“ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์” อัด “นพเหล่” เซ็นแถลงการณ์ร่วมอัปยศอย่างลุกลี้ลุกลน เจตนาปกปิดบิดเบือนข้อมูล ส่อเสียดินแดนอธิไตยให้เขมร แถมดึงทหารเป็นผ้ายันต์กันผีปกป้องตัวเอง
วันนี้ (26 มิ.ย.) นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นักวิชาการกล่าวถึงกรณีปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร ว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไม นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงลุกลี้ลุกลนรับรองแผนที่ ที่กัมพูชาเสนอ รีบลงนามในแถลงการณ์ร่วม ทำทุกอย่างแบบปกปิด ประหนึ่งว่าไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ ถึงกับขอให้ทหารปิดปาก โดนตนขอเป็น “พระเอก” แต่คนเดียว อีกทั้งไม่ยอมเอาเรื่องเข้าที่ประชุมสภาโดยพยายามตะแบงบิดเบือนข้อเท็จจริง ทั้งที่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของชาติ ไม่ใช่เรื่องของนายนพดลคนเดียว ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลแต่ผู้เดียว แต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ ที่คนไทยควรมีสิทธิได้รับรู้เรื่องใหญ่ๆ เช่นนี้ เพราะเดิมพันเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมือง เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของชาติ
ประชาชนคงไม่ผิดหากระแวง ว่า การกระทำทั้งหมดจะสนับสนุน “ข่าว” ที่ออกมาล่วงหน้านี้ที่ว่า มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างอดีตผู้นำไทยที่ยอมให้ “ซากปรักหักพังของก้อนหิน” กับเขมรไป โดยตนต้องการผลประโยชน์แผ่นดินกัมพูชาที่แปรเป็นตัวเงินจับต้องได้ กับพฤติกรรมของนายนพดลที่ทำตัวเป็น “ทนายเขมร” นายนพดลต้องชี้แจงเรื่องทั้งหมดมากยิ่งขึ้น
นายธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า ผู้เชี่ยวชาญและผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศหลายท่านในประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตไว้บางอย่างบางประการที่น่าสนใจว่าการที่กัมพูชาขอขึ้นปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นเรื่องของกัมพูชา ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่แต่เราห่วงใยว่าประเด็นที่คนไทยห่วงใยมีดังนี้
ประการแรก นายนพดลออกมายืนยันว่า ไทยไม่เสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว เนื่องจากคำพูดของตัวเองไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม จึงพยายามอ้างคำพูดของ ผบ.ทบ.และเจ้ากรมแผนที่ทหารว่าไทยไม่เสียดินแดนมาเป็น “ผ้ายันต์กันผี” เพื่อปกป้องตนเอง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสงสัยของสังคมต่อนายนพดลลดน้อยลง เพราะนายนพดลเตรียมรับแผนที่ ซึ่งตอนหลังมาเรียกว่าเป็นแผนผังที่กัมพูชาเสนอมาแต่แรก แต่ฝ่ายทหารคัดค้านอย่างรุนแรงว่ามีการรุกล้ำเข้ามาในเขตไทย นอกเหนือจากที่ไทยได้กำหนดไว้ตามมติ ครม.ปี 2505 จน นายนพดล ต้องติดต่อกับฝ่ายเขมรขอแก้ไขตามที่ทหารตั้งข้อสังเกตมา เอาเป็นว่า ณ วันนี้ เรายังไม่เสียดินแดน แต่เรื่องนี้อย่ามองเฉพาะหน้า แต่ต้องมองไปข้างหน้าว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้สุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนและอธิปไตยของประเทศในอนาคตหรือไม่ดังที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ได้แสดงความห่วงใยไว้
ประการที่สอง นายนพดลพยายามทำให้คนไทยสนใจเฉพาะเรื่องดินแดนเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องใหญ่กว่านั้นที่นายนภดลไม่ยอมเอ่ยถึง จะเป็นเพราะไม่รู้หรือปกปิดก็ตาม คือ อธิปไตยของชาติ กับแผนบริหารจัดการปราสาทเขาพระวิหารกัมพูชา ที่จะมีผลกระทบต่อไทยในภายหลัง
นายนพดล พูดหลายครั้งเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อน” หลายคนฟังแล้วอาจผ่านไป เพราะไม่ทราบว่ามีความหมายอะไร คงคิดถึงพื้นที่ที่ไทยอ้างว่าเป็นของไทยและเขมรอ้างว่าเป็นของเขมรที่ยังตกลงกันไม่ได้เท่านั้น แต่ความจริงมีความหมายลึกซึ้งมากกว่านี้ เพราะในความเป็นจริงและตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะไม่มีพื้นที่ทับซ้อนในประเทศไทยเป็นอันขาด กล่าวคือ ศาลโลกตัดสินเมื่อปี 2505 ให้กัมพูชาได้ไปเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารเท่านั้น โดยกล่าวว่า ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในดินแดนเขมรตามที่กัมพูชาขอ โดยศาลจะตัดสินให้มากไปกว่านั้นไม่ได้ ครม.ขณะนั้นได้ให้ตัวปราสาทหลักของเราพระวิหารและพื้นที่ติดกับปราสาทห่างมากไม่เกิน 20 เมตรไปด้วยและแจ้งผลการดำเนินงานให้กับสหประชาชาติเรียบร้อย
นายธีรภัทร์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น พื้นที่ที่เหลือจึงเป็นของประเทศไทย และเราต้องยืนยันในอธิปไตยของชาติเหนือดินแดนเหล่านี้ แม้ว่าต่อมากัมพูชาได้ขอให้ฝรั่งเศสเขียนแผนที่คร่าวๆลากเส้นเขตแดนเข้ามาในเขตไทยในภายหลังก็ตาม ไทยต้องไม่ยอมรับเขตแดนที่ฝรั่งเศสร่างให้กัมพูชา แต่ต้องยืนยันอธิปไตยเหนือดินแดนของเรา ดังนั้น จึงต้องไม่มี “พื้นที่ทับซ้อน” ตามที่ นายนพดล และหลายคนพูดถึงโดยไม่รู้ว่ามันมีความหมายทางการเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศขนาดไหน
การที่ นายนพดล ได้พูดย้ำเรื่องพื้นที่ทับซ้อนบ่อยครั้งโดยตั้งใจหรือไม่หรือจะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่อย่างไร แต่ได้เกิดผลทางกฎหมายขึ้นแล้วว่ารัฐบาลไทยยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็น “พื้นที่ทับซ้อนของอำนาจอธิปไตย” ทั้งที่ไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้น 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม การพูดเช่นนั้นเท่ากับนายนพดลไปลดอธิปไตยของไทยให้เกลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์และยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เหนือแผ่นดินไทย ซึ่งไม่มีที่ไหนทำกัน
สิ่งที่ฝ่ายไทยต้องทำ คือ ไทยต้องยืนยันว่าพื้นที่ทั้งหมดนอกจากตัวปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่เล็กน้อยติดกับตัวปราสาทเป็นอธิปไตยของไทยไม่มีการทับซ้อนของอำนาจอธิปไตยแต่อย่างใดพื้นที่ตรงนั้นถ้าไม่ใช่ของเขาก็เป็นของเรา ถ้าเป็นของเราก็ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่เป็นของทั้งสอง
นายธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า นายนพดล ซึ่งเรียนกฎหมายและเรียนเนติฯจากอังกฤษ รู้กฎหมายเพียงแค่จะมาประกอบอาชีพทนายความเท่านั้น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ นายนพดลแยกไม่ออกระหว่าง “อำนาจอธิปไตย” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sovereignty กับ “การใช้อำนาจรัฐ” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Jurisdiction เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งเด็ดขาด ครอบคลุมทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ไม่สามารถสละอธิปไตยได้หรือสละบางส่วนเพื่อให้คนอื่นเข้ามาผสมได้นอกจากถูกบังคับ ซึ่งหมายถึงการสูญเสียอธิปไตยเท่านั้น ยกเว้นที่มายอมให้สถานทูตต่างประเทศมีอำนาจจัดการภายในเขตสถานทูตได้ ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสากลที่ยอมรับกันมา
ในทำนองเดียวกันบางคนเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น No man s Land ไทยยอมไม่ได้
อธิปไตยเหนือดินแดน หรือ Territorial Soverignty หมายถึงดินแดนบนบกทั้งหมด ดินแดนทางน้ำที่เรียกว่า Inland Waters และทะเลอาณาเขต แต่มีข้อยกเว้นที่อาจให้คนอื่นเดินเรือผ่านโดยสุจริตที่ไม่ก่อให้ เกิดความเสียหายเป็นต้น
ส่วน Jurisdiction นั้นคือขอบเขตการใช้อำนาจรัฐว่าเขตอำนาจรัฐของไทยใช้ไปถึงไหน เช่น ไหล่ทวีป ซึ่งประเทศต่างๆ อาจขยายขอบเขตการใช้อำนาจรัฐของตนจนเกิดกับเกยกันหรือมาทับซ้อนกันได้ แต่ไม่ใช่การทับซ้อนของอำนาจอธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ออกกัมพูชาพยายามขยายอำนาจอธิปไตยมาเหนืออธิปไตยเหนือดินแดนของไทย ซึ่งไทยยอมไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่มีการทับซ้อนอำนาจอธิปไตย แต่นายนภดลพยายามทำให้เกิดการทับซ้อนของอำนาจอธิปไตย
คนไทยต้องไม่สนใจเฉพาะเรื่อง “ดินแดน” หรือ Terriroty เท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญ “อำนาจอธิปไตยหรือดินแดน” มากว่า เราอาจไม่เสียพื้นที่ตรงปราสาทเขาพระวิหาร แต่เราจะเสียอำนาจอธิปไตย เพราะนายนพดลให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ของอำนาจอธิปไตย
ประการที่ 3 ดินแดนของประเทศไทยซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปที่ต่อจากตัวปราสาท การที่รัฐบาลกัมพูชาสนับสนุนให้คนเขมรมาตั้งบ้านเรือน ชุนชน วัด อยู่ในดินแดนไทยนั้น จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายเขมรในกรณีที่เกิดมีกรณีพิพาทดินแดนแลนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลโลกหรือกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ กัมพูชาจะได้อ้างสิทธิได้ว่าฝ่ายไทยไม่คัดค้าน เช่น กรณีของเขาพระวิหาร การที่คนศรีสะเกษออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันคนเขมรดังกล่าวให้ออกไปจากพื้นที่อธิปไตยของไทยเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่นายนพดลกลับบอกว่าจะใช้เวลาสองปีแก้ไขปัญหา แสดงว่า นายนพดล ยังต้องการให้คนเขมรอยู่ในประทศไทยต่อไป ซ้ำยังกล่าวหาทหารว่าเป็นผู้ผิดที่ปล่อยให้คนเขมรเหล่านี้เข้ามา จนทหารต้องออกมาตอบโต้ว่า กองทัพภาคที่สองเตรียมผลักดันมาแล้วแต่กระทรวงการต่างประเทศไทยยับยั้งโดยเกรงว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์กับกัมพูชา
ประการที่ 4 หากนายนพดลจะออกมาแก้ตัวว่า ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนของอำนาจอธิปไตย แต่เป็นการทับซ้อนของการใช้เขตอำนาจรัฐ ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่จะพิจารณาความผิดของนายนภดลและรัฐบาลชุดนี้ได้คือ นายนภดลออกมาพูดย้ำหลายครั้งว่า เรื่องนี้ไม่จ้องนำเข้าพิจารณาในสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างว่า แถลงการณ์ร่วมที่ตนไปลงนามร่วมกับกัมพูชาไม่ใช่ “สนธิสัญญา” นายกฤช ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้ออกมายืนยันว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่ใช่สนธิสัญญา ซึ่งไม่มีใครไปแย้งว่าไม่ใช่สนธิสัญญา แต่สิ่งที่คนทั่วไปแย้ง คือ เป็นหนังสือสัญญา ที่ต้องเข้าพิจารณาในรัฐสภา นักนิติศาสตร์และนักกฎหมายระหว่างประเทศหลายท่านยืนยันว่า เรื่องนี้ต้องเข้าสภา จึงต้องมาดูวรรคสองของมาตรา 190 ซึ่งระบุว่า
“หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย” นายธีรภัทร์ กล่าว
เป็นความจริงตามที่นายนพดลพูดที่ว่า แถลงการณ์ร่วมไม่ใช่สนธิสัญญา แต่แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็น “หนังสือสัญญา” แน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบันก็ใช้คำว่า หนังสือสัญญา ซึ่งมีความหมายและขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมมากกว่าสนธิสัญญา รัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้คำว่า สนธิสัญญาแต่อย่างใด หากนายนภดลจะอ้างว่าเอามาจากคำแปลรัฐธรรมนูญที่เป็นภาษอังกฤษ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีการแปลคำว่าหนังสือสัญญาด้วยคำว่า Treaty แต่นี่คือ รัฐธรรมนูญไทยต้องยึดภาษาไทยเป็นหลัก
นายธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า คำว่าหนังสือสัญญา ผู้รู้ด้านนิติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศและผู้ร่างรัฐธรรมนูญอธิบายว่า สิ่งที่รัฐบาลไปทำความตกลงกับต่างประเทศไม่ว่าจะออกมาในรูปของแถลงการณ์ร่วม Joint Communique บันทึกความเข้าใจ MOU จดหมายแสดงเจตจำนง LOI พิธีสาร Protocol ประกาศ Declaration ข้อตกลงAgreement สนธิสัญญา Treaty ฯลฯ ล้วนแต่เป็น “หนังสือสัญญา” ทั้งสิ้น
การลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหนังสือสัญญาแน่นอน ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่ามีผลกระทบอะไรหรือไม่อย่างไร แม้ไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยในปัจจุบันแต่หลายคนมองว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอาณาเขตในอนาคตหรือไม่อย่างไร แต่ที่แน่นอน ณ วันนี้ไทยได้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจอธิปไตยจาการแถลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ไทยมีพื้นที่ทับซ้อน ดังได้อธิบายไว้แล้ว นอกจากนั้น ผลที่เกิดขึ้นกระทบต่อสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง เพราะเกิดความขัดแย้งกันในทุกระดับของสังคม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ อย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและคระรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญาดังกล่าว
ถ้า นายนพดล และนายสมัคร ยังตะแบงต่อไปว่า แถลงการณ์ไม่ใช่หนังสือสัญญา ไม่เข้าข่ายตามวรรคสองก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามมาตรา 190 วรรคสุดท้ายระบุว่า “ในกรณีที่มีปัญหาในวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด...” ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า แถลงการณ์ร่วมที่นายนพดลงุบงิบไปลงนามร่วมกับกัมพูชาเป็นหนังสือสัญญาแสดงว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ โดยลัดขั้นตอนตามวรรคสอง ถ้าเป็นเช่นนั้น ผลที่ตามมาคืออะไร
การที่ นายนพดลเอาข้อมูลมาชี้แจงกับสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2551 หลังที่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ซึ่งเป็นไปตามวรรคสี่ของมาตราเดียวกัน ที่ว่า “เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น...” เป็นที่ทราบกันดีว่า ที่นายนภดลต้องออกมาชี้แจงก็เพราะถูกสังคมกดดันอย่างหนัก แต่ก็ออกมาชี้แจงหลังจากที่เร่งรีบเซ็นข้อตกลงกับกัมพูชาให้เรียบร้อยเสียก่อน ทั้งที่สังคมเรียกร้องให้ออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้เป็นเวลานานพอสมควร
การที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพิ่มเติมมาตรา 190 ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่มี ก็เพื่อไม่ให้รัฐบาลไปทำข้อตกลงใดๆ กับต่างประเทศโดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิรับรู้ดังเช่นรัฐบาลทักษิณ โดยไม่ให้ผลประโยชน์ของชาติยุติลงที่รัฐบาลเท่านั้น สภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจะต้องมีส่วนรับรู้ด้วย แต่ก็มีความพยายามหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ถ้า นายนพดล อ้างว่า ยังไม่มีกฎหมายลูกว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง แต่ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจต่อประชาชน ก็ควรให้ประชาชนได้มีส่วนรับรู้ในกรณีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ยังติดนิสัยจากรัฐบาลทักษิณรวบรัดไปแอบทำข้อตกลงกับต่างประเทศต่างๆ โดยประชาชนไม่มีส่วนรับรู้
การกระทำที่ลุกลี้ลุกลน รวบรัด ปกปิดเพื่อลงนามในแถลงการณ์ร่วม เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยมีความรู้สุกว่า นายนพดล เองใจเขมรเกินเหตุ เอกสารทุกอย่างก็ใช้ของเขมรเป็นหลัก และอ้างว่าเกรงจะกระทบต่อความสัมพันธ์กับกัมพูชา ทั้งที่ประชาชนไทยไม่ได้วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชา แต่วิจารณ์รัฐบาลไทยเป็นสำคัญ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตราสามระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ดังนั้นประชาชนชาวไทยต้องมีส่วนรับรู้การกระทำใดๆของรัฐบาลและนายนพดลที่อาจส่งผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ ซึ่งคนไทยเป็นเจ้าของและทุกท้วงเพื่อไม่ให้ชาติต้องสุ่มเสี่ยงมากเกินไปในขณะที่ไทยยังไม่รู้จริงในหลายเรื่อง ประชาชนต้องการให้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกสักนิดซึ่งคงไม่เสียเวลามากเกินไป แต่สิ่งที่ทำมาดูลุกลี้ลุกลนจนทำให้ประชาชนไทยอดระแวงไม่ได้ว่าเหมือนกับนายนภดลไปตกลงบางอย่างไว้กับกัมพูชา
เมื่อมีคนและกลุ่มคนทักท้วง นายนพดล แสดงโวหารดูหมิ่นดูแคลนบุคคลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ นายปองพล อดิเรกสาร ที่รู้เรื่องนี้ดีก่อนนายนพดลด้วยซ้ำ ดูถูกวุฒิสมาชิกและผู้อำนวยการไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่ามีมาตรฐานทางวิชาการต่ำ
คนไทยไม่ต้องการเห็นการสุญเสียอธิปไตยของชาติเหนือดินแดนหรือเสียดินแดนส่วยใดส่วนหนึ่งอีกในอนาคต ดังนั้น ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้รักชาติทั้งหลายดำเนินการดังนี้
หนึ่ง ทำเรื่องขอความคุ้มครองจากศาลปกครองไว้ก่อน เพื่อไม่ให้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยทันที
สอง ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะเป็นข้อขัดแย้งระหว่างองค์กร เช่น วุฒิสภา กับรัฐบาล
ที่เสนอข้อมูลมาทั้งหมด เป็นการให้ “ความรู้” ทางวิชาการแก่ประชาชนอีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากมุมมองที่รัฐบาลได้ชี้แจงต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาว่า ข้อมูลของใครจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ไม่ใช่เป็นการปลุกระดมแต่อย่างใด
กฎหมายอาญามาตรา 119 ระบุไว้ให้เข้าใจได้ว่า “บุคคลใดที่ทำให้เอกราช อธิปไตยของชาติเสื่อมเสีย ตกไปเป็นของคนอื่น บุคคลนั้นต้องโดนประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต” แต่ชีวิตของคนคนหนึ่งไม่คุ้มกับการแลกกับอธิปไตยของชาติ