"อยากเป็นโนบิตะจะได้มีโดราเอมอนอยู่ใกล้ๆตัว ไว้ขอยืมสิ่งประดิษฐ์ในอนาคตมาใช้บ้าง โดยเฉพาะเครื่องไทม์แมชชีน..." ความคิดนี้แว่บเข้ามาในสมองน้อยๆของ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ทันทีเมื่อมายืนอยู่ที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ที่จังหวัดอุดรธานี
ทำไมนะหรือ? ก็เพราะที่นี่มีอะไรหลายๆอย่างที่ดูน่าศึกษาค้นคว้าชวนตื่นตาตื่นใจไปหมดนะสิ ยิ่งได้ฟังเรื่องราวอันเก่าแก่ ตั้งแต่ตำนานเรื่องนางอุสา-ท้าวบารส ลงมาเรื่อยจนถึงประวัติศาสตร์ในยุคสมัยต่างๆที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกโหยหาอดีตขั้นรุนแรงทีเดียว ไม่ได้โม้นะใครไม่เชื่อลองมาพิสูจน์เองได้
ตามข้อมูลที่ได้ศึกษามานั้น อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าจำนวน 3,430ไร่ ประกาศให้เป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
อุทยานฯภูพระบาทมีลักษณะพิเศษของสภาพพื้นที่ คือ บริเวณนี้ปรากฏโขดหินและเพิงหินทราย กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อครั้งอดีตบริเวณนี้ต้องถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งขนาดใหญ่
หินที่ภูพระบาทสามารถบอกเล่าเรื่องราวย้อนหลังได้ตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ราว 2,000-3,000 ปี มนุษย์ยุคก่อนส่วนหนึ่งพักอาศัยอยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติ มีหลายจุดในภูพระบาทที่พบสถานที่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยอย่างห้องนอนและห้องครัวมาก่อน เพราะพบภาพเขม่าควันเกาะติดตามเพิงหิน ยามเวลาว่างมนุษย์ยุคหินก็ได้ขีดเขียนภาพ เช่น ภาพ คน ภาพสัตว์ คงไว้ประดับผนังบ้าน วัสดุที่ใช้ขีดเขียนก็ได้จากสิ่งใกล้ตัวอย่างสีจากยางไม้ธรรมชาติ เลือดสัตว์บางชนิด
จากยุคก่อนประวัติศาสตร์มาถึงสมัย “ทวารวดี” อิทธิพลของทวารวดีได้ครบคลุมพื้นที่ภูพระบาทด้วย จากเพิงพักของมนุษย์ยุคหิน ภูพระบาทถูกดัดแปลงจากโขดหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีคติการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบเอาไว้ ต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเขมร ท้ายที่สุดได้รับอิทธิพลโดยตรงจากวัฒนธรรมล้านช้าง พบว่ามีร่อยรอยของงานศิลปกรรมสกุลช่างลาวอยู่มิใช่น้อยบนภูพระบาท
การมาเที่ยวภูพระบาทให้ความรู้สึกแตกต่างจากการเที่ยวที่อื่น เพราะอย่างน้อยก็เกิดความภูมิใจอยู่ลึกๆว่าได้มาย่ำถิ่น “ว่าที่มรดกโลก” แห่งใหม่ของไทยก่อนใคร ซึ่งภูพระบาทจะได้เป็นมรดกโลกหรือไม่ ต้องรอลุ้นโค้งสุดท้ายในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
และถ้าใครกำลังคิดว่า จะเดินเที่ยวภูพระบาทเองล่ะก็ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ไม่แนะนำ ด้วยพื้นที่ที่มีอาณาเขตกว้างขวางนับพันไร่ ขืนเดินเองสะเปะสะปะมีหวังเป็นลมชักตาตั้งได้แน่เดี๋ยวจะว่าหล่อไม่เตือน แต่ควรเลือกใช้บริการของมัคคุเทศก์ที่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานจัดเตรียมไว้ให้จะดีกว่า เพราะนอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินแล้วยังได้รับความรู้ด้านประวัติศาสตร์แง่มุมต่างๆอีกด้วย
เมื่อได้มัคคุเทศก์ประจำกลุ่มแล้วก็ต้องดูเวลาด้วยว่า เรามีเวลามากแค่ไหนในการเดินชม เพราะเจ้าหน้าที่จะได้จัดโปรแกรมให้ถูกว่าจะพาเราไปดูอะไร ที่ไหนบ้าง ซึ่งในแต่ละเส้นทางทางอุทยานฯภูพระบาทได้มีการจัดทำป้ายและลูกศรบอกชื่อสถานที่แสดงตลอดระยะทางเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
สำหรับ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เมื่อพร้อมออกเดินทาง มัคคุเทศก์ก็เลือกที่จะพาเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ของทางอุทยานฯภูพระบาทก่อนเป็นลำดับแรก เข้าใจว่าจุดประสงค์คือเพื่อให้เราทำความรู้จักกับภูพระบาทก่อนสักเล็กน้อย ก่อนที่จะไปพบกับของจริง ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็มีการนำภาพถ่ายของภาพเขียนสีที่พบในเขตอุทยานฯมาจัดแสดงไว้ให้ชม พร้อมทั้งมีคำบรรยายถึงชนิดของสีที่ใช้ว่าเกิดจากอะไร
มีการจำลองหอนางอุสาไฮไลต์สำคัญของที่นี่ พร้อมคำบรรยายถึงตำนานท้องถิ่นเรื่องนางอุสา-ท้าวบารส ที่ถูกนำมาผูกโยงตั้งชื่อสถานที่ต่างๆในอุทยานฯภูพระบาทผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนลงตัว
ตำนานของนางอุสา-ท้าวบารส ถ้าให้เล่าคงยาวเป็นวา ขอสรุปย่อๆพอประมาณว่า เป็นเรื่องของพ่อที่ชื่อ “พระยากงพาน” ซึ่งหวงนางอุสาลูกสาวเป็นอย่างมาก หวงจนต้องสร้างหอสูงไว้ให้อยู่ แต่คู่แล้วไม่แคล้วกัน วันหนึ่งนางอุสาใช้มาลัยเสี่ยงทายลอยไปตามน้ำจนพบคู่คือท้าวบารสเจ้าชายเมืองปะโคเวียงงัวทั้งคู่แอบลักลอบได้เสียกัน
เมื่อพระยากงพานรู้ก็โกรธมาก สั่งให้ตัดหัวท้าวบารส แต่อำมาตย์ได้ห้ามไว้ พระยากงพานเลยออกอุบายให้ท้าวบารสสร้างวัดแข่งกับพระยากงพาน พนันกันว่าใครแพ้ต้องโดนตัดหัว กำหนดให้สร้างเสร็จก่อนดาวประกายพรึกขึ้นตอนเช้า พระยากงพานเกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากมาสร้างวัด
ส่วนท้าวบารสมีไพร่พลเพียงน้อยนิด พี่เลี้ยงนางอุสากลัวนางอุสาจะกลายเป็นหม้าย เลยออกอุบายเอาโคมไปแขวนไว้บนยอดไม้ใหญ่ ฝ่ายพวกพระยากงพานนึกว่าเป็นดาวประกายพรึกขึ้นก็เลยหยุดสร้างวัดทั้งที่ยังไม่เสร็จ ส่วนท้าวบารสสร้างวัดจนเสร็จ พระยากงพานแพ้ก็เลยโดนตัดหัวซะเอง
ต่อมาท้าวบารสพานางอุสามาอยู่ที่เมืองของท้าวบารส บรรดาชายาของท้าวบารสพากันอิจฉานางอุสา เลยให้โหราจารย์ทำนายว่าท้าวบารสมีเคราะห์ต้องออกเดินทางไปนอกเมืองหนึ่งปี พอท้าวบารสออกเดินทาง ชายาก็กลั่นแกล้งนางอุสา จนต้องหนีกลับเมืองพานแล้วก็ตรอมใจตาย พอท้าวบารสรู้เรื่องก็นำศพนางอุสามาฝัง ไม่นานท้าวบารสก็ตรอมใจตายตามกันไปแล้วก็ถูกฝังไว้ด้วยกัน
ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็เตรียมตะลุยสถานที่จริงกันได้เลย โบราณสถานในอุทยานฯภูพระบาทแบ่งเป็น 9 กลุ่มด้วยกัน ถ้าจะใช้เวลาในการชมทั้งหมดคงกินเวลาไม่ต่ำกว่า 2 -3วันเป็นแน่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จึงให้มัคคุเทศก์แนะนำว่าควรจะไปดูอะไรดี ซึ่งมัคคุเทศก์ก็แนะนำให้เดินชม “โบราณสถานกลุ่มที่ 3”ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและเดินทางไม่ไกลนัก
จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเลี้ยวซ้ายไปตามทางเดินที่รายล้อมด้วยไม้ใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าที่นี้ยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีพอๆกับที่รักษาโบราณสถาน ใช้เวลาเดินเพียง 5 นาที ก็มาถึง “คอกม้าน้อย” คอกม้าน้อยมีลักษณะเป็นเพิงหินที่มีการสกัดแต่งโดยฝีมือของมนุษย์ยุคหินและมนุษย์ยุคต่อๆมา พบใบเสมาปักอยู่โดยรอบทิศทั้งหก มีภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ด้วย ใกล้ๆกันเป็น “คอกม้าท้าวบารส” ซึ่งตามตำนานเชื่อว่าก่อนที่ท้าวบารสจะลอบเข้าไปหานางอุสาได้นำม้ามาผูกไว้ที่นี่
แต่ถ้าใครอยากดูภาพเขียนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยุคหินอย่างใกล้ชิด จะสมใจแน่ เมื่อเดินมาถึง “ถ้ำวัว-ถ้ำคน” ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วมาที่นี้จะเจออะไร ที่ “ถ้ำวัว” มีภาพสัตว์ คือ วัว 2 ตัว มีทั้งที่เป็นลายเส้นและระบายสีทึบถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นภาพวัวมีโหนก 3 ตัวซ่อนอยู่ด้วยสีจางๆ
ส่วน “ถ้ำคน” อยู่ทางเหนือใกล้ๆกันที่ถ้ำคนบนผนังเพิงผาเดียวกันเขียนด้วยสีแดง เป็นรูปคน 7 คน จูงมือกันเดินเดินเป็นแถว จากการสังเกตภาพคนบนผนังถ้ำมัคคุเทศก์บอกว่า ช่วยให้เราเรียนรู้ได้ว่ามนุษย์ยุคก่อนมีสรีระอย่างไร โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่องโป่งนูน อาจแสดงถึงว่าเป็นพวกที่ใช้กำลังเท้าอย่างมาก
ชมภาพเขียนสีแล้วจะให้ดีต้องแวะมาดูที่ “ถ้ำพระ” ด้วยเพราะที่นี่จะได้เห็นรูปสลักที่งดงามหลากหลายแบบ ถ้ำพระ เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดจากก้อนหินขนาดใหญ่วางทับซ้อนกันตามธรรมชาติ พบการสกัดหินก้อนล่างออกจนกลายเป็นห้องขนาดใหญ่ รวมไปถึงสลักรูปประติมากรรมทางศาสนาเอาไว้ในห้องอีกด้วย
ด้านนอกของถ้ำพระมีร่องรอยการปักใบเสมาไว้ตามทิศต่างๆ มีการสลักเป็นภาพพระพุทธรูปนั่งประทับภายในซุ้มที่มีการสลักลายอย่างงดงาม 2 ซุ้มด้วยกัน ด้านบนเป็นแถวพระพุทธรูปองค์เล็กๆยืนเรียงกันอยู่งดงามมาก ส่วนผนังห้องอีกด้านสลักเป็นภาพพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกขนาดใหญ่ 3 องค์ แต่ชำรุดแตกหักไปมาก พระพุทธรูปยืนองค์ในสุดมีร่องรอยการสลักหินตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นแบบผ้าโจงกระเบนสั้นมีลวดลายสวยงามบ่งบอกถึงการผลัดเปลี่ยนยุดสมัยของกลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่
โบราณสถานที่อุทยานฯภูพระบาทเอง ก็ประสบปัญหายุคมืดไม่ต่างจากโบราณสถานแห่งอื่น โบราณวัตถุจำนวนไม่น้อยถูกลักลอบนำออกไปจากพื้นที่ บางจุดในอุทยานฯเราจะพบว่ามีผนังจำนวนไม่น้อยที่ปรากฏเป็นโครงรูปพระพุทธรูปอยู่แต่ไร้ซึ่งพระพุทธรูป นั้นเพราะมีมือดีแอบมาเจาะไปขายเสียแล้ว
ละปัญหาของหายมาเที่ยวกันต่อดีกว่าจากถ้ำพระ มาที่ “บ่อน้ำนางอุสา” บ่อน้ำที่ตามตำนานนางอุสา-ท้าวบารส กล่าวว่าเป็นที่ซึ่งนางอุสามาเล่นน้ำก่อนพบท้าวบารส เป็นบ่อน้ำที่เจาะสกัดลงไปในพื้นหิน การเจาะๆเป็นรูปทรงกรวยให้ค่อยๆแหลมลึกลงไปในเนื้อหิน บ่อน้ำแห่งนี้สันนิษฐานว่าคงเป็นแหล่งน้ำบริโภคของคนในสมัยโบราณ หรือ อาจใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมบางอย่าง
และก็มาถึงไฮไลต์อย่าง “หอนางอุสา” ซึ่งอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน หอนางอุสานี้มีลักษณะเป็นเพิงหินสูงรูปดอกเห็ด สูงจากพื้นประมาณ 10 เมตร มีการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน ก่อเป็นห้องที่มีประตูและหน้าต่างขนาดเล็กอยู่ที่ผนังทั้งสอง ใช้ประกอบพิธีกรรมหรือบำเพ็ญเพียรได้เป็นอย่างดี มีใบเสมาหินขนาดกลางจนถึงใหญ่ปักล้อมรอบหอนางอุสาเอาไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
ปิดท้ายกลุ่มที่ 3 นี้ด้วยการชม “หีบศพนางอุสาและหีบศพท้าวบารส” ซึ่งตามตำนานกล่าวไว้ว่านางได้ตรอมใจตายหลังจากหนีกลับจากเมืองของท้าวบารส เนื่องจากถูกกลั่นแกล้ง ส่วนท้าวบารสเมือได้ทราบข่าวจึงออกติดตามนางอุสาจากนั้นพระองค์ก็ตรอมใจตายไปในที่สุด ลักษณะของหีบศพนี้ คือ การขุดเจาะหินจนเรียบขนาดใหญ่พอที่คนจะสามารถเข้าไปนอนอยู่ได้
และขากลับควรที่จะแวะสักการะ “พระพุทธบาทบัวบก” ที่มีองค์พระพุทธบาทบัวบก สร้างเลียนแบบพระธาตุพนมองค์เดิม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบอยู่ในรอยพระพุทธบาท ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในโบราณสถานของภูพระบาทเช่นกัน
อืม...มาถึงตอนนี้ไม่อยากได้ไทม์แมชชีนแล้ว เพราะว่าการได้มาเดินเที่ยวที่ภูพระบาท “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ก็ได้ย้อนเวลาไปในสมัยต่างๆสมใจแล้ว.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จากจังหวัดอุดรธานี เดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 2 ประมาณ 13 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายที่บริเวณบ้านดงไร่เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2021 เพื่อไปยังบ้านผือ เป็นระยะทาง 43 กิโลเมตร จากนั้นจึงเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 2438 เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร จนถึงบริเวณ สามแยกบ้านติ้ว ให้ขับรถตรงขึ้นเขาตามถนนลาดยาง ประมาณ 4 กิโลเมตร จะเข้าเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น. ค่าธรรมเนียมคนไทย 10 บาท ต่างชาติ 30 บาท
ที่พักใน จ.อุดรธานี ร้านอาหารใน จ.อุดรธานี
ของฝากจาก จ.อุดรธานี เทศกาลและงานประเพณี จ.อุดรธานี
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เยือนถิ่นอารยธรรมห้าพันปี ที่“อุดรธานี”
ยลโฉมกล้วยไม้หอม ที่ “อุดรซันไฌน์”