแห่งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าจำนวน 3,430ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ควรค่ามรดกโลก

ในฐานะเป็นคนหนึ่งที่สัมผัสและคลุกคลีอยู่กับอุทยานฯภูพระบาท อ.สมดี อรัญรุธ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูลและบรรยายประจำอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้เล่าถึงความสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทว่า ชื่อเรียก “ภูพระบาท” สืบเนื่องมาจากบนยอดเขาแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาท (บัวบก) ซึ่งเป็นที่เคารพของผู้คนในแถบนี้

กอปรกับพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ อาทิ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน มีลักษณะพิเศษของสภาพพื้นที่บนภูพระบาท คือ บริเวณนี้ปรากฏโขดหินและเพิงหินทรายกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อครั้งอดีตบริเวณนี้ถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งขนาดใหญ่

“ความสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเริ่มเป็นจริงเป็นจังครั้งแรก ในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ราว 2,000-3,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ในสมัยนั้นส่วนหนึ่งดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นพักค้างแรมอยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติ ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพ เช่น ภาพ คน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้บนเพิงผาที่ใช้พักอาศัย โดยใช้สีจากยางไม้ธรรมชาติ หรือเลือดสัตว์บางชนิด”อ.สมดีกล่าว ซึ่งภาพเขียนสีเหล่านี้ มีปรากฏให้เห็นหลายแห่งทีเดียวในภูพระบาท เช่นที่ ถ้ำคน-ถ้ำวัว เป็นต้น

นอกจากความสำคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว อ.สมดียังได้ชี้แนะให้เห็นถึงความสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ต่ออีกว่า ภูพระบาทปรากฏความสำคัญอีกครั้งหนึ่งราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ในยุคสมัยของ “ทวารวดี” ซึ่งได้พบหลักฐานกิจกรรมของมนุษย์ อาทิ การดัดแปลงโขดหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีคติการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบเอาไว้ นอกจากนี้ร่องรอยของพุทธปฏิมาบางองค์ที่ “ถ้ำพระ”ก็แสดงถึงอิทธิพลสมัยทวารวดีอย่างเด่นชัด

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 เมื่ออิทธิพลของศิลปกรรมแบบเขมร(เกาะแกร์) เข้ามามีบทบาทในแถบนี้ ภูพระบาท ก็เป็นที่หนึ่งที่รับเอาอิทธิพลของเขมรเข้ามา เนื่องจากได้พบการสกัดหินเพื่อดัดแปลงพระพุทธรูปที่บริเวณถ้ำพระให้เป็นรูปพระโพธิสัตว์หรือเทวรูปในศาสนาฮินดู

หลักจากช่วงสมัยวัฒนธรรมแบบทวารวดีและเขมรหมดความสำคัญลง พื้นที่บริเวณนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการประกอบกิจกรรมของมนุษย์อีก จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 เมื่อพื้นที่แถบอีสานตอนบนเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะบริเวณที่ติดกับลำน้ำโขงได้รับอิทธิพลโดยตรงจากวัฒนธรรมลาว (ล้านช้าง) ภูพระบาทซึ่งอยู่ในอีสานตอนบนก็ได้รับเอาอิทธิพลของลาวเข้าไว้ด้วย จากการศึกษาพบว่ามีร่อยรอยของงานศิลปกรรมสกุลช่าวลาวอยู่มิใช่น้อยบนภูพระบาท ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือพระพุทธรูปขนาดเล็กบริเวณ “ถ้ำพระเสี่ยง” ที่แสดงถึงศิลปะสกุลช่างลาว

ความหลากหลายมากมายเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่าอุทยานฯประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยอย่างแท้จริง

นางอุสา –ท้าวบารส

ที่อุทยานฯภูพระบาทแห่งนี้ มีการผูกโยงชื่อของสถานที่เข้ากันตำนานท้องถิ่นเรื่อง “นางอุสา-ท้าวบารส” เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ง่ายต่อการจดจำมากขึ้น จากตำนานพื้นบ้านจึงกลายเป็นตำนานสถานที่ไปด้วย เรื่องของ นางอุสา-ท้าวบารส นั้นมีอยู่ว่า มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งตั้งอยู่บริเวณแถบภูพระบาทมีชื่อว่า “เมืองพาน” มีพระยากงพานเป็นเจ้าเมือง ต่อมาพระองค์ได้ไปขอ “นางอุสา” ผู้ที่เกิดมาจากดอกบัวบนเทือกเขาและพระฤาษีจันทาผู้เป็นอาจารย์ของท้าวกงพานได้นำมาเลี้ยงไว้

ด้วยความที่นางอุสาเป็นสาวสวย พระยากงพานเห็นแล้วชอบใจก็เลยขอไปเป็นธิดา พระยากงพานหวงนางอุสามาก เจ้าชายที่ไหนมาขอก็ไม่ยอมยกให้ ด้วยความหวงแหนจึงได้สร้างตำหนักเป็นหอสูงอยู่บนภูเขาให้นางอุสาอยู่ วันหนึ่งนางอุสาไปเล่นน้ำ เก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยรูปหงส์ แล้วลอยไปตามน้ำพร้อมเสี่ยงทายหาคู่ มาลัยก็ลอยมาถึงท้าวบารส เจ้าชายเมืองปะโคเวียงงัว ท้าวบารสขี่ม้าตามหา ม้าก็มาหยุดที่เมืองพาน ท้าวบารสได้เจอกับนางอุสา เกิดชอบพอกันแล้วลักลอบได้เสียกัน

เมื่อพระยากงพานรู้ก็โกรธมาก สั่งให้ตัดหัวท้าวบารส แต่อำมาตย์ได้ห้ามไว้ พระยากงพานเลยออกอุบายให้ท้าวบารสสร้างวัดแข่งกับพระยากงพาน พนันกันว่าใครแพ้ต้องโดนตัดหัว กำหนดให้สร้างเสร็จก่อนดาวประกายพรึกขึ้นตอนเช้า พระยากงพานเกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากมาสร้างวัด (วัดพ่อตา)

ส่วนท้าวบารสมีไพร่พลเพียงน้อยนิด พี่เลี้ยงนางอุสากลัวนางอุสาจะกลายเป็นหม้าย เลยออกอุบายเอาโคมไปแขวนไว้บนยอดไม้ใหญ่ ฝ่ายพวกพระยากงพานนึกว่าเป็นดาวประกายพรึกขึ้นก็เลยหยุดสร้างวัดทั้งที่ยังไม่เสร็จ ส่วนท้าวบารสสร้างวัดจนเสร็จ พระยากงพานแพ้ก็เลยโดนตัดหัวซะเอง

ต่อมาท้าวบารสพานางอุสามาอยู่ที่เมืองของท้าวบารส บรรดาชายาของท้าวบารสพากันอิจฉานางอุสา เลยให้โหราจารย์ทำนายว่าท้าวบารสมีเคราะห์ต้องออกเดินทางไปนอกเมืองหนึ่งปี พอท้าวบารสออกเดินทาง ชายาก็กลั่นแกล้วนางอุสา จนต้องหนีกลับเมืองพานแล้วก็ตรอมใจตาย พอท้าวบารสรู้เรื่องก็นำศพนางอุสามาฝัง ไม่นานท้าวบารสก็ตรอมใจตายตามกันไปแล้วก็ถูกฝังไว้ด้วยกัน

จากตำนานดังกล่าวได้ถูกนำมาผูกโยงไว้อย่างกลมกลืน กับสถานที่ต่างๆภายในอุทยานฯภูพระบาท อาทิ หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา หีบศพท้าวบารส เป็นต้น

ดูอะไรใน”ภูพระบาท”

การขึ้นมาท่องเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นับว่าสะดวกสบายเพราะมีถนนลาดยางตัดผ่านถึงตัวอุทยานฯประกอบกับมีทิวทัศน์สองข้างทางที่สวยงาม เหมาะสำหรับผู้รักธรรมชาติและการเดินทางผจญภัย

จุดแรกที่ควรแวะเมื่อเข้ามาสู่เขตของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทคือ “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว” ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ควรทราบก่อนที่จะเดินเที่ยว เพื่อให้ได้สาระความรู้ความเพลิดเพลินมากยิ่งขึ้นที่ศูนย์บริการฯมีแผนที่แสดงเส้นทางไปยังแต่ละแหล่ง มีห้องจัดแสดงภาพจำลองและเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจของภูพระบาท รวมทั้งแนะนำวิธีการเที่ยวชมให้เหมาะสมกับเวลาและสะดวกต่อผู้สนใจ ในแต่ละเส้นทางได้มีการจัดทำป้ายและลูกศรแสดงตลอดระยะทาง โดยใช้รูปแบบที่ไม่ทำลายความเป็นธรรมชาติบนภูพระบาท

การเที่ยวชมภูพระบาทนั้น มีกลุ่มโบราณสถานต่างๆแบ่งเป็น 9 กลุ่มด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าชม แต่ไฮไลต์ที่เด่นที่สุด คือ หอนางอุสา ที่อยู่ในกลุ่ม3

หอนางอุสานั้น ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นโขดหินรูปคล้ายเห็ดอยู่บนลานหิน โดยก้อนหินด้านบนมีขนาดกว้าง 5 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 10 เมตร สภาพเช่นนี้แต่เดิมเกิดจากการกระทำตามธรรมชาติ และเนื่องจากมีรูปทรงที่แปลกตามนุษย์ในสมัยก่อนจึงดัดแปลง

โดยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน โดยก่อเป็นห้องที่มีประตูและหน้าต่างขนาดเล็กอยู่ที่ผนังทั้งสอง สามารถใช้ประกอบพิธีกรรมหรือบำเพ็ญเพียรได้เป็นอย่างดี สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ มีใบเสมาหินขนาดกลางและใหญ่ปักล้อมรอบหอนางอุสาเอาไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามาแต่ครั้งอดีตกาล

จากหอนางอุสาสิ่งที่โดดเด่นห้ามพลาดแก่การเข้าชมคือ “ถ้ำพระ” ที่แห่งนี้สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองและพัฒนาการตามยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ถ้ำพระมีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดจากก้อนหินขนาดใหญ่วางทับซ้อนกันตามธรรมชาติ

พบหลักฐานการสกัดหินก้อนล่างออก จนกลายเป็นห้องขนาดใหญ่ รวมไปถึงสลักรูปประติมากรรมทางศาสนาเอาไว้ในห้องอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของหลุมเสาด้านนอกเพิงหินเรียงอยู่เป็นแนวในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงสันนิษฐานว่าเดิมอาจมีการต่อหลังคาเครื่องไม้ออกมา

ด้านนอกของถ้ำพระมีร่องรอยการปักใบเสมาไว้ตามทิศต่างๆ ด้านในของถ้ำพบการสลักเป็นภาพพระพุทธรูปนั่งประทับภายในซุ้มที่มีการสลักลายอย่างงดงามจำนวน 2 ซุ้ม ด้านบนเป็นแถวพระพุทธพุทธยืนเรียงกันอยู่ ส่วนผนังห้องด้านทิศตะวันออก สลักเป็นภาพพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกขนาดใหญ่ 3 องค์ แต่ชำรุดแตกหักไปมากแล้ว พระพุทธรูปยืนองค์ในสุดมีร่องรอยการสลักหินตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นผ้าแบบโจงกระเบนสั้น มีลวดลายสวยงาม

จากถ้ำพระ มาที่ “บ่อน้ำนางอุสา” บ่อน้ำที่ตามตำนานนางอุสา-ท้าวบารส กล่าวว่าเป็นที่ซึ่งนางอุสามาเล่นน้ำก่อนพบท้าวบารส เป็นบ่อน้ำที่เจาะสกัดลงไปในพื้นหิน การเจาะๆเป็นรูปทรงกรวยให้ค่อยๆแหลมลึกลงไปในเนื้อหิน บ่อน้ำแห่งนี้สันนิษฐานว่าคงเป็นแหล่งน้ำบริโภคของคนในสมัยโบราณ หรือ อาจใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมบางอย่าง

จากนั้นตามมาดูร่อยรอยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ “ถ้ำวัว-ถ้ำคน” บริเวณนี้มีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่วางซ้อนทับกันที่ทำให้เกิดเป็นชะง่อนหินที่สามารถใช้หลบแดดฝนอยู่ด้านล่างของเพิง ทางด้านทิศตะวันออกของเพิงหินได้พบภาพเขียนรูปสัตว์เรียกว่า “ถ้ำวัว”และภาพเขียนรูปคนอยู่ทางทิศเหนือเรียกว่า “ถ้ำคน” บนผนังเพิงผาเดียวกันเขียนด้วยสีแดง เป็นรูปคน 7 คน เดินเป็นแถวมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ภาพคนบางภาพมีกล้ามเนื้อส่วนน่องโป่งนูนออกมมา ซึ่งอาจแสดงถึงว่าเป็นพวกที่ใช้กำลังเท้าอย่างมาก
และเพื่อความเป็นสิริมลคลผู้เข้ามาเยี่ยมชมอุทยานฯภูพระบาท ควรที่จะแวะสักการะ “พระพุทธบาทบัวบก” ที่มีองค์พระพุทธบาทบัวบก สร้างเลียนแบบพระธาตุพนมองค์เดิม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบอยู่ในรอยพระพุทธบาทด้วย

นอกเหนือจากโขดหิน หินตั้งรูปร่างแปลกต่างๆตั้งอยู่บนลานหินทรายกว้างๆบนภูพระบาทแล้ว เนื้อที่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด มีสภาพเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้สมุนไพรนานาพันธุ์ ซึ่ง ผศ.ดร.อัจฉรา ธรรมถาวร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาไม้สกุลต่างๆบนภูพระบาทเป็นระยะเวลาสั้นๆ

พบว่าพรรณไม้บนภูพระบาทมีหลากหลาย ส่วนมากเป็นลักษณะของดอกไม้พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นโดยเฉพาะ เช่น ยางพลวง เต็ง รัง ยางกราด น้ำเลี้ยง ตองหมอง หนามแท่ง กระชายขาว กระเจียวแดง ดอกไม้จำพวกเอื้อง หญ้าเพ็ก หยาดน้ำค้าง อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของกระรอก กระแต ชะมด หมูป่า ไก่ป่า กระต่าย ลิง สุนัขจิ้งจอก เหยี่ยวภูเขา ซึ่งล้วนเป็นสิ่งยืนยันความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ได้ดี

อนาคต…มรดกโลก

บุญญานุช วรรณยิ่ง ผช.ผอ.ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 กล่าวถึงอุทยานฯภูพระบาทว่า ภูพระบาทมีจุดขายสำคัญ คือเป็นโบราณสถานในป่า ยิ่งในขณะนี้เป็นว่าที่มรดกโลก ซึ่งคาดการว่าทางยูเนสโกจะประกาศผลให้ทราบอย่างเป็นทางการราวเดือนกุมภาพันธ์2551

ซึ่งถ้าประกาศผลเป็นมรดกโลกจริงๆ จะมีผลในด้านการประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพราะปัจจุบันภูพระบาทก็เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่นิยมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าคนไทย ภูพระบาทเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายมีความร่มรื่น มีความเป็นมาของพิธีกรรมทางประวัติศาสตร์ และด้านพรรณไม้

“การเป็นมรดกโลกของภูพระบาท จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคอีสานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเมื่อภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการแล้วจะทำให้ จังหวัดอุดรธานีกลายเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีมรดกโลกถึง 2 แห่ง คือเดิมเรามีอยู่แล้วที่บ้านเชียงและกำลังจะได้ที่ภูพระบาท เชื่อว่าจุดนี้จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สามารถเชื่อมโยงเข้ากับ 3 เหลี่ยมมรดกโลกได้ด้วย อย่างบ้านเชียงตอนนี้เราก็เชื่อมโยงไปแล้วกับทางหลวงพระบางกับฮาลองเบ เมื่อภูพระบาทได้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ก็จะต้องจัดทำแผนเชื่อมโยงมรดกโลกแห่งนี้เช่นกัน”บุญญานุช กล่าว ถึงแผนประชาสัมพันธ์ เมื่ออุทยานฯภูพระบาทได้รับการประกาศผลเป็นมรดกโลก

ด้านของ อ.สมดี นั้นเขากล่าวในฐานะของคนที่มีความผูกพันกับอุทยานฯภูพระบาทว่า ความนาสนใจของภูพระบาทอยู่ที่สามารถเข้ามาชมอย่างต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี แต่ปัญหาที่มักพบบ่อย คือ เรื่องของไฟป่าที่ต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ อีกทั้งเรื่องหนึ่งมีอยากให้กรมศิลปากรช่วยดูแลเป็นพิเศษคือ เรื่องของโบราณวัตถุ

“ปัจจุบันนี้ทางอุทยานฯต้องจัดเวรยามดูแลช่วงกลางคืน 3-5คน ต่อวัน อย่างพระพุทธรูปยังอยู่ระเกะระกะในทุกที่รอบโบราณสถานเสี่ยงต่อการถูกขโมยมาก หากเป็นมรดกโลกแล้วหวังจุดนี้จะดีขึ้น”อ.สมดีกล่าวทิ้งท้าย


**************

การเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จากจังหวัดอุดรธานี เดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 2 ประมาณ 13 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายที่บริเวณบ้านดงไร่เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2021 เพื่อไปยังบ้านผือ เป็นระยะทาง 43 กิโลเมตร จากนั้นจึงเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 2438 เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร จนถึงบริเวณ สามแยกบ้านติ้ว ให้ขับรถตรงขึ้นเขาตามถนนราดยาง ประมาณ 4 กิโลเมตร จะเข้าเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น. ค่าธรรมเนียมคนไทย 10 บาท ต่างชาติ 30 บาท
**************








กำลังโหลดความคิดเห็น