เมื่อกลางดึกวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บ้านตาเป็ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับมอด อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,320 ฟุต เป็นโบราณสถานสถานสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-18 ได้ถูกคนร้ายลักลอบเข้ามาทุบทำลายเสียหายหลายจุดด้วยกัน
จากการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ในเบื้องต้นพบ โบราณสถานมีความเสียหาย จำนวน 7 จุด 19 ชิ้น อาทิ การเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ออกมา ทุบทำลายเทวรูปองค์เทพบริวาร เศียร-ปากนาคราช ทำลายปากโคนนทิ และทวารบาล เป็นต้น
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปออกมาแสดงความเป็นห่วง เป็นกังวล ถึงการอนุรักษ์ดูแลแหล่งโบราณสถานในไทยมากขึ้น และบางกระแสก็อดห่วงไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ใน “เส้นทางเชื่อมทางวัฒนธรรม ปราสาทหินพิมายกับศาสนสถานที่เกี่ยวข้องปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ” ซึ่งเป็นเป้าหมายแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ของไทยหรือไม่
ทุบ...เพราะอะไร
ดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นแก่ปราสาทหินพนมรุ้งว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะปราสาทหินพนมรุ้งยืนหยัดมานานนับพันปี ทานแดดทานฝนมาได้ แต่ต้องมาพังเพราะน้ำมือมนุษย์ ทำให้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนบุรีรัมย์เป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการแจ้งความไว้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้สรุปสาเหตุเบื้องต้นที่ตั้งไว้ 3 ประเด็น คือ เรื่องความขัดแย้งภายในองค์กร คนสติไม่สมประกอบทำ และผู้ที่เสียผลประโยชน์ ที่ถูกห้ามไม่ให้ขึ้นไปทำพิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพบนปราสาทหินพนมรุ้ง ตลอดจนเรื่องพิธีไสยศาสตร์มนต์ดำ ซึ่งก็คงต้องรอการพิสูจน์ต่อไปว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร
ทางด้าน ผอ.ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีกรมศิลปากร กล่าวถึงบทลงโทษให้ฟังว่าคนร้ายที่ทำลายลายปราสาทหินพนมรุ้ง จะต้องได้รับโทษตามมาตรา 10 พระราชบัญญัติโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 คือ
มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย ผู้ใดบุกรุกโบราณสถานหรือทำให้เสียหายทำลายหรือทำให้เสื่อมค่าจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 700,000 บาท นั้นคือในกรณีที่เป็นโบราณสถานธรรมดา แต่กรณีปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ดังนั้นโทษจึงเพิ่มขึ้นต้อง ระหว่างโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 32
“เหตุการณ์ครั้งนี้ผมเชื่อว่า ไม่มีความขัดแย้งในองค์กร เพราะหัวหน้าอุทยานฯเราตรวจสอบแล้วไม่มีปัญหากับใคร น่าจะเป็นประเด็นที่สองมากกว่า ความขัดแย้งระหว่างองค์กรกับบุคคลภายนอกร้านค้าที่ทางอุทยานฯขัดแย้งกับประชาชนที่เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ เรายอมรับว่ามี”ผอ.ธราพงศ์กล่าว
ผอ.ธราพงศ์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า นับเป็นความโชคดี เพราะส่วนที่โจรกระทำการไม่มีของแท้ เป็นส่วนที่หล่อขึ้นมาใหม่วัสดุแตกต่างจากของเดิมอยู่เล็กน้อย วัตถุเดิมเป็นหินทรายอันใหม่เนื้อคล้ายแต่มองออกว่าอันไหนใหม่อันไหนเก่า อาจจะเป็นเพราะเป็นช่วงกลางคืนเลยทุบหมด โดยที่ไม่รู้ว่าไหนเก่าไหนใหม่ แทบจะทุกจุดเป็นของใหม่ อาจจะมีเก่าบ้างแต่เสียหายไม่มาก
ฤากระทบ(ว่าที่)มรดกโลกแห่งใหม่
ส่วนกรณีจะมีผลกระทบต่อการเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกหรือไม่ เกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 10 อุทยานของกรมศิลปากร จะมีแผนการพัฒนาไปสู่ความเป็นมรดกโลก ซึ่งปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในอุทยานที่มีแผนจะพัฒนาใน 2 ส่วน คือ การพัฒนาจัดการกับโบราณสถานและสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานของมรดกโลก และ การพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น การจัดการสภาพแวดล้อมหรือการขายของหรือการดูแลต่างๆ ซึ่งในส่วนที่ได้รับความเสียหาย เป็นความเสียหายซึ่งในโบราณสถานทุกแห่งจะมีลักษณะความเสียหายก่อนการบูรณะ ก็สามารถซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายได้
เกรียงไกร กล่าวถึงการเช่าร้านค้าในบริเวณอุทยานว่า ปกติเงื่อนไขสัญญาจะเป็นปีต่อปี มีการประมูลเข้ามา ส่วนนี้เป็นส่วนบริการให้ความสะดวกซึ่งร้านค้าต่างๆ จะอยู่บริเวณด้านล่างไม่ได้อยู่ในเขตโบราณสถาน แต่เป็นส่วนที่จำเป็นเพราะทั้งหมดนี้การอนุรักษ์จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เป็นส่วนการบริหารจัดการตามมาตรฐานที่กำหนด เพราะไม่เช่นนั้นการพัฒนาไปสู่มรดกโลกค่อนข้างจะลำบาก เพราะฉะนั้นจึงมีกฎเกณฑ์ในการดำเนินการ
ซึ่งทางด้านความเห็นของผอ.ธราพงศ์ เขาก็มองว่าไม่น่ามีผลกระทบต่อความเป็นว่าที่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทยเช่นกัน โดยเขากล่าวว่า เรื่องการทุบทำลายปราสาทหินพนมรุ้ง จะไม่มีผลต่อการเตรียมการพิจารณาในขั้นตอน Tentative List ของทางยูเนสโก
“เรื่องแบบนี้เราต้องเร่งชี้แจงเพราะยูเนสโกไม่ถาม ไม่ง้อเรา เราต้องเสนอเรื่องชี้แจงขึ้นไปเอง เราต้องง้อเขา แต่รับรองว่าไม่มีผลต่อการพิจารณาการเป็นมรดกโลก เพราะถือว่าเป็นเหตุอาชญากรรมเล็กน้อย”ผอ.ธราพงศ์กล่าว
ในส่วนของการบูรณะซ่อมแซมก็เช่นกันผอ.ธราพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้ทางผู้ใหญ่ของกรมศิลปากรและกระทรวงวัฒนธรรมกำลังจะลงพื้นที่ไปดู จะออกคำสั่งให้พื้นที่ดำเนินการตามระบบการอนุรักษ์แนวทางที่เคยปฏิบัติในการบูรณะโบราณดังที่เคยทำมาสิ่งที่เกิดขึ้นมันนิดเดียว ใช้เวลาเพียงไม่นานเราก็สามารถบูรณะได้ดังเดิม ในเวลาไม่ถึงเดือน
“พนมรุ้งเป็นภูมิทัศน์ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม คือ นอกจากมีความเป็นเอกทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีเรื่องวัฒนธรรมที่สำคัญด้วยมีเรื่องเกี่ยวพันด้านประวัติศาสตร์ของราชวงศ์เขมรโบราณควรค่าแก่การศึกษา”ผอ.ธราพงศ์แสงความเห็น
ส่วนการป้องกันนั้น ผอ.ธราพงศ์ กล่าวว่าได้ปล่อยในเป็นเรื่องของระบบภายใน ขณะนี้ทางจังหวัดก็ได้ส่งคนมาช่วยเหลือแล้ว ส่วนทางกรมศิลปากรเองพูดไปก็เหมือนแก้ตัว เพราะคนของเรามีน้อย แต่ก็มีน้อยจริงๆ ถ้าพูดถึงปราสาทหินพนมรุ้งตัวปราสาทอยู่บนเขาค่อนข้างโดดเดี่ยว ว้าเหว่ ไกลจากสังคมพอสมควร และภูเขาขึ้นได้รอบทิศทาง จึงลำบากในการป้องกัน ยากพอสมควรในการป้องกันแต่ก็ต้องป้องกันให้ได้
คำเตือนจากยูเนสโก
มณฑิรา อูนากูล ผู้ประสานงานโครงการทางวัฒนธรรมยูเนสโก กล่าวว่า รับทราบจากทางกรมศิลปากรแล้วในส่วนที่เสียหายไปส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นในส่วนของรูปแกะสลักหินทรายที่ทำเพื่อทดแทนของเดิม อาจจะมีส่วนของเดิมบ้าง คือ ส่วนของปราสาทแต่น้อยมากที่ถูกกระทบกระเทือน ทางยูเนสโกก็ได้แจ้งไปทางกรมศิลปากรไปว่ามีอะไรที่จะช่วยได้ ทางกรมศิลปากรก็ยืนยันมาว่าเสียหายไม่มาก สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง
ในส่วนที่ทราบมาว่าปราสาทพนมรุ้งเป็น Tentative List ของทางยูเนสโกซึ่งขณะนี้ Tentative Listทั้งหมดของไทย ทั้งแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแลทางธรรมชาติ ที่รอการเสนอชื่อเข้าคิวเป็นมรดกโลก
ได้แก่ เส้นทางเชื่อมทางวัฒนธรรม ปราสาทหินพิมายกับศาสนสถานที่เกี่ยวข้องปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี สภาพภูมิทัศน์บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ถึงท่าวาสุกรี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดสุทัศน์เทพวรารามวรมหาวิหาร และเสาชิงช้า วัดราชนัดดารามวรวิหารและพื้นที่ต่อเนื่อง พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแหล่งวัฒนธรรมของจังหวัดน่าน พื้นที่อนุรักษ์ชายฝั่งทะเลอันดามัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กลุ่มพื้นที่ป่าเทือกเขาเพชรบูรณ์ ปราสาทพนมรุ้งก็เป็นอับดับต้นๆที่จะถูกเสนอเข้าไป ตนก็ไม่อยากให้กังวลมากนัก เพราะคงไม่มีผลกระทบต่อการเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก
“ทางผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกยังไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบ แต่จากข้อมูลที่ได้มาเชื่อว่าไม่ส่งผลในแง่ร้าย เรื่องความเป็นของแท้ ถ้าเกิดผลกระทบเป็นของแท้น่าห่วง แต่นี่บังเอิญโชคดีที่เป็นของใหม่ แต่ก็ทำให้น่าคิดว่าการจัดการเรื่องแหล่งโบราณสถานที่เป็นมรดกโลกเราก็คงต้องมีมาตรการเรื่องความปลอดภัย แต่เข้าใจว่ายังติดที่งบอันจำกัดตามอุทยานประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นประเด็นที่ตราบใดไม่มีงบส่วนนี้ก็จัดการได้ยากเราก็ต้องเห็นใจ รัฐบาลไทยต้องเพิ่มความสนใจในส่วนนี้”มณฑิรากล่าวแนะ
มณฑิรายังกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทางยูเนสโกกำลังพยายามรณรงค์ให้แหล่งมรดกโลกทั่วโลก ไม่เฉพาะในไทย จัดการในเรื่องของแผนรับมือภัยทั้งจากธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์ น่าจะเป็นสัญญาณหรือตัวเตือนให้เราหันมาสนใจส่วนนี้มากขึ้น
“ในเบื้องต้นข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาใดๆ แต่ถ้าหากเราไปค้นพบในภายหลังว่ามันมีอะไรที่มากกว่านี้ อันนั้นก็ต้องว่ากันอีกที”มณฑิรากล่าว
มณฑิรายังกล่าวต่อไปด้วยว่า ในกรณีคนก่อเหตุเป็นคนไทยกันเอง อยากจะให้รณรงค์เพิ่มจิตสำนึกว่ามรดกโลกส่วนนี้มีค่ามีคุณค่าต่อทุกคนในประเทศไทยที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้ ในอนาคตหากเป็นมรดกโลก ภาระส่วนนี้ที่เราต้องดูแลก็จะต้องเพิ่มมากขึ้น
หวังว่าเราคงจะได้บทเรียนที่ดีจากเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยดีที่เกิดขึ้น ปรับปรุงดูแลรักษา อย่าปล่อยให้เป็นภาระของกรมศิลปากรเพียงลำพังแต่ในมันเป็นภาระของคนที่อยู่ในท้องถิ่นและคนไทยโดยรวมด้วย