xs
xsm
sm
md
lg

ยลเสน่ห์"เชียงคาน" สัมผัสถิ่นอีสานคลาสสิค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สายนที รินหลั่งจากฟ้า แบ่งพสุธาเป็นซ้ายและขวาสองฝั่ง หากน้ำกั้นขวางก็บ่สำคัญ แต่ความสัมพันธ์ของเฮามั่นคงเรื่อยไป

ถึงไกลกัน คนละฝั่งของ ต่างหมายปรองดองมุ่งหวังทั้งสองจนได้ ด้วยความใฝ่ฝันมั่นสุดหัวใจ ฝากฝังทรวงในเหมือนใจเดียวกัน...


ท่อนแรกของเพลงสองฝั่งโขง(สองฝั่งของ) โดย จำปา(สุลิวัต) ลัดตะนะสะหวัน


1...

ทุกครั้งที่“ผู้จัดการท่องเที่ยว”มายืน ณ ริมฝั่งโขงไทย-ลาวคราวใด หัวใจมันอดสะสกสะท้อนไม่ได้

พวกเรา(คนในอินโดจีน) อยู่ด้วยกันมาดีๆฉันท์เพื่อนพ้องน้องพี่ ฉันท์คนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่จู่ๆผู้รุกรานคนนอกที่อวดอ้างตัวเองว่าศิวิไลซ์ อย่างอังกฤษ-ฝรั่งเศสกลับมาใช้อำนาจบาตรใหญ่ ยึดครองและแบ่งแยกอินโดจีนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นซ้ายเป็นขวา โดยเฉพาะการแบ่งแม่น้ำโขงออกเป็นฝั่งลาว-ซ้าย ฝั่งไทย-ขวา ที่สร้างความปวดร้าวให้กับคนริมฝั่งโขงที่เคยไปมาหาสู่กันเป็นอย่างยิ่ง

“แต่ก่อนเราเคยพายเรือไปมาหาสู่ ข้ามไปข้ามมาเป็นประจำ คนฝั่งโน้น(ฝั่งลาว)เขาจะมาซื้อผักผลไม้ที่นี่ ส่วนคนฝั่งนี้(ฝั่งไทย)ก็จะไปซื้อปลา ซื้อของป่าจากเขา ไม่มีการแบ่งเป็นลาวเป็นไทยมีแต่เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่เดี๋ยวนี้เวลาจะข้ามแดนทีต้องไปข้ามตรงด่านข้ามแดนโน่น”

แม้จะเพิ่งพบกันครั้งแรกแต่ลุงอุดม ชาวเชียงคานโดยกำเนิดผู้เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและไมตรี ที่นำแพะ 3 ตัว ขาว-ดำ-น้ำตาล ออกมาและเล็มหญ้ายามสาย ก็ไม่ขัดข้องที่จะเล่าเรื่องอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายเท่าที่เล่าได้ ให้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ฟัง ณ ริมโขง เมืองเชียงคาน ที่มีทางเดินตัวหนอนทอดยาวคู่ไปกับริมน้ำ

สำหรับเมืองเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย แล้ว นี่คือหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้รุกรานอย่างฝรั่งเศสที่ใช้สายน้ำโขงแบ่งแยกผู้คนริม 2 ฝั่งน้ำเป็นฝัก-เป็นฝ่าย เป็นไทย-เป็นลาว รวมถึงยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเมือง “เชียงคานเดิม-เชียงคานใหม่” ขึ้น ซึ่งตามประวัติคร่าวๆของเมืองนี้ระบุไว้ว่า

...เมืองเชียงคานเดิม ตั้งอยู่บนผาฮดทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.1400 โดยขุนคาน โอรสของขุนคัวกษัตริย์แห่งล้านช้าง ถือเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญริมน้ำโขงที่อยู่ภายใต้การปกครองของสยามมาช้านาน

จนกระทั่งในยุคล่าอาณานิยม สมัยรัชกาลที่ 5 ร.ศ. 112(พ.ศ. 2436) ฝรั่งเศสได้รุกรานอินโดจีนอย่างหนัก จนทำให้สยามต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายทั้งหมดของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสไป รวมไปถึงเมืองเชียงคาน(เดิม)ด้วย (หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเมืองเชียงคานเดิมเป็น "เมืองสานะคาม" ปัจจุบันอยู่ในแขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว)

แต่ดูเหมือนว่าชาวเชียงคานเดิมส่วนใหญ่จะไม่ยินยอมพร้อมใจ ไม่ทนต่อการปกครองของฝรั่งเศส พวกเขาจึงพากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง(เยื้องๆกับเชียงคานเดิมไปทางขวาเล็กน้อย) เกิดเป็นเมืองเชียงคานใหม่หรือเชียงคานในปัจจุบันนั่นเอง...

มาวันนี้อดีตของเชียงคานใหม่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความรุ่งเรืองร่วงโรย เดินทางเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวเล็กๆอันสงบงามริมฝั่งโขง ซึ่งอาจไม่เป็นที่ถูกใจเท่าใดนัก สำหรับผู้นิยมแสงสี-โลกีย์-ความเจริญทางวัตถุ-สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการจัดฉากเพื่อการท่องเที่ยวแบบเรียลลิตี้โชว์จอมปลอม

แต่เชียงคานกลับมีวิถีจริงแท้ของความเรียบง่ายสงบงาม อันเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและน้ำมิตร ให้ผู้คนที่ถวิลหาในบรรยากาศแบบนี้เดินทางไปสัมผัส เพราะยิ่งพลวัตแห่งเทคโนโลยีและความเจริญทางด้านวัตถุขับเคลื่อนหมุนเร็วเท่าใด ก็ยิ่งดูเหมือนว่าจะมีผู้คนเดินหนีจากโลกเทคโนโลยีทีรุมเร้าเข้าสู่ธรรมชาติ ความปลีกวิเวก และความสงบในจิตใจมากขึ้น

ซึ่งสำหรับ“ผู้จัดการท่องเที่ยว”แล้ว ดินแดนแห่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งคนใน(คนในพื้นที่ชาวเชียงคาน) และคนนอก(นักท่องเที่ยว,นายทุนต่างถิ่นที่ไปทำกินที่เชียงคาน) จะต้องช่วยกันดูแลรักษา เก็บบรรยากาศอันเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์เหล่านี้ไว้ไม่ให้เชียงคาน"เละเทะ"  เหมือนเมืองท่องเที่ยวหลายๆเมืองในบ้านเราที่มีจุดกำเนิดคล้ายๆเชียงคาน เพื่อให้เชียงคานเป็นเมืองท่องเที่ยวเล็กๆอันสงบงามที่เต็มแน่นไปด้วยรากทางวิถีชีวิตวัฒนธรรม และเป็นเมืองท่องเที่ยวอันยั่งยืนไว้ตราบนานเท่านาน

2...

ปลายเดือนเดือน ก.พ. 51 ที่กรุงเทพฯไม่สามารถระบุฤดูกาลได้ชัดเจน เพราะบางวันหนาวเย็น บางวันฝนตก บางวันร้อนระยับ ผิดกลับที่เชียงคานที่เราพาตัวและหัวใจมายืนอยู่นั้น ช่วงปลายหนาวเช่นนี้อากาศยังคงเย็นสบาย และหนาวเล็กน้อยถึงปานกลางในพื้นที่ริมฝั่งโขง

แน่นอนว่าเมื่อมาเที่ยวชมเสน่ห์เชียงคาน สิ่งที่ไม่ควรพลาดก็คือการไปสัมผัสกับบรรยากาศริมฝั่งโขงที่เป็นจุดท่องเที่ยวเด่นๆในอำเภอนี้ ซึ่งมีอยู่ 2 จุดหลักๆด้วยกันที่คนนิยมไปเที่ยวไปพักกันนั่นก็คือ บริเวณ(บ้าน)เชียงคานและบริเวณแก่งคุดคู้ที่ต่างก็อยู่ริมน้ำโขงด้วยกันทั้งคู่ ที่แม้ว่าต่างอยู่ริมโขง แต่ว่าทั้ง 2 แห่งต่างก็มีรายละเอียดของเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป

สำหรับที่บ้านเชียงคานนั้น เพื่อความเป็นสิริมงคล “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ขอเริ่มที่“วัดศรีคุณเมือง” อันเป็นวัดเก่าแก่สำคัญในย่านนี้

วัดศรีคุณเมือง ตั้งอยู่ที่ ซอย 7 ถนนชายโขง สร้างราว พ.ศ. 2485 ภายในวัดน่ายลไปด้วยศิลปะผสมทั้งแบบล้านนาและล้านช้าง มีองค์พระธาตุสีเหลืองตั้งเด่นหราอยู่กลางวัด ด้านข้างเป็นที่ตั้งของโบสถ์หลังงาม มีหลังคาลดหลั่นตามแบบศิลปะล้านนา มีศิลปะวัตถุสำคัญมากมายหลายชิ้นอยู่ภายใน

ออกจากวัดศรีคุณเมืองแล้วก็อย่าเพิ่งไปไหน เพราะบนถนนชายโขงนั้นเป็นที่ตั้งของชุมชนริมโขงหนึ่งในเอกลักษณ์สุดคลาสสิคแห่งเชียงคาน ที่วันนี้บ้านเรือนหลายหลังแปรสภาพเป็น โรงแรม เกสต์เฮาส์ และที่พักราคาเยา ทำให้ฝรั่งหลายๆคนเลือกมาพักนอนตามเกสต์เฮาส์ริมโขงกันเป็นเดือนๆ

“มีฝรั่ง 2-3 คน เขามาเที่ยวเชียงคานทุกปี แรกๆเขาก็คุยกันเป็นภาษาของเขา แต่เดี๋ยวนี้เขาคุนกันเป็นภาษาไทยแล้ว บางคนเว้าลาวเฉยเลย”ลุงอุดมเล่าให้ฟัง ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อรับกับสถานะใหม่ทางการท่องเที่ยวของเชียงคาน

ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของบ้านเรือนที่นี่ในสายตาของ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ก็คือมันไม่มีด้านหลัง เพราะด้านหนึ่งหันออกประชิดริมฝั่งน้ำโขง(อันที่จริงด้านนี้คือด้านหลัง) ส่วนอีกด้านหนึ่งติดกับถนนชายโขงที่พาดผ่าน เลยทำให้เรารู้สึกว่าบ้านเรือนแถวนี้มีแต่ด้านหน้า(2 ด้าน)ไปโดยปริยาย

แถมทั้ง 2 ด้าน 2 ฝั่งยังน่ายลแตกต่างกันออกไป โดยด้านริมฝั่งโขงมองไปเห็นทิวทัศน์ขุนเขาฝั่งลาวและวิถีชีวิตในลุ่มน้ำซึ่งยามเย็นตะวันลับฟ้าที่นี่สวยงามไม่เบา

ด้านฟากฝั่งด้านถนนชายโขงนั้นก็ จะเห็นบ้านเรือนไม้ประตูบานเฟี้ยม 2 ชั้นหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“เรือนแรม”สร้างติดๆกันอยู่เป็นจำนวนมาก แซมด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรป และสลับด้วยบ้านเรือนที่สร้างขึ้นใหม่ตามยุคสมัยที่ ณ วันนี้ยังไม่มีทัศนอุจาดปรากฏให้เห็นที่นี่แต่อย่างใด

ส่วนที่ดูเด่นแต่ไม่แปลกแยกก็คือสถาปัตยกรรมแบบยุโรปโดยเฉพาะอาคารหลังขาวหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“ตึกขาว”นั้นที่ปัจจุบันคือเรือนแรมลูกไม้นั้นดูจะได้รับความสนใจจากพวกเล่นกล้องเป็นพิเศษ โดยทุกๆเช้าบนถนนชายโขงพระ-เณร จากวัดละแวกใกล้เคียงจะออกเดินบิณฑบาตให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวใส่บาตรข้าวเหนียว นับเป็นภาพที่เห็นแล้วเปี่ยมศรัทธาน่ายลไม่น้อยเลย

ในขณะที่ในตลาดสดเทศบาลที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลบนถนนสรเชียงคานซอย 9 ทุกเช้าก็จะคึกคักไปด้วยบรรยากาศการซื้อขาย ร้านรวง ข้าวของกิน สภากาแฟ ฯลฯ ในสีสันของตลาดชนบทที่ล้วนต่างเป็นภาพชีวิตจริงที่ยืนยันถึงวิถีอันเรียบง่ายแต่ไม่ไร้รากของชาวเชียงคานได้เป็นอย่างดี

3...

ห่างจากเชียงคานไปนอกเมืองประมาณ 3 กม.บนเส้นทางไป อ.ปากชมออกหนองคาย เป็นที่ตั้งของ“แก่งคุดคู้” ดินแดนริมโขงอันโดดเด่นอีกจุดหนึ่งแห่ง อ.เชียงคาน

แก่งคุดคู้เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ในฝั่งลาวที่ยื่นออกมาขวางกลางลำน้ำโขงในช่วงคดโค้งที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก มีเพียงช่องน้ำแคบๆใกล้ฝั่งไทยเรือแล่นผ่าน

ในช่วงเดือน ก.พ.- พ.ค.ของทุกปีที่น้ำโขงลดระดับแก่งคุดคู้จะดูสวยงามมองเห็นแก่งหินชัดเจน ส่วนยามหน้าฝนน้ำโขงไหลหลากนั้น แก่งคุดคู้จะถูกสายน้ำกลืนกินหายกลายเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ ที่พิเศษก็คือพื้นที่ริมโขงฝั่งไทยนั้นจะเกิดหาดทรายน้ำจืดกว้างไกลโค้งยาวสวยงาม แซมด้วยโขดหินในบางช่วง

บนหาดทรายนี้นอกจากจะลงไปเดินเล่นได้ ยังมีบริการล่องเรือชมแม่น้ำโขง รวมถึงเพิงร้านอาหารชั่วคราวที่ตั้งเฉพาะช่วงน้ำลดตั้งเรียงราย เช่นเดียวกับบนตลิ่งริมฝั่งที่เต็มไปด้วย ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก โดยเฉพาะร้านอาหารนั้น ที่นี่มี กุ้งเต้น และปลาแม่น้ำโขงเป็นเมนูชูโรง ร่วมด้วยเมนูอีสานอย่าง ลาบ ส้มตำ ไก่ย่าง เป็นเมนูยืนพื้น โดยมีสวนหย่อมและอาคารชมวิวหลังคา 8 เหลี่ยมซ้อน 3 ชั้น ให้นักท่องเที่ยวไปยืนถ่ายรูปรับลมชมวิวกัน นอกจากนี้ที่ริมโขงฝั่งไทยยังมีที่พักริมโขงในบรรยากาศชั้นเยี่ยมให้พักอีกด้วย

สำหรับความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของแก่งคุดคู้ก็คือ ที่นี่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชั้นดี โดยยามเช้าเราจะเห็นพระอาทิตย์ค่อยๆส่องแสงโผล่พ้นออกมาจากเหลี่ยมเขาภูควายเงิน เขาลูกใหญ่ที่มีพระพุทธบาทควายเงินอยู่บนยอด

ไหนๆเมื่อพูดถึงพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ก็ขอพูดถึงพระอาทิตย์ตกบ้าง เพราะห่างจากแก่งคุดคู้ไปประมาณ 2 กม. จะมียอด“ภูทอก”เป็นหนึ่งในจุดชมอาทิตย์อัสดงชั้นดี อีกทั้งยังสามารถชมวิว อ.เชียงคานได้รอบด้าน โดยฝั่งหนึ่งจะมองไปเห็นที่ราบเชียงคาน ทุ่งนา ป่าเขา ในขณะที่ฝั่งตรงข้าม วันฟ้าเปิดจะมองเห็นตัวเมืองเชียงคานฝั่งริมโขงได้เป็นอย่างดี

ซึ่ง ณ วันนี้แม้สายน้ำโขงที่ไหลผ่านริมโขงเชียงคาน จะแบ่งแยกความเป็นไทย-ลาว ตามกำหนดของฝรั่งเศส แต่ผมยังเชื่ออยู่ลึกๆว่า สายน้ำโขงจะแบ่งแยกได้แต่เพียงเขตแดนเท่านั้น ส่วนสายสัมพันธ์ของคนริมโขงไทย-ลาว เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงนั้นยังคงแน่นแฟ้นผูกพันอยู่ไม่แปรเปลี่ยน

4...

“...โขงสองฝั่ง กั้นกลางด้วยสายนที แต่ประเพณีนั้นบ่ต่างกัน ชาติลาวและไทยก่อนนั้นเคยได้สัมพันธ์ ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เพียงน้ำเท่านั้นมากั้นแบ่งทาง

ขอฟ้าดิน ช่วยเป็นสักขี โปรดคิดปรานีจงอย่าได้มีวันห่าง อย่าให้สัมพันธ์นั้นต้องจืดจาง ฝากฝังชีวีเหนือนทีสองฝั่งเอย”

ท่อนหลังของเพลงสองฝั่งโขง

*****************************************
อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นอำเภอเล็กๆอันสงบงามริมน้ำโขง จากตัวเมืองเลยไปตามทางหลวง 201 ราว 50 กม.

ในเชียงคานมีที่พักราคาเยาให้เลือกตั้งแต่หลักร้อยต้นๆไปจนถึงประมาณ 1 พันบาท สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในเชียงคานนอกจากที่กล่าวมาในเนื้อเรื่องแล้วก็มี พระพุทธบาทภูควายเงิน พระใหญ่ภูคกงิ้ว วัดท่าแขก ผาแบ่น หมู่บ้านวัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านป่าหนาด โดยผู้สนใจเที่ยวเชียงคานสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดเลย โทร. 0-4281-2812,0-4281-1405

อ.เชียงคาน จ.เลย ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลย 47 กิโลเมตร การเดินทางสามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 201 มุ่งตรงจากตัวเมืองเลยมายัง อ.เชียงคานได้ สอบถามรายละเอียดงานประเพณีผีขนน้ำและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองเลย ได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 โทร.0-4232-5406-7 หรือที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดเลย โทร. 0-4281-2812

การเดินทางสู่ จ.เลย
การเดินทางสู่ อ.เชียงคาน
สถานที่ท่องเที่ยวในเลย              
ที่พักในเลย             
ร้านอาหารในอ.เชียงคาน              
เทศกาลและงานประเพณีจังหวัดเลย 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

"ผีขนน้ำ"แห่งเชียงคาน...รู้จักแล้วจะรัก 

“ภูเรือ” แดนหนาว พราวสะพรั่งหมู่ดอกไม้ 
ตัวอย่างรายการนำเที่ยว จังหวัดเลย 3 วัน 2 คืน


กำลังโหลดความคิดเห็น