พันธมิตรฯเบิกความเพิกถอนมติ ครม.“นพดล” ลงนามร่วมรับรองจดเทียบเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก มั่นใจศาลเมตตา ชี้ ขั้นตอนต่อไปรัฐบาลต้องทำหนังสือแจ้งระงับต่อยูเนสโก ย้ำ ไทยต้องไม่ให้การรับรองยกปราสาทพระวิหารให้เขมร
วันนี้ (26 มิ.ย.) ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย นายสุวัตร อภัยภักดิ์ กับพวกรวม 9 คน ฟ้อง นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับพวกรวม 2 ราย ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้เห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา กรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก พร้อมแผนที่แนบท้าย ซึ่งเสนอและจัดทำโดยรัฐบาลกัมพูชา รวมทั้งให้เพิกถอนการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากกัมพูชาจะนำคำแถลงการณ์ร่วมยื่นขอจดทะเบียนให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อคณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 5 ก.ค.นี้ ขณะที่ผู้ถูกฟ้องนั้น นายนพดล ได้มอบอำนาจให้ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ มาเบิกความต่อศาล
นายสุวัตร กล่าวภายหลังชี้แจงต่อศาลว่า ในส่วนของผู้ฟ้อง ศาลได้ไต่สวน 2 ปาก คือ ตนและนายนิติธร ล้ำเหลือ ซึ่งข้อมูลที่ตนได้ชี้แจงต่อศาลนั้นมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่า ครบถ้วนและสมบูรณ์ และเชื่อมั่นว่า ศาลจะมีคำสั่งระงับตามที่ผู้ฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติดังกล่าว ต่อมาศาลได้นัดไต่สวนในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ถูกฟ้องทั้งสอง และยังมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องถ่ายสำเนาคำแถลงการณ์ร่วมพร้อมด้วยแผนที่ที่ใช้ในการทำบันทึกข้อตกลงที่นายนพดลไปลงนาม พร้อมด้วยคำแปลและแผนที่ที่ทางกัมพูชาได้เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกมามอบให้กับผู้ฟ้อง
“ตามหลักทั่วไปแล้วผู้ถูกฟ้องคดีต้องนำสำเนาพยานและหลักฐานเอกสารทั้งหมดมามอบให้กับศาลและผู้ฟ้อง เพื่อพิจารณาประกอบไปด้วยกัน แต่การมาในครั้งนี้ทางฝ่ายถูกผู้ฟ้องไม่ได้ดำเนินการ ผมเลยขอให้ศาลสั่งให้นำหลักฐานดังกล่าวมาเปิดเผย เพราะก่อนหน้านี้ ผมและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่เคยเห็นแผนที่ N1 N2 และ N3 ที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก แต่ผมไปได้เอกสารดังกล่าวในทางลับจากคณะกรรมการมรดกโลกโดยตรง จึงทำให้มั่นใจว่าการต่อสู้ครั้งนี้ทุกอย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า ศาลจะเมตตา” นายสุวัตร กล่าว
เมื่อถามว่า หากศาลมีคำสั่งเพิกถอนดังกล่าวจะมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร นายสุวัตร กล่าวว่า หากมีคำสั่งเช่นนั้นจริง กระบวนการต่างๆ จะตกไป และกระทรวงการต่างประเทศต้องทำหนังสือถึงองค์การยูเนสโก ว่า ศาลไทยมีคำสั่งระงับในส่วนที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย และเรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะทางกัมพูชายังมีสิทธิขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงโดยไทยไม่ได้ให้การรับรอง และหากปีนี้ไม่ได้เสนอปีหน้าก็สามารถเสนอขึ้นทะเบียนได้ ทั้งนี้ เชื่อว่ากัมพูชารอได้ เพราะทำมาหลายปีแล้ว แต่การขึ้นทะเบียนให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะต้องไม่เกี่ยวกับให้ไทยไปยอมรับ อย่างไรก็ตามในส่วนผู้ถูกฟ้องได้ยื่นคัดค้านการไต่สวน อ้างเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจในการฟ้อง 2.ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 3.ยืนยันว่าคำแถลงร่วมไม่ใช่สนธิสัญญา
ขณะที่ นายกฤต กล่าวว่า เป็นตัวแทนของ นายนพดล มาชี้แจง เนื่องจาก นายนพดล ติดชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่สามารถเดินทางมาศาลด้วยตนเอง ทั้งนี้ ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่เกี่ยวข้องกับการเสียดินแดน ขณะที่ได้นำเอกสาร แผนที่ และแถลงการณ์ร่วมมาชี้แจงต่อศาลด้วย แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่นเดียวกันกับว่าไม่สามารถบอกได้ว่าเอกสารของผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องจะตรงกันหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานในการชี้แจงต่อศาล นายสุวัตร ได้ให้เหตุผลว่า ผู้ฟ้องถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยตรงจึงมีอำนาจในการฟ้อง เพราะนายสุริยะใส เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 4 ที่เป็นชาวจังหวัดศีรสะเกษอยู่ในพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ ขณะที่ นายคำนูณ ผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็น ส.ว.ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบตามกฎหมายการดำเนินการของรัฐตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ นายสุวัตร ยังยืนยันต่อศาลว่า ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของคนไทย แต่การที่ผู้ถูกฟ้องไปทำข้อตกลงดังกล่าวนั้น ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะมีข้อผูกพันร่วมกัน 6 ข้อ ที่ส่งผลให้ไทยเสียดินแดนและละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190