xs
xsm
sm
md
lg

สบายๆไปกับรถรางทัวร์ "ร้อยเอ็ด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถราง พาหนะนำเที่ยวเมืองร้อยเอ็ด
แม้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" จะเคยไปนู่นมานี่ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ แต่กับจังหวัด "ร้อยเอ็ด"นี่ นานๆถึงจะมีโอกาสไปเยือนสักครั้ง แต่สำหรับปีนี้เป็นปีพิเศษที่ทางจังหวัดร้อยเอ็ดจัดเป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเราจึงเดินทางกลับไปเยือนเมืองนี้อีกครั้ง(ในรอบหลายๆปี) พร้อมกับไม่ลืมที่จะขอฉายภาพทางการท่องเที่ยวบางมุมของเมืองร้อยเอ็ดมาเล่าสู่กันฟัง

สำหรับวิธีหนึ่งที่จะได้สัมผัสกับเมืองร้อยเอ็ดอย่างใกล้ชิดนั้น "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอแนะนำให้ลองมานั่งรถรางท่องเที่ยวที่จะพาเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดดู เพราะนอกจากจะได้ซอกแซกไปตามถนนหนทางอย่างปลอดภัยแล้ว ก็ยังจะได้รับความรู้จากมัคคุเทศก์เสียงใสๆ ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนรถอีกด้วย
บึงพลาญชัย สัญลักษณ์เมืองร้อยเอ็ด
จุดเริ่มต้นของรถรางท่องเที่ยวในครั้งนี้อยู่ที่ "บึงพลาญชัย" สถานที่ที่คนร้อยเอ็ดบอกว่า ถ้าไม่ได้เห็นก็ถือว่ายังมาไม่ถึงร้อยเอ็ด บึงกว้างกว่า 50 ไร่แห่งนี้อยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด และถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนี้ด้วย แต่เดิมนี้เคยเป็นบึงตื้นเขิน มีต้นหญ้าต้นกกขึ้นรก ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดคนแรกคืออำมาตย์เอกสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) จึงได้เกณฑ์ไพร่พลมาช่วยกันขุดลอกบึงพลาญชัยเพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง การขุดลอกบึงนั้นใช้เวลากว่า 2 ปีจึงสำเร็จ และดินที่ขุดขึ้นมาได้ก็นำมาถมเป็นถนนรอบบึงพลาญชัยนั่นเอง ต่อมาก็ได้มีการขุดลอกคูคลองอีกเช่นกัน และดินที่ได้ก็นำมาถมทำเป็นเกาะเล็กๆกลางบึงพลาญชัยได้อีกด้วย

และเกาะหนึ่งในนั้นก็ยังเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดร้อยเอ็ดไว้อีกด้วย โดยเสาหลักเมืองนี้ก็ขุดพบเมื่อครั้งที่มีการขุดลอกบึงพลาญชัยครั้งแรกนั่นเอง เสาหลักเมืองนี้เป็นเสาไม้ตะเคียน ปลายกลมมน ยาวประมาณเมตรเศษๆ ตั้งอยู่กลางบึงพลาญชัย เป็นที่เคารพของคนร้อยเอ็ดเรื่อยมา
เสาหลักเมืองร้อยเอ็ด
บริเวณโดยรอบบึงพลาญชัยยังมีจุดพักผ่อนหย่อนใจอีกหลายจุดที่รถรางพาวิ่งผ่าน มีลานออกกำลังกายและลานกีฬาเยาวชน มีสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ซึ่งมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทร์ทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ประดิษฐานไว้ และมีพระพุทธโคดมมงคลศิริพัฒนาบึงพลาญชัย พระพุทธรูปปางลีลา ประดิษฐานไว้กลางสวนพฤกษศาสตร์ นอกจากนั้น ที่นี่ก็ยังเป็นที่ตั้งของ "สระบริสุทธิ์" สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 5 สระโบราณของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยา เป็นต้น

ออกจากบึงพลาญชัยมาแล้ว รถรางพา "ผู้จัดการท่องเที่ยว" มาแวะที่ "สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ" ให้ได้ลงไปยืดแข้งยืดขาชมปลาว่ายน้ำกัน สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่เมืองร้อยเอ็ดนี้เป็นสถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคอีสาน ซึ่งแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็น่าสนใจด้วยปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ ทั้งปลาท้องถิ่น และปลาน้ำจืดที่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก เช่น ปลาหมอสี ปลาจระเข้ ปลาเรดเทล แคทฟิช หรือปลาดุกยักษ์อเมซอน ปลาตะเพียนทอง ปลาหว้าหน้านอ และ ฯลฯ โดยปลาเหล่านี้ก็จะอยู่ในตู้กระจกจำนวน 24 ตู้ และอยู่ในตู้ปลาขนาดใหญ่อีกหนึ่งตู้ ซึ่งตู้ปลาตู้ใหญ่นี้ก็ไม่ธรรมดา เพราะมีอุโมงค์แก้วลอดผ่านตู้ปลาให้ผู้ที่มาชมรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในตู้ปลาด้วย โดยอุโมงค์นี้ก็มีความยาวประมาณ 8 เมตรด้วยกัน
ชมปลามากมายที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืด
เสร็จจากสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดแล้ว รถรางก็เริ่มเคลื่อนตัวไปตามเส้นทางท่องเที่ยวในตัวเมืองร้อยเอ็ดอีกครั้ง โดยรถได้วิ่งผ่าน "วัดบึงพระลานชัย" ซึ่งเป็นพระอารามหลวง ในสมัยก่อนเมื่อทหารออกไปทำศึกสงครามแล้วชนะกลับมา ก็จะมาทำพิธีล้างคราบเลือดจากดาบใน "สระชัยมงคล" สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด โดยเชื่อกันว่า เมื่อทำพิธีแล้ว วิญญาณของคนที่ถูกฆ่าด้วยดาบนั้นจะไม่ตามมาหลอกหลอน

รถรางวิ่งผ่านบริเวณถนนเสนาเริ่มคิด พร้อมๆกับที่มัคคุเทศก์ประจำรถเล่าว่า ในบริเวณเมืองร้อยเอ็ดนี้ยังเป็นแหล่งรอยอารยธรรมโบราณในสมัยทวาราวดี โดยได้พบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น กระดูกมนุษย์โบราณ กระดูกสัตว์จำพวกวัวควาย และกำไลโลหะสำริด จึงสันนิษฐานได้ว่าเมืองร้อยเอ็ดเคยมีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาอย่างมาก สังเกตจากหลักฐานที่พบ ไม่ว่าจะเป็นสถูปทรงบัวเหลี่ยม ใบเสมาหิน เสาหินแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งสิ้น
อุโมงค์ในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืด
คราวนี้ได้ลงมายืดเส้นยืดสายกันอีกครั้งที่ "วัดเหนือ" วัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดร้อยเอ็ด และเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนโบราณที่มีอายุกว่า 1,000 ปีล่วงมาแล้ว ที่วัดเหนือนี้มีเสาหินแปดเหลี่ยม สูงประมาณ 1.50 เมตร ลักษณะคล้ายศิวลึงค์ของทางศาสนาพรหม ตรงฐานมีจารึกอักษรปัลลวะ ซึ่งเป็นอักษรของอินเดียโบราณ ถอดความได้ว่า "สถานที่ศักดิ์ผู้ไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้า" จึงสันนิษฐานว่าเสาหินแปดเหลี่ยมนี้มีหน้าที่คล้ายใบเสมา คือใช้ปักบอกอาณาเขตนั่นเอง

ภายในวัดยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ "สถูปทรงบัวเหลี่ยม" หรือ "พระธาตุยาคู" เป็นสถูปเก่าแก่คู่วัดมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ของเดิมพังทลายไปแล้ว แต่ได้พระเณรได้ช่วยกันล้างก้อนอิฐและบูรณะขึ้นใหม่ และต่อมาก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากจังหวัดเชียงใหม่มาบรรจุในพระธาตุยาคูนี้ด้วย และโบราณวัตถุสำคัญอีกอย่างหนึ่งในวัดก็คือ ใบเสมาหินที่ขุดค้นพบในบริเวณวัด โดยใบเสมานั้นตั้งล้อมรอบสถูปยาคูอยู่ ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 6 ใบเท่านั้น
พระธาตุยาคูที่วัดเหนือ
"ผู้จัดการท่องเที่ยว" กำลังถ่ายรูปอยู่เพลินๆ ก็ได้ยินเสียงหวูดรถรางร้องเตือนว่าได้เวลารถออกแล้ว จุดมุ่งหมายต่อไปของเราก็ยังคงเป็นวัดอีกเช่นเคย แต่ในระหว่างทางเราก็ยังผ่านสถานที่ที่มีความน่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น วัดคุ้มวนาราม วัดซึ่งตั้งอยู่ในจุดที่สูงที่สุดของเมืองร้อยเอ็ด มีคำกล่าวไว้ว่า "น้ำท่วมมิดปลายโบสถ์วัดคุ้มคราใด ครานั้นเมืองร้อยเอ็ดทั้งเมือง จะจมอยู่ภายใต้บาดาล" และผ่านวัดสระทอง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระสังกัจจายน์ พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดร้อยเอ็ด ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านนั้นก็ถึงขนาดว่า หากคนร้อยเอ็ดมีเรื่องมีราวกันก็จะไม่นิยมไปขึ้นศาล แต่จะมาสาบานกันต่อหน้าพระสังกัจจายน์แทน ว่ากันว่า หากผู้ใดผิดคำสาบานก็จะตายด้วยโรคท้องมาน

จากวัดสระทองรถรางก็วิ่งผ่านวัดกลางมิ่งเมือง โดยสถานที่ตั้งของวัดแห่งนี้แต่เดิมเคยเป็นสถานที่เตรียมสร้างเทวาลัยของขอมในสมัยเจ้าชัยวรมัน ยุคที่ขอมเรืองอำนาจ แต่ยังไม่ทันสร้างขอมก็เสื่อมอำนาจลงเสียก่อน ยังไม่ทันสร้างเสร็จก็ปล่อยให้รกร้าง และต่อมาก็ได้มีการสร้างวัดกลางฯขึ้นมาใหม่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความโดดเด่นอยู่ที่สิม หรือโบสถ์ของวัด ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง
พระยืนขนาดใหญ่ที่วัดบูรพาภิราม
ทีนี้ก็มาถึงวัดที่เป็นจุดมุ่งหมายของเราแล้ว นั่นก็คือ "วัดบูรพาภิราม" ความโดดเด่นของวัดนี้สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เพราะที่นี่มีพระพุทธรูปองค์สูงใหญ่ตั้งอยู่ภายในวัด พระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า "พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี" สร้างโดยช่างพื้นเมือง ทีแรกตั้งใจจะให้องค์พระมีความสูง 101 ศอกเหมือนชื่อจังหวัด แต่สร้างไปสร้างมาความสูงกลับเกินไปเป็น 118 ศอก ติดอันดับพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในประเทศ และสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ชาวร้อยเอ็ดจึงเรียกวัดนี้ว่า "วัดพระเจ้าใหญ่"

และบริเวณด้านหลังองค์พระก็บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อันเชิญมาจากประเทศอินเดียให้ประชาชนได้สักการะ และใต้ฐานองค์พระเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญต่างๆ อีกทั้งยังมีฆ้องอยู่ใบหนึ่ง เชื่อกันว่าถ้าใครลูบแล้วเกิดเสียงดังกังวาน ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีบุญมาก ใครอยากทดสอบบุญกุศลตัวเองก็ลองมาลูบฆ้องที่วัดบูรพาภิรามนี้ได้
ภาพจำลองบรรยากาศงานบุญผะเหวดในพิพิธภัณฑ์
หลังจากที่ได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจบางส่วนจากการนั่งรถรางชมเมืองแล้ว เราก็มาสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองร้อยเอ็ดทั้งหมดกันที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด" ซึ่งก็เป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของการนั่งรถรางอีกด้วย โดยภายในพิพิธภัณฑ์ฯ นั้นก็ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ชั้นแรกที่ทำให้เราได้รู้จักกับบุคคลสำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ด เช่นเจ้าเมืองคนแรก ผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก ศิลปินแห่งชาติ เป็นต้น

ขึ้นมาชั้นที่ 2 เป็นส่วนจัดแสดงข้าวของโบราณวัตถุต่างๆของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่เป็นหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ ข้าวของที่พบก็เช่น ภาชนะดินเผา หม้อ ไหต่างๆ มีรูปจำลองกู่กาสิงห์ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัด มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทหินแบบขอมบาปวน และมีส่วนจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดไม่น้อยกว่าร้อยปีมาแล้ว
ผ้าทอร้อยเอ็ด หนึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้าน
คราวนี้ขึ้นไปดูกันที่ชั้น 3 ชั้นบนสุดซึ่งจัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิต ประเพณี และงานศิลปหัตถกรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อขึ้นไปถึงเชื่อว่าทุกคนจะต้องหยุดชมภาพจำลองบรรยากาศงานบุญผะเหวด ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชาวร้อยเอ็ด โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม โดยภาพจำลองนั้นแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวร้อยเอ็ดได้เป็นอย่างดี และนอกจากนั้น บนชั้น 3 นี้ก็ยังมีการจัดแสดงผ้าทอร้อยเอ็ด ซึ่งงดงามและมีประวัติมายาวนานอีกด้วย

ก็เป็นอันจบเส้นทางท่องเที่ยวเมืองร้อยเอ็ดแต่เพียงเท่านี้ รถรางพาเรากลับมายังบึงพลาญชัย ซึ่งเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง ต่างกันตรงที่ว่า เมื่อมาถึงปลายทางแล้ว "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองร้อยเอ็ดนี้ขึ้นอีกเยอะเลย

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

ผู้ที่สนใจนั่งรถรางชมเมืองร้อยเอ็ด รถรางจะมารอรับที่หน้าบึงพลาญชัย มีให้บริการทุกวันพุธ-อาทิตย์ โดยมีค่าบริการ เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 30 บาท สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สภาวัฒนธรรม-สำนักวัฒนธรรม จังหวัดร้อยเอ็ด โทร.0-4352-7814, 08-1262-2868, 08-7326-7311

กำลังโหลดความคิดเห็น