ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งสวยงามขึ้นมาประดับโลกไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหาดทรายขาวใสกับน้ำทะเลสีฟ้าสด น้ำตกสูงอลังการ หน้าผาสูงใหญ่ตั้งตระหง่าน ดูแล้วทำให้มนุษย์เรารู้สึกว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน
ในบ้านเราก็มีสิ่งสวยงามด้วยฝีมือของธรรมชาติอยู่มากมายที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างในวันนี้ที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาที่จังหวัดกระบี่ มาชมความงดงามจากการสรรค์สร้างของธรรมชาติอิกชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่ทะเลอย่างที่หลายๆคนมักนึกถึง แต่กลับเป็น “ถ้ำ” เพราะสภาพพื้นที่ที่เป็นภูเขาหินปูน จึงก่อให้เกิดภูมิประเทศเป็นหน้าผาสูงและโพรงถ้ำหลายแห่ง และภายในถ้ำก็มีหินงอกหินย้อยตระการตา
แต่ถ้ำที่มีความงดงามไม่แพ้ถ้ำไหนๆ ในจังหวัดกระบี่ หรือแม้แต่ถ้ำอื่นๆทั่วประเทศไทย ก็ต้องยกให้กับ “ถ้ำปราสาทนาฬาคิริง” ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดถ้ำปราสาทนาฬาคิริง อำเภอปลายพระยา ห่างจากตัวเมืองกระบี่ไปประมาณ 70 กิโลเมตร
ชื่อ “นาฬาคิริง” อาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่สำหรับผู้ที่สวดมนต์บทพาหุงเป็นประจำอาจจะทราบความหมาย เพราะในบทหนึ่งของบทสวดพาหุงมีอยู่ว่า “นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง...ฯลฯ” ซึ่งแปลความออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า “พญาช้างนาฬาคิรีตกมันหนักดุร้ายเหลือ แล่นเข้ามาราวกับไฟไหม้ป่า ดุจจักราวุธ เหมือนฟ้าผ่า พระจอมมุนีทรงชนะด้วยน้ำพระเมตตา ด้วยพระเดชนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า
อธิบายให้ละเอียดลงไปอีกนิดก็คือ ช้างนาฬาคิรีเชือกนี้เป็นช้างที่พระเทวทัตสั่งให้มาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ก็ได้ใช้ฤทธานุภาพแห่งความเมตตาในการหยุดช้างนาฬาคิรีให้สงบลงได้
เรื่องราวความเป็นมาเหล่านี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้ฟังมาจาก “หลวงพ่อขจิต กมโล” เจ้าอาวาสวัดถ้ำปราสาทนาฬาคิริง และยังเป็นผู้ค้นพบถ้ำ เป็นผู้นำนักท่องเที่ยวเข้าชมถ้ำ และยังเป็นผู้ดูแลถ้ำให้คงสภาพเป็นธรรมชาติอันงดงามไม่ถูกทำลายไปอีกด้วย
นอกจากชื่อของถ้ำจะมีที่มาน่าสนใจแล้ว เรื่องราวการค้นพบถ้ำก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน โดยเมื่อปี พ.ศ.2529 หลวงพ่อขจิตซึ่งโดยพื้นเพเป็นคนจังหวัดสงขลา แต่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำวัว จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ได้นิมิตเห็นชายตัวดำรูปร่างสูงใหญ่ นุ่งผ้าขาวโจงกระเบนไม่ใส่เสื้อ สะพายย่ามมือถือเทียนมาชวนหลวงพ่อให้ไปดูถ้ำแห่งหนึ่ง ชายคนนั้นพูดอะไรมากมายหลายอย่าง พร้อมกับให้หลวงพ่อไปอยู่ในถ้ำนั้น ทีแรกหลวงพ่อปฏิเสธ แต่ชายคนนั้นก็พยายามชักจูงพร้อมอธิบายต่างๆนานา จนในที่สุดหลวงพ่อต้องยอมรับตามที่นิมิต ชายคนนั้นจึงพาหลวงพ่อออกจากถ้ำ
หลังจากนั้นหลวงพ่อขจิตก็ได้สืบหาถ้ำตามที่นิมิตอยู่หลายแห่ง จนกระทั่งใน พ.ศ.2533 เมื่อหลวงพ่อได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งในอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ และมีชาวบ้านมานิมนต์ไปในงานบุญเดือนสิบ หลวงพ่อจึงสอบถามกับชาวบ้านว่าในละแวกบ้านมีวัดมีถ้ำบ้างหรือไม่ เมื่อชาวบ้านบอกว่ามีถ้ำ แต่เป็นป่ารกทึบไม่มีใครกล้าเข้าไป หลวงพ่อจึงไปดูถ้ำดังกล่าว และพบว่าเป็นถ้ำที่เหมือนเคยพบมาก่อนตามนิมิต
หลังจากนั้นหลวงพ่อจึงได้สำรวจถ้ำ และได้ตั้งชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำปราสาทนาฬาคิริง” โดยถือเอานิมิตก้อนหินในถ้ำซึ่งเป็นรูปคล้ายหัวช้างเผือกทรงเครื่องขนาดใหญ่ และได้มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณถ้ำ จัดทำทางทางเดิน ติดหลอดไฟให้ความสว่าง ต่อมาจึงเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยหลวงพ่อขจิตเป็นคนนำชมเอง หรือบางครั้งก็ให้ลูกศิษย์เป็นผู้นำชม อีกทั้งไม่คิดค่าเข้าชม เพียงแต่ช่วยกันบริจาคตามศรัทธา
วนอยู่รอบปากถ้ำกันนานแล้ว คราวนี้เราเข้าไปเยี่ยมชมด้านในถ้ำพร้อมกับหลวงพ่อขจิต และ “ตะลอนเที่ยว” กันเลยดีกว่า
ก่อนเข้าถ้ำหลวงพ่อชี้ให้ดูชะง่อนหินหน้าปากถ้ำที่ดูแล้วมีลักษณะคล้ายหัวช้าง อีกทั้งยังได้เล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงภายในโพรงถ้ำว่ามีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) เดินเข้าทางหนึ่งเดินออกอีกทางหนึ่ง และมีอากาศถ่ายเท ทำให้ภายในถ้ำเย็นสบายไม่เหม็นอับ ส่วนความงดงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำนั้นหลวงพ่อให้เข้าไปชมกันด้วยตาของตัวเอง แต่รับรองว่าต้องตะลึงเลยทีเดียว
เมื่อ “ตะลอนเที่ยว” ก้าวเท้าเข้าไปภายในก็เริ่มเห็นความงดงามอย่างที่หลวงพ่อขจิตบอกไว้ไม่ผิดเพี้ยน หินงอกหินย้อยอันสมบูรณ์สะท้อนกับแสงไฟส่องให้เห็นไปทั่วทั้งโพรงถ้ำ บางอันมีประกายระยิบระยับคล้ายกากเพชรดูงดงามตระการตา หลวงพ่อชี้ให้ดูหินงอกก้อนใหญ่ที่เรียกว่าเพนียด และไม่ไกลกันนักมีหินย้อยรูปทรงคล้ายหัวช้างเผือกทรงเครื่องอันเป็นที่มาของชื่อถ้ำนาฬาคิริง
ยิ่งเดินลึกเข้าไปก็ยิ่งเห็นความอลังการของหินงอกหินย้อย ที่บางอันยังมีน้ำหยดลงเรื่อยๆ แสดงว่ายังเป็น “หินเป็น” ที่ยังมีโอกาสงอกขึ้นได้อีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงคอยเตือนเป็นระยะๆ ให้เราคอยระวังหัว หรือระวังแขนขาไม่ให้ไปสัมผัสโดนหินเหล่านั้น มิฉะนั้นจากหินเป็นจะกลายเป็น “หินตาย” หมดโอกาสงอกสร้างความงามให้เราชมกันอีกต่อไป
หลังจากเดินก้มๆเงยๆ ลัดเลาะบรรดาหินงอกหินย้อยลึกเข้ามาด้านใน หลวงพ่อก็ชี้ให้มองไปข้างหน้า และบอกให้ชมภาพที่ทำให้ต้องเรียกถ้ำแห่งนี้ว่าเป็นปราสาท เพราะภาพที่ “ตะลอนเที่ยว” เห็นนั้น ก็คือหินย้อยที่เหมือนจะหยาดลงจากเพดานถ้ำเป็นบริเวณกว้าง ส่วนพื้นถ้ำก็มีหินงอกที่บางอันก็งอกยาวชนกับหินย้อยด้านบน บางอันก็กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มองดูแล้วคล้ายกับวิมานปราสาทอันงดงามจริงๆ
ยังมีรายละเอียดเล็กๆน้อยที่หลวงพ่อชี้ชวนให้ชมอีกมาก เช่น หินย้อยอันใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับเท้าช้าง ลวดลายบนหินที่มองแล้วคล้ายใบหน้าของช้าง หินงอกหินย้อยที่งอกออกมามีลักษณะคล้ายปะการังใต้ท้องทะเล บางอันก็ดูบอบบางคล้ายจะหักได้ทุกวินาที นอกจากนั้นก็ยังมีโครงกระดูกของมนุษย์ซึ่งคาดว่าจะเป็นฤาษีที่เข้ามาบำเพ็ญพรตภายในถ้ำ และร่องรอยเหมือนเขม่าไฟบนก้อนหินแสดงถึงว่ามีคนเคยเข้ามาอยู่อาศัยภายในถ้ำนี้ รวมไปถึงชี้ให้สังเกตดูใยหนอนไหมเรืองแสงที่ถักทอเส้นใยบางๆ เกาะอยู่ตามหินอีกด้วย
ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีกับเส้นทางเดินภายในถ้ำนาฬาคิริง ทำให้ “ตะลอนเที่ยว” เพลิดเพลินจนเมื่อเดินมาพบกับแสงสว่างภายนอกถ้ำที่สาดส่องเข้ามา ก็ทำให้พบว่าเดินมาถึงทางออกโดยไม่รู้ตัว
หากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ถ้ำนาฬาคิริงในช่วงเดือนกันยายน การท่องเที่ยวภายในถ้ำก็จะเป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง เพราะเป็นช่วงที่น้ำฝนจากภูเขาจะไหลลงมาท่วมถึงปากถ้ำ การเข้าไปชมก็ต้องนั่งเรือท้องแบนเข้าไปด้านใน และเดินชมความงามในถ้ำกันต่อ
ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติภายในถ้ำนาฬาคิริงแห่งนี้ยังคงอยู่ได้เนื่องจากไม่มีคนเข้าไปรบกวนมาเป็นเวลานาน อีกทั้งหลวงพ่อขจิตยังคอยดูแลรักษาเป็นอย่างดีไม่ให้นักท่องเที่ยวที่เข้าไปชมรบกวนการเจริญเติบโตของหินงอกหินย้อย แต่หากมีนักท่องเที่ยวเข้าไปมากๆ การดูแลก็อาจไม่ทั่วถึง ผู้ที่เข้าชมจึงใช้ความระมัดระวัง ใช้จิตสำนึกช่วยกันรักษาสภาพธรรมชาติอันงดงามนี้ให้อยู่ต่อไปนานๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การเดินทางไปถ้ำนาฬาคิริง จากตัวเมืองกระบี่วิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 4 จากนั้นให้เลี้ยวแยกขวามือที่อำเภออ่าวลึกไปตามถนนสายอ่าวลึก-พระแสง แล้วถึงแยกซ้ายมือมีป้ายบอกไปถ้ำนาฬาคิริง รวมระยะทางจากตัวเมืองกระบี่ประมาณ 70 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.08-1978-0131