“ผู้เชี่ยวชาญ” รุมจวกกลุ่มลอบทุบ “พนมรุ้ง” ชี้ชัดมีการจัดระเบียบในกระบวนการคิดทำลายโบราณวัตถุ ถือเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ท้องถิ่น-วิถีชีวิตชุมชน พร้อมวอนประชาชนทั่วประเทศเป็นหูเป็นตาช่วยกันปกป้อง เพราะเป็นของสาธารณะ
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเปิดประเด็นซักถาม นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถึงความคืบหน้ากรณีที่มีกลุ่มคนร้ายบุกเข้าไปทำลายเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเทพคุ้มครองปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา นั้น มีส่วนเกี่ยงข้องกับการเมืองหรือไม่
โดย นายศิริพจน์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำลายประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และทำลายวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งถือว่าร้ายแรงมาก โดยในส่วนที่ถูกทำลายนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเทพชั้นรอง ซึ่งปกปักรักษาตัวปราสาทเขาพนมรุ้งเอาไว้ และจะเห็นได้อย่างชัดเจน คือ การเคลื่อนย้ายศิวะลึงค์ออกมา ซึ่งถือว่าเป็นรูปเคารพสูงสุด เข้าใจว่าคนที่ทำ ต้องมีระบบระเบียบในการคิดที่จะทำลาย สำหรับเครื่องเซ่นไหว้ที่ถูกวางทิ้งเอาไว้นั้น โดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่าเป็นพิธีกรรมหรือไม่
“คำว่าไสยศาสตร์ในนิยามของคนปัจจุบัน หมายถึงลัทธิมนดำบางอย่าง แต่ในอดีตมีหลักฐานเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว มีความหมาย คือ ศาสนาพราหมณ์ และฮินดู ฉะนั้นถ้าตัดคำว่าไสยศาสตร์ออกไป มันก็มีสิทธิ์ดิ้นได้ ซึ่งแล้วแต่ตัวหมอผีต้องการเซ่นสรวงบูชาอะไร จึงต้องไปดูในกลุ่มของคนที่นิยมอาคมต่างๆ ในปัจจุบันเขาว่ากันอย่างไร ถ้าถามว่าเกี่ยวกับไสยศาสตร์หรือไม่ ผมคิดว่ามันชวนให้คิดกันไปอย่างนั้น เพราะ”นายศิริพจน์ กล่าว
นายศิริพจน์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น สร้างความรู้สึกสะเทือนใจแน่นอน เพราะคนที่ลงมือทำนั้น ถือว่าทำร้ายคนทั้งชาติ และในวัฒนธรรมในสมัยโบราณ ความศักดิ์สิทธิไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุ เช่น ปราสาทหินพิมาย เปลี่ยนรูปเคารพซึ่งเป็นของเดิมเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสถาปนาขึ้นเป็นศูนย์กลางจะอยู่ตรงนั้นมากกว่า โดยเฉพาะประเทศพม่า เวลาเขาซ่อมเจดีย์ที่ผุพัง เขาซ่อมโดยทำให้มันเหมือนเดิม โดยไม่ได้คำนึงถึงความเก่าแก่แต่อย่างใด
ด้าน นายรุ่งโรจน์ วิเคราะห์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ทำไมเราไม่รู้จักรักษาสมบัติของชาติ ซึ่งเป็นของสาธารณะ ส่วนของเซ่นไหว้ที่ถูกวางทิ้งเอาไว้นั้น โดยส่วนตัวแล้วตอบไม่ได้ แต่ถามว่าเคยเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชนถึงความสำคัญของวัตถุ และสถานที่หรือไม่ ฉะนั้นต่อไปควรที่จะมีการระแวดระวัง และไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
“จากหลักฐานที่เจอในศิลาจารึก เราพบเพียงบทสรรเสริญเทพเจ้า ฉะนั้นจึงตอบไม่ได้ว่าในอดีตมีการทำพิธีกรรมลึกลับอะไรหรือไม่ แต่จะมีอยู่เพียงการถอนใบสีมา ซึ่งต้องถามพระ ว่าจะต้องทำอย่างไร เรื่องนี้เหมือนเราดูหนังดูละคร ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในภวังค์ของความคิด ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องแสงอาทิตย์ที่สอดส่องทุกประตูของปราสาทเขาพนมรุ้งนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่วันใดวันหนึ่ง พระอาทิตย์จะต้องส่องแสงตรงกันทุกบานโดยผ่านศิวะลึงค์”นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการข่มขวัญเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เพราะของทุกอย่างไม่ใช่ของเรา แล้วถามว่าเคยมีการปลูกฝังหรือไม่ และมีการเฝ้าระแวดระวังเพิ่มเติมขึ้นหรือไม่ ส่วนตัวปราสาทเขาพนมรุ้งนั้น ได้มีการบูรณะมาอย่างยาวนาน ซึ่งถามว่าเมื่อเกิดการซ่อมแซมขึ้น แล้วจะสูญเสียความศักดิ์สิทธิหรือไม่ ส่วนจิตสาธารณะนั้น ชุมชนมีสิทธิที่จะเข้าไปใช้สถานที่ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานราชการนั้นๆ
ต่อมา นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ได้ต่อสายโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบูรณะสิ่งที่เสียหายว่า เรามีหน้าที่ที่จะให้ข้อมูลต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกประเด็น เพราะตำรวจมีเสถียรภาพมากกว่าเรา โดยช่วงที่เกิดเหตุนั้น คาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางคืน ซึ่งปกติจะมียามสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจำนวน 3 กะ โดยจะมีการเดินตรวจตรา และเฝ้าทางเข้าออก
“ส่วนสิ่งที่เสียหายอาจจะเกิดจากนักท่องเที่ยวที่ทำโดยไม่ตั้งใจที่จะทำให้โบราณวัตถุเสียหายมากมายนัก เช่น อาจจะเอากลับบ้านไปเป็นของที่ระลึก ซึ่งกรณีที่ปราสาทเขาพนมรุ้งนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเพียงการทำลายโบราณสถานเท่านั้น ไม่ได้มีการลักลอบเอาวัตถุออกไปแต่อย่างใด ส่วนมาตรการที่ควรจะนำไปใช้ป้องกันโบราณสถานทั่วประเทศนั้น ต้องปรับปรุงให้มีการดูแลเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์การตรวจสอบเพื่อที่จะแจ้งสัญญาณให้เราทราบ”อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับโบราณสถานของชาติที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรนั้น ก็จะมีอาสาสมัครคอยช่วยกันตรวจตราสอดส่อง และใช้แรงงานเพิ่ม ส่วนโบราณวัตถุที่เสียหายจากการถูกทำลายก็คือ นาค ที่อยู่บริเวณทางขึ้น และทวารบาน ซึ่งเท่าที่ดูความเสียหายแล้ว เราต้องบูรณะให้สีผิวใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด และคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณเดือนกว่าจึงจะแล้วเสร็จ
“ยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม คือ การปลูกฝังจิตสำนึก และค่านิยมให้กับประชาชน โดยเฉพาะของโบราณทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งต้องทำให้คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่าของโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุ เพื่อที่เขาจะได้ช่วยกันรักษาเอาไว้ ที่สำคัญปราสาทเขาพนมรุ้งที่กำลังจะถูกเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกนั้น คาดว่าคงจะมีผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”เกรียงไกร กล่าว