xs
xsm
sm
md
lg

จากน่านสู่เดียนเบียนฟู เปิดประตูสู่อินโดจีน ตอนที่ 2 : สุขใจในหลวงพระบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย:มะเมี๊ยะ

เส้นทางฝุ่นตลบที่ยากจะหลีกเลี่ยงเมื่อเข้าสู่แดนลาว
การเดินทางทำให้ได้พบเพื่อนใหม่อยู่เสมอ อันนี้ฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เพราะการเดินทางร่วมกับ "คาราวานมิตรภาพไทย ลาว เวียดนาม เปิดน่านสู่อินโดจีน"ครั้งนี้ นอกจากจะครบรสทั้งสุข เสียว ทุกข์ก้มระบมแล้ว ยังพบกับเพื่อนใหม่และรอยยิ้มที่หาได้ตลอดการเดินทาง

ครั้งก่อนฉันได้เริ่มต้นการเดินทางที่จังหวัดน่านและกำลังจะเข้าสู่เขตแดนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่ “ด่านห้วยโก๋น” ที่จังหวัดน่าน หลังจากผ่านด่านเข้าสู่เขตแดนลาวที่ “ด่านน้ำเงิน” ของฝั่งลาว พวกเราก็เริ่มเดิมเครื่องออกสตาร์ทกันทันที เพื่อไปยังเป้าหมายต่อไปคือ “หลวงพระบาง” สำหรับด่านน้ำเงินของฝั่งลาวนั้น ตั้งอยู่ในเมืองเงิน แขวงไชยบุรีของ สปป.ลาว
แพขนานยนต์ขนทั้งคนและรถข้ามฟากที่ท่าเดื่อ
เส้นทางจากเมืองเงินนี้ เป็นส่วนหนึ่งของถนนเชื่อมโยงจากจังหวัดน่านไปยังแขวงอุดมไชยของลาว เพื่อไปยังประเทศจีน และ เส้นทางดังกล่าวยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเดียนเบียนฟูและฮานอยของประเทศเวียดนามได้อีกด้วย ซึ่งเมื่อเข้าสู่เมืองเงินนั้น ฉันก็รู้ได้ทันทีว่าถนนลาดยางที่สะดวกสบายจบสิ้นแล้ว

เส้นทางค่อนข้างทรหด เป็นถนนลูกรังฝุ่นตลบคละคลุ้ง บางช่วงขรุขระมีทั้งหลุม ทั้งบ่อ ฝุ่นเยอะจนต้องหาผ้ามาคลุม ปิดหัว ปิดจมูกไว้ เพราะต่อให้รถของเรามีระบบถ่ายเทอากาศดีเยี่ยมแค่ไหน อย่างไรฝุ่นก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้อยู่ดี

จากเมืองเงินตรงไปอีก 24 กิโลเมตร เป็นเส้นทางไป “ท่าซ่วง” ท่าเรือข้ามฟากสามารถข้ามไปยัง “ปากแบ่ง” แขวงอุดมไชยได้ และมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย ที่ใช้เส้นทางจากปากแบ่งล่องเรือสู่หลวงพระบาง แต่นั้นไม่ใช่เส้นทางที่คาราวานของเราจะไปกัน
บ้านเรือนโคโลเนียลสไตล์ในหลวงพระบาง
พวกเราเลือกอีกเส้นทางหนึ่ง คือ จากเมืองเงิน มาแวะยัง “เมืองหงสา” เพื่อต่อไปยังแขวง”ไชยบุรี”(ออกเสียงภาษาไทยถ้าออกเสียงภาษาลาวเรียกไซยะบุลี)สำหรับเมืองหงสาแห่งนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าฉันหลงมาอยู่พม่าล่ะ ชื่อเมืองหงสาสันนิษฐานกันว่าเมืองนี้เคยเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่ามาก่อน ชื่อหงสาคงได้มาจากการเดินทัพครั้งนั้น

จากเมืองหงสาคาราวานของเรามุ่งหน้ามายังเมืองไชยบุรี เส้นทางช่วงนี้ทรหดมากเพราะเป็นเส้นทางบนเขา ฟ้าช่วงบ่ายครึ้มๆราวกับสายฝนจะโปรยปรายลงมา เหล่าสมาชิกต้องนั่งภาวนาตลอดทาง เพราะเส้นทางลำบากอยู่แล้ว เกิดมีฝนลงหนักอีก งานนี้คงไปไม่ถึงหลวงพระบางเป็นแน่ ถ้าจะมีสิ่งปลอบใจให้คลายกังวลบ้างก็คือทัศนียภาพอันงดงามกลางขุนเขาน้อยใหญ่ที่ขบวนของเราพานพบ

จนในที่สุดคาราวานนับสิบๆคัน ก็สามารถฝ่าฟันวงล้อมของขุนเขา มาหยุดอยู่ที่บริเวณท่าเรือข้ามโขงที่ “ท่าเดื่อ” ท่าเรือข้ามฟากอีกแห่งหนึ่งจนได้ ที่ท่าเดื่อนี้มีข้อควรระวังเรื่องเวลาในการข้ามแพขนานยนต์ ด้วยกฎระเบียบทางการจะห้ามแพขนานยนต์ข้ามลำน้ำหลังช่วงเวลา 6 โมงเย็น ดังนั้นผู้ที่สนใจเส้นทางนี้ควรศึกษาข้อมูลล่วงหน้าด้วย

ใช้เวลาไม่นานในการรอแพขนานยนต์ เพื่อขนถ่ายทั้งคน ทั้งรถ ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง พวกเราก็ข้ามฟากมาได้สำเร็จ จากนั้นรีบรุดหน้าเดินทางต่อทันที ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงเย็นแล้ว แสงแดดที่แผดจ้าเริ่มทอแสงอ่อนลงเรื่อยๆอีกราว 70 กิโลเมตร พวกเราจึงจะเข้าสู่ “หลวงพระบาง” ซึ่งตลอดทางก็ต้องนั่งเล่นกับฝุ่นอยู่นาน กว่าจะเจอถนนสายหลักที่ลาดยาง ก็เหลือระยะทางอีกราว 22 กิโลเมตรก่อนถึงหลวงพระบาง

เชื่อว่า “หลวงพระบาง”คงเป็นอีกหนึ่งเมืองในฝันของอีกหลายๆคน ที่รักความเงียบสงบและแสวงหาวิถีชีวิตที่ขาดหายไป เมืองหลวงพระบาง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ครั้งก่อนฉันบอกว่ามีหลายคนยกย่องให้ เมืองน่านและหลวงพระบางเป็นเมืองคู่แฝดกัน เพราะสองเมืองมีความคล้ายคล้ายกันหลายด้าน ทั้งในฐานะเป็นเมืองน่าอยู่ที่เงียบสงบ ด้วยการดำรงชีวิตเรียบง่าย ปฏิบัติตนตามวิถีพุทธ อีกทั้งสองเมืองนี้ยังเป็น เมืองเก่าในรุ่นราวคราวเดียวกันอีกด้วย
ตักบาตรเช้าที่หลวงพระบางอีกหนึ่งเสน่ห์ทางวัฒนธรรม
ในอดีตเดิมทีหลวงพระบางเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของลาวมาก่อนที่จะย้ายไปเวียงจันทน์ องค์การยูเนสโก้ยกให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกในปีพ.ศ.2538จากนั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงของหลวงพระบางก็เฟื่องฟูในหมู่นักท่องเที่ยวขึ้นเรื่อยๆ หลวงพระบางมีทั้งวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรือนอันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ความผสมกลมกลืนระหว่างของเก่ากับของใหม่ ที่หล่อหลอมจนกลายเป็นหลวงพระบางในปัจจุบัน

พวกเรามาถึงหลวงพระบางช่วงค่ำพอดี จึงเบิกฤกษ์ด้วยการตระเวนราตรีเมืองหลวงพระบางทันที ที่ “ตลาดมืด”ตั้งอยู่บริเวณ ถนน ศรีสว่างวงศ์ เป็นตลาดกลางคืนที่ขายของพื้นเมือง มีทั้งกระเป๋า ผ้าพันคอ สร้อย แหวน กำไล โคมไฟ ภาพเขียน และอีกเยอะแยะจิปาถะ สามารถต่อรองราคาได้ มาแดนลาวสะดวกอยู่อย่างที่สามารถใช้เงินไทยได้

คืนนี้พวกเราพักกันที่หลวงพระบางหนึ่งคืน จากนั้นต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาพบกันเสน่ห์หลวงพระบางอีกอย่างหนึ่งคือการ “ตักบาตรข้าวเหนียว” แถวบริเวณ “วัดแสน” อันที่จริงน่าจะเรียกว่าโยนข้าวเหนียวใส่บาตรเสียมากกว่า ด้วยจำนวนพระที่ทยอยมาอย่างไม่ขาดสายหลายร้อยรูป ควักข้าวเหนียวใส่แทบไม่ทัน

ข้าวเหนียวพวกเราสั่งจากทางโรงแรมที่พัก แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆข้าวเหนียวกระติบสองกระติบไม่เพียงพอ จึงต้องสั่งจากแม่ค้าชาวลาวที่มาถามขาย ทั้งข้าวเหนียว กล้วย ขนมต้มสำหรับใส่บาตร งานนี้แม่ค้ากำไรเห็นๆอาศัยช่วงชุลมุน พระมาหลายรูปหยิบกล้วยบ้าง ขนมบ้าง เติมใส่ตะกร้าของเราไม่ขาดสาย มารู้อีกทีเสียรู้ไปหลายตังค์

เสร็จจากทำบุญก็กลับมาเก็บสัมภาระ ก่อนจะออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไปประจำวันนี้ คือที่ “แขวงอุดมไชย” แต่เมื่อจะจากลาหลวงพระบางไปก็ขอเที่ยวในเมืองให้จุใจก่อน

เริ่มที่ “หอพิพิธภัณฑ์เจ้าชีวิต” หรือพระราชวังหลวงพระบางเดิม ที่สร้างขึ้นปี พ.ศ.2447 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงแบบฝรั่งเศส แต่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นฝรั่งเศสและลาว หลังคายอดปราสาทเป็นศิลปะลาวล้านช้าง ที่นี่จึงถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “ฝรั่งสวมชฎา”


ภายในประกอบด้วย ห้องฟังธรรม จัดแสดงธรรมาสน์ไม้แกะสลักสกุลช่างหลวงพระบาง และพระพุทธรูปสำริดสกุลช่างลาวโบราณ ห้องพิธี หรือ ห้องรับแขก มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวลาวโดยช่างฝีมือชาวฝรั่งเศส และท้องพระโรง ที่ประดับด้วยกระจกหลากสีบนพื้นสีทอง เป็นห้องที่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาเตรียมไว้เพื่อทำพิธีราชาภิเษก แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน ที่นี่ไม่อนุญาตให้พกพาสิ่งของต่างๆอาทิกระเป๋า หรือโทรศัพท์เข้าไป

ห่างออกไปไม่ไกลกันนัก พวกเราแวะมายัง "วัดเชียงทอง" วัดที่ได้รับการยกย่องว่าสำคัญและสวยงามที่สุดของหลวงพระบาง เป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาวที่ยังสมบูรณ์ เนื่องจากไม่ได้ถูกทำลายจากกองทัพฮ่อที่บุกปล้นเมืองหลวงพระบางเหมือนวัดอื่นๆ

ภายในพระอุโบสถหรือที่ชาวลาวเรียกว่า "สิม"มีพระประธาน ชาวลาวเรียก"พระองค์หลวง" เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างสีทองงดงามอร่ามตา ส่วนสิมของวัดเชียงทองนั้นเป็นแบบล้านช้าง มีหลังคาซ้อน 3 ชั้น รูปทรงหลังคาผายกว้างออกเรียกว่าหลังคาปีกนก
พระองค์หลวงประดิษฐานอยู่ในสิมวัดเชียงทอง
ทั้งภายในและภายนอกสิมล้วนมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายรดน้ำด้วยการ "พอกคำ" หรือลงรักปิดทองเป็นเรื่องราวนิทานพื้นบ้านและเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ด้านหลังสิมก็จะเห็นลวดลายประดับกระจกสีเป็นรูปต้นทองหรือต้นงิ้ว มีนกและสัตว์นานาชนิด พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาได้โปรดฯ ให้ช่างทำไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชื่อเชียงทอง หมายความถึงป่าต้นทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณนี้นั่นเอง

อีกสิ่งหนึ่งมีฉันประทับใจในวัดเชียงทองคือ หอพระม่านและหอพระพุทธไสยาสน์ที่อยู่ด้านหลังสิม เป็นหอพระขนาดเล็กสองหลังทาสีพื้นเป็นสีชมพู ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นลวดลายเล่าเรื่องราวนิทานพื้นบ้านของลาว และวีถีชีวิตชาวลาวในอดีต

บริเวณใกล้กับหอพระทั้งสองยังมี "โรงเมี้ยนโกศ" หรือโรงราชรถที่ใช้ในการอัญเชิญพระโกศของเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ ด้านหน้าราชรถเป็นพญานาค 5 ตัวกำลังชูคออ้าปาก นอกจากนั้นภายในโรงราชรถก็ยังมีศิลปวัตถุจำนวนมาก เช่นพระพุทธรูปไม้ บานประตูโบราณ และที่น่าสนใจชมก็คืองานแกะสลักไม้ด้านหน้าโรงเมี้ยนโกศเป็นเรื่องรามเกียรติ์ โดยฝีมือของเพียตัน (พระยาตัน) สุดยอดช่างลาวคนหนึ่ง

ทิ้งทวนล่ำลาหลวงพระบางโดยการขึ้นสู่ "พระธาตุพูสี"สัญลักษณ์แห่งการมาเยือนหลวงพระบาง ดังที่ว่ามาหลวงพระบางไม่ได้ขึ้นสู่ยอดพูสีก็เหมือนมาไม่ถึง ยอดพูสีมีทางขึ้น 2 ทาง แต่ว่าคนส่วนใหญ่นิยมขึ้นพูสีโดยใช้เส้นทางริมถนนกลางเมือง แล้วเดินขึ้นไปบนบันได 328 ขั้น ที่ระหว่างทางร่มรื่นไปด้วยซุ้มต้นจำปาดอกไม้ประจำชาติลาว

บนยอดพูสีมีองค์พระธาตุหุ้มด้วยทองเหลืองฉาบทองคำ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2347 และเป็นที่เคารพของชาวหลวงพระบาง เป็นจุดชมวิวเมืองหลวงพระบางชั้นเยี่ยม แลเห็นทั้งพระราชวังหลวงเดิมและสายน้ำโขง สายน้ำคาน
บ้านเรือนหลังเล็กปลูกแซมอยู่กับต้นไม้ สายน้ำ น่ามองยิ่งนัก

พวกเราอำลาหลวงพระบางกันที่พระธาตุพูสีแห่งนี้ แล้วออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังแขวงอุดมไชยต่อทันที เพราะเป็นเส้นทางพาพวกเราไปสู่เป้าหมายอีกแห่งคือ "เดียนเบียนฟู"ในประเทศเวียดนาม (ติดตามตอนต่อไป)
มองหลวงพระบางจากยอดพูสี
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของสปป.ลาว อดีตเคยเป็นนครหลวงของอาณาจักรลานช้าง ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2538 ใช้เงินกีบเป็นหลักในการซื้อขายโดย 1 บาท ประมาณ 250 กีบ แต่สามารถใช้เงินบาทได้ คนไทยสามารถเข้าหลวงพระบางได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จากน่านสู่เดียนเบียนฟู เปิดประตูสู่อินโดจีน ตอนที่1: มนต์เมืองน่าน    
กำลังโหลดความคิดเห็น