xs
xsm
sm
md
lg

ปราสาทเขาพระวิหาร มรดกโลกไม่สมประกอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทเขาพระวิหารอดีตศาสนสถานอันยิ่งใหญ่
ดูเหมือนว่าเรื่องราวของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ศาสนสถานสำคัญที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเขาพระวิหาร จะกลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาแถลงการณ์ ถึงข้อตกลงยินยอมให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้เพียงลำพัง เฉพาะตัวปราสาทที่อยู่ในฝั่งกัมพูชา โดยกล่าวอ้างว่าไทยจะไม่เสียดินแดนแม้แต่ตารางเมตรเดียว

แต่อย่างไรก็ดีจากคำยืนยันของเจ้ากระทรวงบัวแก้ว ก็ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนไทยได้ เพราะแม้ในปี พ.ศ.2505 ศาลโลกจะตัดสินให้กัมพูชาชนะไทยในกรณีเขาพระวิหาร ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 แต่รัฐบาลไทยในยุคนั้นและยุคต่อๆมาต่างก็ไม่ยอมรับในคำตัดสิน ในขณะที่ความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ในครานั้นก็มิอาจยอมรับได้และเป็นดังความคาใจที่ตกตะกอนมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะแม้ศาลโลกจะตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา(ในเขตจังหวัดเปรียะวิเฮียรหรือพระวิหาร) แต่ต้องไม่ลืมว่าบันไดฝั่งทางขึ้นและปราสาทลูกอีกหลายหลัง ตลอดจน สระตราว บรรณาลัย สถูปคู่ ที่เกี่ยวข้องเป็นหนึ่งเดียวกับปราสาทเขาพระวิหารนั้น ตั้งอยู่ฝั่งไทยใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

ดังนั้นการที่เจ้ากระทรวงบัวแก้วออกมาแถลงข่าวว่า ยินยอมให้กัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนเฉพาะปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่สนใจองค์ประกอบอื่นๆที่อยู่ในเขตไทย ดังที่รัฐบาลที่ผ่านมาเคยกระทำมา ไม่ว่าจะเป็นการขอเสนอให้เป็นมรดกโลกร่วมกัน จึงสร้างความเคลือบแคลงใจ สงสัย ให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นวงกว้างถึงการตัดสินใจครั้งนี้ของเจ้ากระทรวงบัวแก้ว
ซากปราสาทหินอันเป็นชนวนข้อพิพาทระหว่างสองประเทศมากว่า 50 ปี
1.
แผนผลักดันปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ของประเทศกัมพูชาได้ริเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2547 ที่คณะรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา มีมติเห็นชอบให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เขาพระวิหาร เพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ศึกษาประวัติศาสตร์ และกำหนดให้ดำเนินการเสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

กระทั่งในเดือนมิถุนายน ปี 2550 ในการประชุมยูเนสโกที่เมืองไคร์ทเชิร์ท ประเทศนิวซีแลนด์ รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะพื้นที่ในเขตของกัมพูชาเท่านั้น เมื่อฝ่ายไทยรับทราบก็ได้ยื่นทักท้วงรัฐบาลกัมพูชา เพราะเห็นว่าควรจะเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของปราสาทเขาพระวิหารส่วนใหญ่ตกอยู่ในเขตแดนไทย
ซึ่งตามหลักประวัติศาสตร์ของเทวาลัยระดับโลก ต้องรวมองค์ประกอบทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน จากผลการประท้วงดังกล่าว ยูเนสโกจึงเลื่อนการพิจารณาออกไป โดยให้ 2 ประเทศ(ไทย-กัมพูชา)ไปตกลงหาข้อยุติ แล้วค่อยนำเสนอที่ประชุมในเดือนมิถุนายน 2551 แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาไทยที่จะนำขึ้นเสนออีกครั้ง จากที่เคยทักท้วงกลับยินยอมยกให้โดยง่ายดาย ในสมัยรัฐบาล ครม. สมัคร สุนทรเวช โดยนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวว่า นี่คือผลงานชิ้นโบแดงของการเจรจาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ต้องยอมรับว่าในบรรดาปัญหาระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยเมื่อไหร่ก็เป็นอันร้อนแรงเมื่อนั้น อันดับหนึ่งต้องยกให้ ปราสาทเขาพระวิหาร ความขัดแย้งที่เป็นรอยแผลอันยากสมานของสองชนชาติเป็นเวลาเกือบ 50 ปี นับแต่การพิจารณาตัดสินของศาลโลกในปี พ.ศ. 2505 และทุกครั้งที่ปราสาทเขาพระวิหารถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยครั้งไหนก็ร้อนแรงทุกครั้ง

ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งคำว่าพื้นที่ทับซ้อนนั้น หมายความถึง พื้นที่ซึ่งเจ้าของที่ทั้งสองประเทศมองว่าต่างคนต่างมีสิทธิ์ครอบครอง ปราสาทพระวิหารมีความสำคัญทั้งไทยและกัมพูชาเป็นปัญหาที่อ่อนไหว ปราสาทเขาพระวิหารเป็นพื้นที่ชายแดนเพียงแห่งเดียวก็ว่าได้ที่มีเรื่อง องค์ประกอบของ เขตแดน ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม รวมกัน

อีกหนึ่งขอเคลือบแคลงใจของประชาชน ที่มีต่อการตัดสินใจในการยินยอมให้ยกปราสาทเขาพระวิหารให้กัมพูชาคือเรื่องของการนำปราสาทเขาพระวิหารแลกกับผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการทำธุรกิจที่เกาะกง และธุรกิจด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ทั่วไป ซึ่งในต้นเดือน ก.ค. 2551 ที่จะถึงนี้ ทางยูเนสโกจะมีการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง ในการประชุม WHC ครั้งที่ 32 ที่จะจัดขึ้นในเมือง Quebec ประเทศแคนาดา ในเดือน ก.ค. ปีนี้ ซึ่งผลการพิจารณาจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป
อีกมุมหนึ่งของปราสาทเขาพระวิหาร
2.

"ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชาไปแล้ว ส่วนเรื่องของบันไดทางขึ้นที่อยู่ทางฝั่งไทย ก็ไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนร่วมกับกัมพูชาได้เช่นกัน เพราะจุดหลักของการขึ้นทะเบียนอยู่ที่ตัวปราสาท ดังนั้นคุณค่าก็อยู่ที่ตัวปราสาทเราจึงไม่สามารถขอจดทะเบียนร่วมในตัวบันไดได้"นี่คือคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ในการยินยอมให้กัมพูชาดำเนินการให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว

แต่หากคิดถึงหลักความเป็นจริง การที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แม้จะขอขึ้นเฉพาะตัวปราสาทแล้วบันไดตลอดจนทางขึ้นถึงชั้น"บันไดนาคราช"ที่ศาลโลกตัดสินให้ไทยเป็นเจ้าของเล่าจะทำอย่างไร?

จริงอยู่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทอาจมองได้ว่าเป็นสิทธิในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาตามคำกล่าวอ้างของเจ้ากระทรวงบัวแก้ว ซึ่งเราอาจมองข้ามเรื่องโบราณสถานและองค์ประกอบอื่นที่อยู่ในฝั่งไทยได้ ซึ่งเรื่องนี้ทาง พิษณุ สุวรรณชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

ในส่วนของบันไดทางขึ้นที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวปราสาทเขาพระวิหารจะแยกออกจากกันได้อย่างไร ? และความเป็นมรดกโลกจะสิ้นสุดอยู่แค่ชั้นบันไดนาคอย่างนั้นหรือ? ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมาจากเจ้ากระทรวงบัวแก้ว และถ้าหากตัวปราสาทเขาพระวิหารได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่ามรดกโลกแห่งนี้ไม่สวมประกอบครบถ้วนเนื่องจากขาดองค์ประกอบอีกหลายอย่างไป ไม่ว่าจะเป็น สระตราว สถูปคู่ ปราสาทโดนตวล ฯลฯ ตามที่ไทยได้เสนอให้เป็นมรดกโลกร่วมกันมาตั้งแต่ต้น

ซึ่งล่าสุดแม้นายนพดลจะออกมาให้ข่าวว่าจะให้เจ้าหน้าที่เตรียมเอกสารที่เคยขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา แต่ถูกปฏิเสธมาพิจารณาใหม่ เพราะเห็นว่าควรจะขึ้นทะเบียนที่อยู่ในส่วนกรรมสิทธิ์ของประเทศไทยด้วย คือสระตราวและบันไดโดยจะเร่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ที่แคนาดาในต้นเดือน ก.ค. นี้ ซึ่งผลการพิจารณาจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป

แต่...ถึงกระนั้นหลายๆคนได้ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์นี้ว่า แล้วทำไมนายนภดลถึงชักช้ารีรอไม่ทำการขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมตั้งแต่ต้น ผิดกับตอนที่เซ็นสัญญายินยอมที่กระทำอย่างเร่งรีบลุกลน ทำไมถึงเพิ่งมาคิดเอาตอนนี้ที่อาจสายเกินไป หรือทำไปเพื่อลดทอนกระแสการคัดค้านของสังคม และแก้เกมการอภิปรายของฝ่ายค้าน ซึ่งในเรื่องนี้ล้วนต่างเป็นพฤติกรรมที่น่าเคลือบแคลงทั้งสิ้น

นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนถาวร ก็ได้ปรากฏว่ามีการก่อสร้างรุกล้ำพื้นที่ทับซ้อนมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544(สมัยรัฐบาลทักษิณ) เริ่มตั้งแต่มีชาวกัมพูชารุกล้ำมา สร้างวัด ที่พักอาศัย และร้านค้า ด้านตะวันตกและทางทิศเหนือของตัวปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งล้วนอยู่ในเขตแดนไทย ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ต้องครุ่นคิด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเองก็ได้ชี้แจ้งถึงเรื่องนี้ว่า ได้ประท้วงรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการละเมิดบันทึกความเข้าใจหรือ เอ็มโอยู ระหว่างไทยกับกัมพูชาถึง 4 ครั้ง ต่อสร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ทับซ้อน

ซึ่งในบันทึกเอ็มโอยูระบุชัดเจนว่า ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ด้านชายแดนปราสาทเขาพระวิหาร ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการไม่ได้ปักปันแนวเขตแดนที่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำแนวเขตชายแดนเรื่อยมา หากปราสาทเขาพระวิหารยกฐานะขึ้นเป็นมรดกโลกแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็ควรถูกจัดการไปด้วย ซึ่งหากจัดการกับปัญหานี้ไม่ได้ ก็จะยิ่งตอกย้ำถึงความไม่สมประกอบของมรดกโลกแห่งใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
หนึ่งในลวดลายแกะสลักบนทับหลังของเขาพระวิหาร
3.

ด้าน ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลก เปิดเผยว่า จากกรณีที่ นาย นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปลงนามสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า การกระทำเช่นนี้ แทบจะเป็นการปิดประตูตายให้ประเทศไทย ให้สูญเสียอธิปไตยบริเวณเขตพื้นที่อนุรักษ์รอบเขาพระวิหาร เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศไปลงนามกับทูตกัมพูชา ก็คือ เป็นการตกลงระหว่างประเทศ ก็คือเป็นการลงนามของประเทศไทย และ ครม.รับรอง นั่นแปลว่าประเทศไทยยอมรับไปแล้ว

"คณะกรรมการมรดกโลกได้เสนอมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2548 ว่า จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกคู่กับกัมพูชา เพราะการขึ้นทะเบียนนั้นแม้เขาพระวิหารจะเป็นแกนหลักของโบราณสถาน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่การพัฒนาอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในฝั่งไทยด้วย"ศ.ดร.อดุลกล่าว

ส่วนแนวทางการแก้ไข ศ.ดร.อดุล กล่าวอย่างหนักใจถึงมติของคณะรัฐมนตรีที่มีต่อปราสาทเขาพระวิหารว่า การเรียกร้องกลับคืนมาแทบจะเป็นไปไม่ได้ ถือว่าการลงนามของนายนพดลเป็นการกระทำในนามของประเทศไทย เว้นแต่เพียงทางเดียว คือรัฐบาลต้องขอยกเลิกสัญญาการลงนามดังกล่าว

"คณะกรรมการมรดกโลกจะมีขอบข่ายเวลาให้ประเทศผู้ยื่นเรื่องได้ทำงาน อยู่ที่ประมาณ 2 ปี หรืออาจจะเร็วกว่านั้น แต่ความเป็นจริง คือ สิ่งที่กัมพูชาทำมาตลอดคือ การลอบบี้หรือการวิ่งเต้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเองในระดับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในขณะที่ไทยแทบไม่ได้ทำเลย"

ในเมื่อกัมพูชาเป็นเจ้าของเฉพาะตัวปราสาท แต่พื้นที่รอบนอกปราสาทเป็นพื้นที่ของแผ่นดินไทย ดังนั้น การจัดทำแผนอนุรักษ์พื้นที่โดยรอบก็ต้องรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินของไทยอย่างแน่นอน อีกทั้งหากขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทก็จะทำให้ขาดความสมบูรณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ เพราะมีโบราณสถานที่เป็นองค์ประกอบของปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในฝั่งไทย ดังนั้นและคณะกรรมการจึงเสนอให้กัมพูชาจดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันกับไทย แต่เมื่อเสนอไปอย่างนั้นทางกัมพูชาก็ไม่ยินยอมมาเจรจากับไทยอีกเลย ซึ่งจากระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ยืนยันจุดยืนเช่นนี้มาโดยตลอด

การที่รัฐบาลไทยยินยอมตามข้อตกลงของกัมพูชานั้น จะมีเรื่องตามมาอีกมากเพราะถึงแม้แผนที่ที่รัฐบาลตอบตกลงไปจะมีแค่เพียงตัวเขาพระวิหารที่ขึ้นเป็นมรดกโลกแต่เมื่อเขาพระวิหารได้ขึ้นเป็นมรดกโลกแล้ว จริงๆ ไทยก็ต้องเผชิญปัญหาการสูญเสียแผ่นดินเพื่อนำไปเป็นเขตอนุรักษ์พื้นที่โดยรอบของปราสาทพระวิหารอยู่ดี

ศ.ดร.อดุล ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ากระทรวงการต่างประเทศไม่รีบร้อนลงนามแบบลุกลี้ลุกลน สังคมก็คงไม่เกิดความสงสัยมายมากแบบนี้ ปีที่ผ่านมากรรมการมรดกโลกก็ยังยืนประเด็นนี้ และไทยก็เรียกร้องให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน เพื่อให้จัดการพื้นที่และองค์ประกอบในฝั่งไทยควบคู่กัน แต่กลายเป็นว่านายนพดล เคลียร์เรื่องนี้แบบเสียเปรียบ จึงเท่ากับเราเสียดินแดนให้กัมพูชาไปแล้ว

"อนาคตหากเขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เนื่องจากพื้นที่แนวกันชนรอบมรดกโลก หากจะทำกิจกรรมอะไรที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบ ฝ่ายไทยต้องถามความเห็นชอบจากกัมพูชาด้วยซึ่งก็คือการสูญเสียอธิปไตยดีๆนี่เอง" อดีตคณะกรรมการ กล่าว

การดำเนินการที่ทำให้ประเทศเสียประโยชน์อย่างมาก และการเนินการที่ยังปกปิดข้อมูลการเซ็นสัญญาร่วมไม่ได้เปิดเผยให้กับสาธารณะชนรับรู้ อันเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศต้องออกมาชี้แจ้งข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดต่อให้ปราสาทหินเขาพระวิหารได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกขึ้นมาจริงๆก็คงเป็นได้แค่เพียง มรดกโลกที่ไม่สมประกอบเป็นมรดกโลกพิการที่เปรียบดังคนมีตัวแต่ขาดแขนขาเท่านั้น น่าอนิจจา...
 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
 
"เขาพระวิหาร" บนเส้นทางความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

"เขาพระวิหาร" อีกครั้ง เป็นมรดกใคร? ก่อนไปเป็นมรดกโลก

ชีวิตต้องสู้ของเด็กชายขายโปสการ์ดแห่ง "เขาพระวิหาร"
ชมผามออีแดง ก่อนเที่ยวเขาพระวิหาร (ตอนที่1)

ชมผามออีแดง ก่อนเที่ยวเขาพระวิหาร (ตอนที่2)
เดี๋ยวเปิด เดี๋ยวปิด เรื่องปกติที่เขาพระวิหาร




กำลังโหลดความคิดเห็น