xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯ ไต่สวน “พระวิหาร” มาราธอน ขรก.สาย “นพเหล่” ป้องเขมรสุดชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุวัตร อภัยภักดิ์(ซ้ายสุด) - นิติธร ล้ำเหลือ(ขวาสุด)
ศาล ปค.ไต่สวน “พระวิหาร” มาราธอน อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ยันแถลงการณ์ไทย-เขมรไม่ถือว่าไทยสละสิทธิทวงคืนปราสาท แต่ไทยหมดสิทธิเพราะศาลโลกชี้ขาดและเลยกำหนด 10 ปี อ้างน้ำขุ่นๆ มติ ครม.แก้ไข “แผนที่” เป็น “แผนผัง” เพราะแปลผิด แต่ไม่ต้องแก้ฉบับภาษาอังกฤษ เพราะ map แปลว่าแผนผังเช่นกัน ด้านทูตไทย กรุงปารีส สวมหัวใจเขมร ยันศาลโลกชี้แล้วปราสาทอยู่ในเขตกัมพูชา ส่วนทางขึ้นก็อยู่ฝั่งกัมพูชาเช่นกัน ขณะทนายกู้ชาติชี้แผนที่แนบท้ายหมกเม็ด มั่นใจศาลสั่งคุ้มครองแน่

วานนี้ (26 มิ.ย.) คณะตุลาการศาลปกครองได้เปิดการไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ กับพวกรวม 9 คน ยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กับพวกรวม 2 ราย และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการกระทำของ รมว.ต่างประเทศ ที่เสนอเรื่องต่อ ครม. และการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชาที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นอันสิ้นผลชั่วคราว และให้ยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ ซึ่งการไต่สวนครั้งนี้ศาลฯ ได้อนุญาตให้ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้ารับฟังตามที่ฝ่ายนายสุวัตรร้องขอ

การไต่สวนได้ใช้เวลาร่วม 12 ชั่วโมง โดยช่วงเช้าเป็นการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ฟ้อง ซึ่งนายสุวัตร และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ เป็นผู้ชี้แจงพร้อมกับนำเสนอเอกสารหลักฐานจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับทางประวัติศาสตร์ของปราสาทพระวิหาร ซึ่งประกอบไปด้วยแผนที่ระบุแนวเขตชายแดน และแผนที่พื้นที่ทับซ้อน รวมถึงข้อโต้แย้งทางสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และวีซีดีรายละเอียดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านที่มีคำถอดความอย่างละเอียดโดยยืนยันเนื้อหาในแถลงการณ์ถือเป็นสนธิสัญญาต่อศาล พร้อมกับยืนยันว่า แถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชา เกิดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นตัวแทนของรัฐ อันมีผลต่อกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 ขัดต่อหลักบริหารราชการแผ่นดิน และที่ต้องขอให้ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพราะจะมีการเสนอคำแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อยูเนสโกช่วงวันที่ 2-10 ก.ค. หากเสนอไปแล้วจะมีการแก้ไขใดๆ ลำบาก โดยก่อนหน้านี้ไทย-กัมพูชาก็มีปัญหาเรื่องดินแดนกันอยู่ ดังนั้นหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองก็จะไม่กระทบต่อสิทธิของกัมพูชาที่จะไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก เพราะก่อนหน้ากัมพูชาก็ดำเนินการมาแล้ว และยังดำเนินการได้อีก

ขณะที่ในช่วงบ่ายเป็นการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกฟ้องรวม 3 ปากที่ได้รับมอบจากนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศประกอบด้วยนายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูต ณ กรุงปารีส ปฏิบัติราชการกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และนายพิษณุ สุวรรณะชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก

โดยคณะตุลาการฯ และพยานฝ่ายผู้ฟ้องได้มีการซักถามอย่างหนักในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เหตุผลการมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. แก้ไขคำว่า “แผนที่” ที่ระบุอยู่ในมติ ครม.วันที่ 17 มิ.ย.เป็น “แผนผัง” และมีการแก้ไขถ้อยคำดังกล่าวที่เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษในแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งมีการลงนามไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย..หรือไม่ รวมทั้งมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวแผนที่ที่ได้มีการรับรองไปพร้อมกับแถลงการณ์แล้วด้วยหรือไม่ รวมทั้งเหตุผลที่ศาลโลกมีคำพิพากษาให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา การดำเนินการขอสงวนสิทธิในการโต้แย้งคำพิพากษาศาลโลก และสิทธิในการเรียกคืนปราสาทเขาพระวิหาร ที่นายถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศขณะนั้น ยื่นต่อศาลโลก สหประชาชาติ ระยะเวลาของการสงวนสิทธินั้นมีมากน้อยเพียงไร รวมถึงแนวเขตในแผนที่แนบท้ายที่ระบุไว้เป็น N1 N2 N3 และถ้าศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาจะมีผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐหรือไม่อย่างไร

ซึ่งนายกฤตใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง ชี้แจงว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร แต่แผนที่ที่จะยื่นกลับพบว่ามีการนำพื้นที่ทับซ้อนที่ไทยก็อ้างสิทธิเป็นเจ้าของไปเสนอด้วย ทำให้ไทยต้องขอเจรจา จึงเป็นที่มาของแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชา โดยระบุว่าพื้นที่เฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารที่กัมพูชาจะขอขึ้นเป็นมรดกโลก

**ไปน้ำขุ่นๆ แก้ มติ ครม.แต่ไม่แก้แถลงการณ์ภาษาอังกฤษ

ส่วนมติ ครม.ที่มีการแก้ไขคำว่า “แผนที่” เป็น “แผนผัง” นั้นก็เพราะมีการแปลผิดในตอนแรกหลังแก้ไขแล้วจึงไม่ได้มีการดำเนินการยื่นขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขแถลงการณ์ร่วมฯ ที่ได้มีการลงนามไปแต่อย่างใด เพราะก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวแผนที่ที่รับรองไปก่อนหน้านั้นด้วย รวมทั้งก็ไม่ได้มีการแก้ไขถ้อยคำภาษาอังกฤษของคำว่า “MAP” ที่แปลว่า แผนที่ในแถลงการณ์ร่วมเป็น คำว่า “LAYOUT” ที่แปลว่าแผนผัง เพราะคำว่า “MAP” นั้นก็สามารถแปลว่าแผนผังได้เช่นกัน

ส่วนเรื่องการขอสงวนสิทธิในการโต้แย้งและทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารนั้น สิ่งที่ศาลโลกมีคำพิพากษาให้เป็นของกัมพูชาคือเฉพาะตัวปราสาท ไม่ได้พูดถึงเรื่องเส้นเขตแดน จากนั้นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีมติ ครม.ให้ส่งคืนพื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร โดยกรมแผนที่ทหารขณะนั้นได้ยกร่างแผนที่ขึ้น ซึ่งก็เป็นฉบับที่นายถนัด ใช้ประกอบการยื่นคำขอสงวนสิทธิในการโต้แย้งและทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร โดยในแผนที่จะระบุถ้อยคำของนายถนัดว่า ประเทศไทยได้สละอธิปไตยเหนือดินแดนตัวปราสาทเขาพระวิหารให้กับกัมพูชา ซึ่งเป็นการยืนยันว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตแดนกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 โดยการทำแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่ใช่เป็นการยอมรับการสละสิทธิการโต้แย้งและการทวงคืนปราสาทฯ ที่นายถนัดได้ดำเนินการไว้ เนื่องจากตามข้อเท็จจริงแล้ว ธรรมนูญศาลโลกที่ใช้ตัดสินคดีก็ระบุไว้ในข้อ 60 ว่า คำพิพากษาศาลโลกถือเป็นที่สุด การจะโต้แย้งต้องมีข้อเท็จจริงใหม่ และกระทำได้ภายในเวลา 6 เดือน-10 ปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษา ซึ่งเวลานี้พ้นระยะเวลา 10 ปีไปแล้วดังนั้นสิทธิที่ขอสงวนไว้หมดอายุความไปแล้ว

**อ้างไม่เซ็นแถลงการณ์เสียดินแดนแน่

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่านับแต่ปี 2505 จนถึงก่อนมีแถลงการณ์ร่วมฯ ไทยไม่เคยมีการทำข้อตกลงใดๆ ที่เป็นการยอมรับว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ถ้าหากว่าไทยไม่ยอมลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ก็จะทำให้ทางกัมพูชานำแผนที่ปราสาทเขาพระวิหาร ที่จัดทำขึ้นเองและมีการรุกล้ำพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนฯ และถ้ายูเนสโกรับรอง ก็จะเท่ากับว่าไทยยอมรับว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าว รวมทั้งถ้าจะให้เนื้อหาของแถลงการณ์มีเฉพาะข้อ 1 ที่ระบุเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนตัวปราสาทอย่างเดียวก็เห็นว่า จะทำให้ไทยเสียประโยชน์เกี่ยวกับการบริหารพื้นที่ทับซ้อนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ และสิทธิในการร่วมดูแลปราสาทเขาพระวิหารที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมีการทำเป็นข้อตกลงร่วมกันอยู่ในแถลงการณ์ร่วมฯ ดังนั้น ถ้าศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่ออำนาจอธิปไตยของไทยในพื้นที่ที่เราอ้างสิทธิทับซ้อนอยู่ โดยจะกระทบอย่างยิ่งเพราะรัฐบาลไปเจรจาเพื่อรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนไว้

“การที่ไทยลงนามในแถลงการณ์ร่วมก็เป็นเพียงการสนับสนุนของไทยต่อประเทศกัมพูชาในฐานะที่เป็นสมาชิกในองค์การยูเนสโกด้วยกันเท่านั้น แถลงการณ์ฯ ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อสิทธิเหนือดินแดนที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อน” นายกฤตกล่าว

**อ้างศาลโลกให้ “พระวิหาร” อยู่ในเขตกัมพูชา

ด้าน นายเชิดชู ชี้แจงต่อศาลโดยยืนยันว่า ศาลโลกพิพากษาว่าเขาปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยประเทศกัมพูชา ซึ่งหมายถึงตัวประสาท และดินแดนบริเวณนั้นที่อยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลโลกจะวินิจฉัยเรื่องปราสาทฯได้วินิจฉัยเรื่องดินแดนก่อน และได้มีมติ 9 ต่อ 3 เห็นว่าปราสาทฯ ตั้งอยู่ภายใต้อาณาเขตกัมพูชา โดยที่ศาลโลกก็ไม่ได้กำหนดเส้นแบ่งเขตแดนอยู่ในพิกัดใด ตรงนี้ทำให้เกิดการตีความและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเขตแดน ทั้งนี้ ครม.ปี 2505 ตอนนั้นมี 2 ความเห็น คือ 1.ควรคืนไปลักษณะเดียวกันกับในแผนที่ 2. คืนไปให้น้อยที่สุดเพราะศาลไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่ง ครม.ชุดนั้นได้เลือดหนทางที่ 2. ซึ่งสมัยก่อนนั้นเคยมีรั้วลวดหนามอยู่ แต่ปัจจุบันไม่มีซากรั้วเหลืออยู่แล้ว

ส่วนถ้าไม่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมนั้นก็จะมีผลให้กัมพูชาจะใช้แผนที่เก่าที่มีการรุกกล้ำเขตแดนไทย ส่งไปยังคณะกรรมการมรดกโลก และถ้ายูเนสโกขึ้นทะเบียนให้ไทยก็จะเสียดินแดน พอถึงตอนนั้นอาจจะมีการเผชิญหน้ากัน เพราะไทยจะสูญเสียอาณาเขต ดังนั้นทางไทยจึงให้ทางกัมพูชาไปดำเนินการปรับแผนที่ที่ใช้ในการยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกใหม่ หลังจากนั้นทางกัมพูชาก็เอามาให้ไทยดูจึงพบว่าเป็นไปตามที่เราต้องการคือให้กำหนดเขตรอบตัวประสาทพระวิหารเท่านั้นที่ขึ้นเป็นมรดกโลก ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ได้สูญเสียผลประโยชน์อะไรแม้แต่น้อย แม้แต่แผ่นดินเราก็ไม่ได้สูญเสีย ส่วนกรณีแผ่นดินที่มีข้อพิพาทตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ที่จะมีคณะกรรมการร่วมกันมาตรวจสอบเกี่ยวกับชายแดนไทยที่มีปัญหาจำนวน 798 กม. ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการฯกำลังตรวจสอบอยู่ จ.จันทบุรี

**ทางขึ้นก็อยู่ฝั่งเขมร

นายเชิดชู ยังชี้แจงถึงกรณีที่เข้าใจกันว่า ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาแต่ทางขึ้นอยู่ในฝั่งไทยว่า เท่าที่มีการศึกษามา ตัวปราสาทฯ ศาลโลกตัดสินว่าเป็นของกัมพูชา ส่วนทางขึ้นที่มีทางราบจุดพักนักท่องเที่ยวนั้นอยู่ในฝั่งไทย แต่ทางขึ้นที่เป็นบันไดปราสาทอยู่ในฝั่งเขมร และบริเวณหน้าผาก็มีทางขึ้นโบราณแต่เป็นทางขึ้นที่ชันมาก ไม่สะดวกต่อการท่องเที่ยว

นายเชิดชู ระบุว่า ยืนยันว่าไทยไม่ได้นิ่งดูดาย เพราะการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ปราสาทเขาพระวิหารนั้นทางกัมพูชาได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ไทยจึงมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งมีบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมศึกษา ทั้งพลเรือน ทหาร ฝ่ายปกครอง กระทรวงกลาโหม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายๆ ฝ่ายมาร่วมกันพิจารณา เพื่อไม่ให้กระทบหรือสูญเสียดินแดน และการกระทำดังกล่าวก็หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกรณีพิพาทขึ้น จนบรรลุถึงวัตถุประสงค์ทำให้กัมพูชาไปเขียนแผนที่ใหม่โดยไม่กระทบต่อดินแดนไทย

นอกจากนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 และคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาที่นายนพดล ปัทมะ ร่วมลงนามนั้น ไม่สามารถลบล้างมติ ครม.เมื่อปี 2543 ได้ ดังนั้นเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขตแดน อีกทั้งคำแถลงการณ์ร่วมไม่มีผลผูกพันกับการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทางทูต และหลังจากที่มีการขึ้นทะเบียนแล้วพื้นที่ทับซ้อนนั้นต้องมีการเจรจาถึงเรื่องการทำผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องเฉพาะการปรับภูมิทัศน์ให้สะอาดสวยงามเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการยึดครองดินแดน

**อ้างกระทบความสัมพันธ์ต้องรีบเซ็น

ขณะที่ ทนายฝั่งผู้ร้องได้ซักถามว่า ทำไมไทยถึงต้องเร่งรีบแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาเพื่อให้ออกเป็นมติ ครม. นายเชิดชู แถลงว่า เราไม่ได้เร่งดำเนินการเพียงแต่ว่ากัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารมาเมื่อ 2 ปีก่อน แต่แผนที่ที่ทางกัมพูชาเสนอให้ยูเนสโกนั้น กระทบต่อเขตแดนไทย เราจึงมีการเจรจาทางการทูตเพื่อให้ทางฝั่งกัมพูชาไปปรับแก้แผนที่ใหม่ แล้วเสนอมาให้เราพิจารณา ซึ่งเขาก็เสนอแผนผังใน N3 มาให้เราพิจารณา จนเราสามารถยอมรับได้ว่าไม่ได้เสียดินแดน หลังจากนั้นทางกัมพูชาก็เสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกจะพิจาณา แต่ที่เราต้องเร่งรีบ หากเราไม่ดำเนินการให้ทางกัมพูชาแก้ไขแผนผังการขึ้นมรดกโลกแผ่นเก่ามันจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระดับการทูต เพราะเมื่อองค์การยูเนสโกไปพิจารณาแล้วประกาศเป็นมรดกโลกแล้วจะทำให้เกิดการเผชิญหน้า ดังนั้นเราต้องเร่งรีบเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของการทูต

ส่วนแถลงการณ์ร่วมและเป็นมติ ครม.มีผลผูกพันระหว่างรัฐต่อรัฐหรือไม่ นายเชิดชู แถลงว่า การทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐนั้นมีหลายระดับ มีความผูกพันทั้งทางด้านการเมือง กฎหมาย ส่วนเรื่องดังกล่าวเป็นผูกพันระดับหน้า ซึ่งเป็นความผูกพันทางการทูต ซึ่งตรงนี้เหมือนเป็นการให้สัญญาเป็นหน้าตาของประเทศ ที่เกี่ยวกับการไว้ใจกัน แต่ไม่มีความผูกพันเหมือนทางการเมือง และไม่มีความผูกพันทางกฎหมาย อีกทั้งไม่มีความผูกพันในระดับเขตแดน และเรื่องนี้ไม่มีเรื่องเขตแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งไทยก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพิจาณาการขึ้นมรดกโลกของประสาทดังกล่าว

**ยกเหตุเผาสถานทูตขู่

สำหรับกรณีชาวกัมพูชาเข้ามาตั้งชุมชนและวัดในเขตพื้นที่ทับซ้อนและมีการผลักดันให้ออกไปในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการยกเลิกเรื่องนี้ นายเชิดชู แถลงว่า ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือคัดค้านการเข้ามาตั้งชุมชนบริเวณดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ไม่ส่าจะเป็นยุคสมัยใด เราจะเลือกใช้วิธีทางการทูตในการผลักดัน ซึ่งเราจะไม่ใช้กำลังในการผลักดัน เพราะเรื่องดังกล่าวจะกระทบต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชานั้นมีความสัมพันธ์กัน เพราะเห็นว่าชาวกัมพูชาที่เข้ามานั้นประกอบอาชีพค้าขายและได้รับการสนับสนุนจากคนไทย เพราะชาวกัมพูชาไม่สามารถนำของในประเทศตัวเองแบกขึ้นเขามาขายบริเวณดังกล่าวได้ แต่เป็นเพราะมีการปฏิสัมพันธ์ของชาวไทย-กัมพูชา ดังนั้นการที่จะผลักดันได้ต้องใช้วิธีทางการทูต แต่ที่มีการเสนอข่าวที่ผ่านมายอมรับว่าทำให้เกิดการกระทบความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านไทย-กัมพูชา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วสมัยที่มีการเผาสถานทูตไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้ซักถามนายเชิดชูอย่างละเอียดเกี่ยวกับบริเวณ N1 N2 N3 ในแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วม โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเสียดินแดน และกรณีหากมีการดำเนินการไปแล้วกัมพูชาจะอ้างสิทธิเหนือดินแดนที่ทับซ้อนและมีข้อพิพาทภายหลังที่ขึ้นเป็นมรดกโลกแล้วได้หรือไม่ นายเชิดชูแถลงยืนยันว่าไทยไม่ได้เสียดินแดนเลย และไม่กระทบต่อสิทธิเขตแดน และกัมพูชาไม่สามารถอ้างสิทธิเกี่ยวกับดินแดนได้เลย เพราะเป็นเรื่องระหว่างการทูต และเป็นหน้าเป็นตาของประเทศนั้น

**ยอมรับหากไทยประท้วงระงับจดมรดกโลกได้

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก พยานปากสุดท้าย แถลงว่า คณะกรรมการมรดกโลกเคยมีความเห็นว่าประสาทเขาพระวิหารมีคุณค่าพอที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 32 แต่ขณะนั้นมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน จึงได้ให้ไทยและกัมพูชาไปตกลงกัน อย่างไรก็ตามในการขอขึ้นทะเบียนครั้งนี้แม้ไม่มีแถลงการณ์ร่วม แล้วทางกัมพูชาใช้แผนที่เดิมที่มีการกำหนดพื้นที่รุกล้ำพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกัมพูชา ทางรัฐบาลไทยก็สามารถที่จะทำการประท้วงได้ แต่เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการเปิดการเจรจาและนำไปสู่การมีแถลงการณ์ร่วม

อย่างไรก็ตาม ในครั้งแรกที่ทางกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนฯ โดยมีการเสนอแผนที่ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาร่วมไปด้วยนั้น ยอมรับว่าการที่ไทยมีหนังสือประท้วงไปเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ปฏิบัติการอย่างอื่น ก็น่าที่จะเป็นสาเหตุหลักที่มีเหตุผลเพียงพอให้ทางคณะกรรมการมรดกโลกไม่ยอมขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ทั้งนี้ตนเชื่อว่าการที่ทางกัมพูชาจัดทำแผนที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก โดยรุกล้ำพื้นที่ทับซ้อนของไทยนั้นน่าจะมาจากความเข้าใจที่แตกต่างกันของคำพิพากษาโลกมากกว่าที่จะมีเจตนาอื่น

นายพิษณุ แถลงอีกว่า ปกติหากโบราณสถานของประเทศใดได้รับการขึ้นเป็นมกดกโลก ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ประเทศนั้นเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของภาพลักษณ์ ว่าประเทศดังกล่าวถือว่ามีประวัติศาสตร์มายาวนาน พร้อมที่จะเปิดกว้างในการรับความร่วมมือจากนานาชาติ ในการที่จะพัฒนามรดกโลกให้เป็นมนุษยชาติที่แท้จริง ยิ่งในด้านเศรษฐกิจแล้วประเทศนั้นๆ ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติทางด้านการเงินจำจนวนมาก ซึ่งก็ได้มีการหารือของนักโบราณคดีด้านมรดกโลกประเมินว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีของโครงการพัฒนาบูรณะแหล่งที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกดังกล่าว จะมีวงเงินเข้ามาถึง 1,400 ล้านบาท ในส่วนของประเทศไทยที่ประโยชน์ที่จะได้รับคือขณะนี้ทางกรมศิลปากรกำลังดำเนินการในเรื่องที่จะขอขึ้นส่วนควบรวมของปราสาทเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทย เช่น แหล่งตัดหิน สระตราว ที่เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทำนบโบราณ ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ที่เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างขุมชนกับปราสาท สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำที่ผามออีแดง ส่วนผลเสียนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นบ้างในแง่โครงการพัฒนาต่างๆ ไทยไม่อาจคิดได้ตามลำพัง จะต้องไปขึ้นอยู่กฎเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก

**ทนายมั่นใจศาลสั่งคุ้มครองแน่

ทั้งนี้ การไต่สวนเสร็จสิ้นในเวลา 23.00 น. โดยคณะตุลาการฯ แจ้งต่อคู่ความว่าศาลฯ จะมีคำสั่งคุ้มครองหรือไม่จะแจ้งคู่ความทราบทางโทรสาร ภายหลังการชี้แจงนายสุวัตร แสดงความมั่นใจในการสู้คดีอย่างมากเพราะได้เอกสารเป็นแผนที่ N1 N2 และN3 ที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกมาในทางลับจากคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งไม่ทราบว่าเหตุใดผู้เกี่ยวข้องต้องปกปิด ไม่ให้สาธารณชนรับรู้ และหากศาลฯ มีคำสั่งเพิกถอนตามที่ขอ ก็จะถือว่ากระบวนการต่างๆ ตกไป โดยกระทรวงการต่างประเทศต้องทำหนังสือถึงองค์การยูเนสโก ว่าศาลไทยมีคำสั่งระงับในส่วนที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย และเรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะทางกัมพูชายังมีสิทธิขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงโดยไทยไม่ได้ให้การรับรอง และหากปีนี้ไม่ได้เสนอปีหน้าก็สามารถเสนอขึ้นทะเบียนได้ ทั้งนี้เชื่อว่ากัมพูชารอได้ เพราะทำมาหลายปีแล้ว แต่การขึ้นทะเบียนให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะต้องไม่เกี่ยวกับให้ไทยไปยอมรับ
แผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา แสดงพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งกำลังเป็นปัญหาอาจทำให้ไทยต้องเสียดินแดน



ปราสาทพระวิหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น