แม้ช่วงนี้กระแสข่าวเรื่องการถูก ถอดถอน จากความเป็นมรดกโลกของอยุธยา จะซาลงไปบ้าง เพราะมีเรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเข้ามาเป็นประเด็นที่ร้อนกว่า แต่อย่างไรก็ตามปัญหาศึกชิงมรดกโลกในอยุธยาก็ใช่ว่าจะหมดไป
แม้ว่าหลังจากการตรวจเยี่ยมพื้นที่ของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบางมุมอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนที่ยั่งยืนหรือไม่
โดยล่าสุดสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ ทิวทัศน์ที่เคยมีร้านค้าบดบังบริเวณหน้าวิหารพระมงคลบพิตร จะได้รับการรื้อถอนออกไปแล้วก็ตาม เพราะพ่อค้า แม่ค้า ส่วนหนึ่งยอมย้ายไปรวมกันที่บริเวณด้านหลังวิหารฯ แต่ก็ยังมี พ่อค้า แม่ค้า บางส่วนที่ยังคงยืนยันจะปักหลักขายของอยู่ ณ ที่เดิม โดยเฉพาะกลุ่มที่ขายของอยู่ริมกำแพงรั้ววัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งพวกเขาให้เหตุผลว่าพื้นที่เต็ม ไม่มีที่รองรับ
ศึกคาดเชือก
เมื่อสาวถึงปัญหาของเรื่องนี้ วรณัย พงศาชลากร นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวถึงประเด็นปมปัญหาของข่าวการที่มรดกโลกอยุธยาจะถูกถอดถอนว่า ปมประเด็นที่แท้จริงเกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้งของสองหน่วยงานคือ กรมศิลปากร ปะทะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรมศิลป์คือหน่วยงานที่เน้นการบูรณะอนุรักษ์ ส่วนอปท.คือกลุ่มคนอยุธยารุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาบ้านเมืองของเขา สองสิ่งนี้จึงสวนทางกัน
"สำหรับข่าวที่ออกมา ฝ่าย อปท.เขาก็โทษว่ากรมศิลป์ปล่อยข่าว เพื่อที่จะทำลายอปท.ในเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ปกติตามกฎหมายกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติ คือ มรดกโลกต้องกระจายของไปสู่ท้องถิ่น แต่ว่ากรมศิลป์ไม่ยอมให้ ความจริงผลประโยชน์ในอยุธยามีเยอะมาก ทั้งเรื่องของการบูรณะ เรื่องของการเก็บตั๋วค่าเข้าชม รายได้มันมหาศาล"วรณัยกล่าว
แม้ว่าขณะนี้ดูเหมือนความรุนแรงจะลดลง เพราะกระแสข่าวไม่ถูกกระพือโหมแล้ว แต่ลึกๆก็ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ เมื่อถามว่าคนอยุธยาคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ วรนัยวิเคราะห์ว่า บ้านใคร ใครก็รัก คนอยุธยาก็รักมรดกโลกอยุธยาเหมือนกัน แต่ปัญหาก็คือสิ่งที่ทำไปแล้วมันเยอะมาก สิ่งก่อสร้างมูลค่าเป็นพันล้าน ไม่ว่าจะเป็นถนน ร้านค้า อาคาร การบริการเรื่องอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก
วรณัยยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้เรื่องการถูกถอดถอนมรดกโลกไม่ใช่สิ่งที่น่าห่วง เพราะว่าการถอดถอนสถานที่สักแห่งหนึ่งออกจากการเป็นมรดกโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีปัญหาแล้วยูเนสโกจะถอดถอนเลย แต่เขาจะให้เวลา 3-4 ครั้งในการแก้ไขปัญหา
มีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน เช่น เริ่มจากการตักเตือน ซึ่งยูเนสโกก็ไม่เคยส่งจดหมายตัดเตือนหรือว่ากล่าวอะไรเกี่ยวกับอยุธยาเลย เรื่องนี้คนของกรมศิลป์ที่รับผิดชอบอยู่ก็ยืนยันได้ แต่ปัญหาสำคัญที่เราต้องเร่งกันแก้ไข คือ เมือง ที่มันซ้อนทับกันจริงๆ เราอยากได้มรดกโลกไว้ แต่ว่าในขณะเดียวกันประชาชนก็เลือกอปท.ที่เขาชอบมาพัฒนาเมือง
การถอนมรดกโลกต้องร้ายแรงมากๆคือ บุกรุกโดยควบคุมไม่ได้ แต่ยูเนสโกไม่เคยติติงอะไรอยุธยา ตื่นตูมไปเองตามกระแส ยูเนสโกไม่ใช่องค์กรโง่ ที่ทำเรื่องวัฒนธรรมก็จะวัฒนธรรมอย่างเดียว เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าการรักษาโบราณสถานมันต้องมีเรื่องการท่องเที่ยวมาเกื้อกูล อย่าไปตกใจว่าการท่องเที่ยวทำลาย เพระการจัดระบบการท่องเที่ยวที่มันล้มเหลวมันก็ไม่ได้ล้มเหลวที่อยุธยาที่เดียว แต่ล้มเหลวทั้งประเทศ
โบราณสถานต้องมีชีวิต โบราณสถานต้องอยู่คู่กับคน แต่คนต้องมีคู่มือเรียนรู้ที่จะอยู่คู่กับโบราณสถาน ร่วมมือปรับเปลี่ยน แต่ไม่เห็นด้วยกับการไล่คนออกจากวัด ทำไหมวัดโบราณห้ามมีคนอยู่เหรอ วัดต้องประกอบด้วยคนวัดที่ไม่มีวัด คือ วัดร้าง คนต้องให้ความเคารพและร่วมมือต่อโบราณสถานเช่นกัน
"ถ้าต้องลงประชามติว่าจะให้เลือกระหว่างความเป็นเมืองมรดกโลกกับการทำมาหากินของพวกเขา เขาคงเลือกการทำมาหากินมากกว่า"วรณัยตั้งข้อสังเกต
ปัญหาที่เริ่มขยายวงกว้าง
ด้าน เมธาดล วิจักขณะ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในแหล่งมรดกโลกอย่างอยุธยา ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกเมื่อปีพ.ศ.2534 ได้เป็นมรดกโลกเพราะมีคุณค่าตามหลักเกณฑ์ข้อที่สาม เป็นแหล่งรวบรวมศิลปกรรมอันทรงคุณค่าเป็นตัวแทนถึงความเยี่ยมในการสร้างสรรค์งานศิลปะและการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องทางสถาปัตยกรรมไทย
"เหตุผลแรกที่ยูเนสโกให้คือ อยุธยาเป็นเมืองน้ำ เป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขาย ดังนั้นอยุธยามีความสำคัญพอแน่นอน ควรค่าแก่การเป็นมรดกโลก แต่มันก็มีปัญหาปรากฏให้เห็น อยุธยาเปรียบเป็นเมืองหลวงที่ตายแล้ว เพราะโดนเผาทำลาย ซึ่งแตกต่างจากหลวงพระบางของลาวที่ยังมีลมหายใจอยู่ ดังนั้นแนวทางการอนุรักษ์และวิถีชีวิตของผู้คนก็ต่างกันแล้ว ตอนนี้เราพยายามควบคุมได้เต็มที่แค่ 1,810 ไร่ ที่ถูกจำกัดเป็นพื้นที่มรดกโลกตามในอนุสัญญา แต่นอกพื้นที่นั้นท้องถิ่นเป็นคนจัดการเราก็ดูแลไม่ได้แล้ว"ผอ.เมธาดลกล่าว
ส่วนทางด้าน ว่าที่ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า อยากเสนอรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรมตรวจสอบการใช้จ่ายกองทุนพิทักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร เพราะที่ผ่านมาการบูรณะโบราณสถานรัฐบาลมีเงินงบประมาณให้อยู่แล้ว
ดังนั้นรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมโบราณสถานที่พระนครศรีอยุธยาปีละ 25 ล้านบาท กรมศิลปากรเอาไปทำอะไรบ้าง และคนอยุธยาได้อะไรจากรายได้ตรงจุดนี้ ทางที่ดีควรนำเงิน 25 ล้านบาทต่อปีคืนให้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อใช้พัฒนาปรับปรุงโบราณสถาน อย่างไรก็ตามท้องถิ่นพร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
8 ประเด็น เร่งปรับปรุง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อ นาย อนุสรณ์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมประชุมกับทางตัวแทนของกรมศิลปากรและหน่วยงานในพื้นที่ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ผลสรุป ถึง 8 ประเด็นปัญหา ที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงเป็นการเร่งด่วน
คือ 1.เรื่องให้บริการนักท่องเที่ยวต้องดีกว่าเดิม 2.ต้องปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์จัดระเบียบร้านค้า ลานจอดรถบริเวณคุ้มขุนแผนและรอบวิหารพระมงคลบพิตร ซึ่งถือเป็นใจกลางของนครประวัติศาสตร์ 3.ต้องปรับปรุงพื้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครทราบรมราชชนนีและโบราณสถานอื่นๆ
4.จัดระเบียบพื้นที่ริมถนนโรจนะ ชีกุน และถนนสายอื่นๆเนื่องจากการรุกล้ำผิวจราจรและฟุตบาท 5.ปรับปรุงพื้นที่โดยรอบของนครประวัติศาสตร์บริเวณวัดวรโพธิ์ วัดเชษฐาราม วัดพระนอนโลกยสุธา เสื่อมโทรม 6.มีการทำลายร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของพระนครศรีอยุธยา เช่น การถมที่ทับคลองโบราณและการบุกรุกในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์มีหลายรายยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
7.ยังไม่มีการใช้กฎหมายบังคับใช้ในการควบคุมการขออนุญาตสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่เกาะเมืองอย่างจริงจัง 8.จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับรัฐบาลและท้องถิ่นเพื่อนเข้ามาบริหารจัดการดูแลรักษามรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่อง
ค่อยเป็นค่อยไป
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศิลปากรรายหนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา สั่งการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรง คุณวุฒิที่มีความรู้โบราณสถานมาร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ในส่วนของกรมศิลปากรเสนอแผนดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ และปรับปรุงอาคารศาลากลางหลังเก่าเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่ต้องใช้งบ 60-70 ล้านบาท สำหรับตกแต่งปรับภูมิทัศน์ให้แล้วเสร็จในปี 2552
"การถอดถอนมรดกโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ขอให้คนไทยใจเย็นๆ อย่าได้กังวล ที่ผ่านมายูเนสโกยังไม่เคยทำการถอนมรดกโลกแห่งใดจะมีเพียงที่ประเทศโอมานเท่านั้นที่ทางเจ้าของประเทศขอถอนเอง เพราะมรดกโลกทับรอยน้ำมันเขาเลือกน้ำมันมากกว่ามรดกโลก ซึ่งทางยูเนสโกก็อนุญาตให้ถอนออก นอกจากนั้นที่เหลือยังไม่มีประเทศใดถูกถอด มีแต่คำเตือนว่าอยู่ในภาวะอันตราย ซึ่งอยุธยาก็ยังไม่เคยถูกขึ้นบัญชีแดงแต่ประการใด" แหล่งข่างระดับสูงรายหนึ่งกล่าว
ณ วันนี้ปัญหาของแหล่งมรดกโลกอย่างอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จึงเป็นปัญหาที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขจากทุกฝ่าย ปรับวิสัยทัศน์ของชุมชนให้เข้าใจถึงความสำคัญของมรดกโลก เพราะมรดกโลกไม่ใช่เพียงป้ายเกียรติยศธรรมดา หากต้องแบกรับหน้าตาของประเทศไว้ด้วย