มีตำนานจีนเล่าสืบต่อกันมาว่า ณ ยอดเขาอู่ไถซาน หนึ่งใน 5 ภูพุทธอันเลื่องชื่อ ยังมีสัตว์ประหลาดตัวน้อย ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ มันมีขา 4 ขา มีเนื้อด้านข้างคล้ายปีก 2 ข้าง แต่กลับบินไม่ได้ ทั้งยังร้องคร่ำครวญตลอดเวลาเมื่อฤดูเหมันต์เวียนมาถึง ผู้คนจึงพากันขนานนามมันว่า "นกหานห้าว" (寒号鸟) ซึ่งแปลตรงตัวหมายถึงนกที่ร้องในฤดูหนาว (บางตำราระบุว่านกหานห้าวจริงๆ แล้วไม่ใช่นก แต่เป็นกระรอกบินชนิดหนึ่ง )
ในคิมหันต์ฤดูอันร้อนจัด คือฤดูกาลที่นกหานห้าวรื่นเริงเป็นที่สุด ตลอดทั้งตัวของมันจะมีขนขึ้นมาจนนุ่มฟู สีสันงดงามสะดุดตาจนกระทั่งนกแมลงอื่นๆ พากันอิจฉา ส่วนนกหานห้าว เองนั้นยิ่งบังเกิดความลำพองใจ วันทั้งวันเอาแต่เดินไปเดินมาเพื่ออวดความงามของตนเองกับนกอื่นๆ เดินพลางร้องพลางว่า "หงส์ฟ้ายังมิอาจเทียบกับข้า หงส์ฟ้ายังมิอาจเทียบกับข้า "
ฤดูร้อนผ่านไป ฤดูใบไม้ร่วงมาถึง นกบางประเภทที่กลัวหนาว พากันบินลงใต้เพื่อรอจนกว่าฤดูหนาวจะผ่านพ้น ส่วนนกที่เหลืออยู่ ก็จะพากับเก็บพืชพันธุ์ธัญญาหารเอาไว้เพื่อเป็นเสบียงในตลอดฤดูหนาว มีเพียง นกหานห้าวเท่านั้น ที่วันๆ เอาแต่เตร็ดเตร่ไปมา อวดความงามของขนตนเอง
เมื่อฤดูแห่งความหนาวเหน็บหวนมาอีกครั้ง ลมไซบีเรียโหมพัด เกล็ดหิมะโปรยพลิ้วลงทุกหนแห่ง นกหลายประเภทต่างผลัดขนฟูหนาเพื่อรอรับความหนาวเหน็บ มีเพียงนกหานห้าวเท่านั้น ที่ยามนี้ขนยาวสวยกำลังร่วงหล่นจนเกลี้ยง ยามค่ำคืนมันต้องซุกตัวอยู่ตามชะง่อนหิน ตัวสั่นงันงกจนต้องโอดครวญไม่หยุดว่า "หนาวอะไรเช่นนี้ หนาวเหลือเกิน พรุ่งนี้ต้องสร้างรัง พรุ่งนี้ต้องสร้างรัง"
ทว่าเมื่อค่ำคืนอันเหน็บหนาวผ่านพ้นไป ความอบอุ่นของพระอาทิตย์เข้ามาแทนที่ นกหานห้าว กลับลืมเลือนภารกิจสร้างรังเพื่อหลบความหนาวในยามค่ำไปสิ้น จนแล้วจนรอด มันจึงไม่ได้สร้างรังของตนเอง แต่ผ่านวันเวลาเช่นนี้ไปแต่ละวันๆ วนเวียนไป จนสุดท้าย ได้แต่หนาวจนสิ้นใจอยู่ในชะง่อนหินนั้นเอง
“เต๋อกั้วเฉี่ยกั้ว” สำนวนนี้ใช้เพื่อเปรียบเปรยถึงผู้ที่หัวสมองไม่เคยคิดการณ์ใหญ่ เพียงมีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมักใช้กับคนที่ทำงานลวกๆ พอเป็นพิธี โดยไม่สนว่าผลงานที่ออกมาจะมีคุณภาพหรือไม่
สำนวนนี้ใช้ในตำแหน่งภาคแสดง(谓语) ส่วนขยายนาม(定语) หรือส่วนขยายภาคแสดง(状语)