โดย : ปิ่น บุตรี
แม้เสน่ห์สูงสุดแห่งหลวงพระบาง สปป.ลาว ในสายตาของผู้มาเยือนอย่างผมจะอยู่ที่“คน” ซึ่งใช้ชีวิตอย่างสงบงาม เรียบง่าย แนบแน่นในพุทธศาสนา แต่กระนั้น“ตัวเมืองหลวงพระบาง”เองก็นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันโดดเด่นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเยือนอย่างไม่สร่างซา
สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงพระบาง ยังคงบรรยากาศแบบเก่าๆทั้งตึกรามบ้านช่องวัดวาอาราม ก็เนื่องมาจากการที่คนหลวงพระบางต่างช่วยกัน“อนุรักษ์”เมืองมรดกโลกนี้ ไว้อย่างเคร่งครัดและเหนียวแน่น ทำให้ในรอบ 10 ปีหลังการเป็นเมืองมรดกโลกตัวเมืองหลวงพระบางมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
ด้วยเหตุนี้ตัวเมืองหลวงพระบางจึงเหมาะแก่การขี่จักรยานเนิบนาบหรือเดินชิลล์ ชิลล์ ชมตึกรามบ้านเรือนและวัดวามอารามยิ่งนัก ซึ่งเส้นทางชมเมืองหลวงพระบางยอดนิยมก็คือ เส้นทางถนนกลางเมือง(ถ.สีสะหว่างวง)ที่เริ่มต้นจากสี่แยกกลางเมืองไล่เรื่อยไปถึงแยกแม่น้ำคานและไปสิ้นสุดที่วัดเชียงทอง
แน่นอนว่าหากชมกันอย่างละเอียดเจาะทุกเม็ดบนถนนสายนี้คงต้องใช้เวลาหลายวัน แต่หากว่าเลือกชมจุดที่เด่นๆ และชมเพื่อความเพลิดเพลินบนถนนเส้นนี้ใช้เวลาเดินชมประมาณหนึ่งวัน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
จุดน่าสนใจอันดับบนถนนสายนี้ ผมเริ่มต้นที่“วัดใหม่สุวันนะพูมาราม” หรือที่ชาวลาวเรียกสั้นๆว่า“วัดใหม่” แต่ว่าจริงๆแล้ว เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2337 ในสมัยพระเจ้าอนุรุทธราช
วัดใหม่ มีความโดดเด่นชวนชมอยู่ที่ “สิม”(โบสถ์หรือวิหาร)ซึ่งดูโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมลาว มีหลังคาทรงอ่อนช้อยซ้อนชั้นกันลงมา มีบานประตูสิมเป็นประตูไม้แกะสลักฝีมือ “เพียตัน” (พระยาตัน) หนึ่งในสุดยอดช่างของลาวเป็นผู้บรรจงสรรค์สร้างที่ดูแล้วสวยงามพลิ้วไหวดีแท้ ส่วนภายในสิมก็มีพระพุทธรูปทรงเครื่องหรือที่คนลาวเรียกกันว่า“พระเอ้”เป็นพระประธานที่ดูเคร่งขรึม
ถัดวัดใหม่ไปเป็น“หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง” ที่ในอดีตเคยเป็นพระราชวังหลวงที่พำนักของเจ้ามหาชีวิต(พระมหากษัตริย์) มาในปัจจุบันพระราชวังหลวงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองที่พอเดินเข้าไปจะเห็นทิวต้นตาล 2 ข้าง นำสายตาไปสู่อาคารพระราชวังที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสผสมลาว ซึ่งหลายๆ คนเปรียบเปรยพระราชวังหลังนี้ว่าเป็น “ฝรั่งสวมชฎา”
ใครที่เข้าไปในหอพิพิธภัณฑ์ฯแล้วเพื่อความเป็นสิริมงคล ควรที่จะไปสักการะ“พระบาง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางที่อยู่ในห้องทางขวามือก่อน จากนั้นใครจะเลือกชมสิ่งใดก็ตามแต่สะดวก โดยในหอพิพิธภัณฑ์ฯยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างเช่น ห้องฮับต้อนที่เต็มไปด้วยกลองมโหระทึกสำริด บัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทองคำในท้องพระโรงใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังมีพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างของหลวงพระบางอีกเพียบ
เมื่อเที่ยวชมหอพิพิธภัณฑ์แล้ว พอเดินออกมาอย่างเพิ่งรีบไปไหน เพราะฝั่งตรงข้ามมี “พระธาตุพูสี” หรือ“พระธาตุจอมพูสี”ตั้งโดดเด่นอยู่บน“พูสี” ที่ถือเป็นใจเมืองหรือหลักเมืองหลวงพระบาง ที่มีตำนานเล่าว่า ฤาษีสองพี่น้องคือ คืออามะละและโยทิกะ ได้เลือกพูสีเป็นใจเมืองเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม โดยปัจจุบันพูสีนับเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวอันสำคัญของเมืองหลวงพระบางที่ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดพูสีกันไม่ได้ขาด
อนึ่งยอดพูสีมีทางขึ้น 2 ทาง แต่ว่าคนส่วนใหญ่นิยมขึ้นพูสีโดยใช้เส้นทางริมถนนกลางเมือง ที่มีบันได 328 ขั้น ซึ่งในระหว่างทางจะร่มรื่นไปด้วยซุ้มต้นจำปา(ลั่นทมหรือลีลาวดี)ดอกไม้ประจำชาติลาว ที่หากใครเดินขึ้นในช่วงจำปาออกดอกก็จะได้สัมผัสกับกลิ่นหอมเย็นของดอกจำปาอบอวลทั่วไป
ครั้นพอถึงยอดพูสี ผมหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะข้างบนนี้โดดเด่นไปด้วยพระธาตุจอมพูสีสีทองอร่ามตา ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2347 ซึ่งเมื่อผมไหว้องค์พระที่พระธาตุจอมพูสีเสร็จสรรพ ทีนี้ก็ได้เวลาชมวิวเมืองหลวงพระบางกันแล้ว เพราะที่บนนี้คือจุดชมวิวเมืองหลวงพระบางชั้นยอด โดยเมื่อมองไปทางฝั่งแม่น้ำโขงก็จะเห็นหอพิพิธภัณฑ์ในสถาปัตยกรรมฝรั่งสวมชฎาตั้งเด่นเป็นสง่าริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนหากมองไปในด้านตรงข้ามก็จะเห็นสายน้ำคานไหลเลี้ยวเคียงคู่กับอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอย่างหลวมๆท่ามกลางขุนเขารายล้อม
ใครที่ชมวิวเมืองหลวงพระบางจนหนำใจแล้ว ขาลงผมแนะนำให้ลงอีกทาง เพราะว่าจะได้พบ“วัดถ้ำพูสี” ที่เป็นรอยพระพุทธบาทธรรมชาติที่ดูคล้ายฝ่าเท้าขนาดใหญ่ฝั่งลึกลงในโพรงถ้ำ ดูแปลกตาน่าสักการะยิ่งนัก
จากรอยพระพุทธบาท ผมเดินลงมาอีกสักพักก็ถึงยังถนนเส้นเดิม ซึ่งช่วงนี้ถือเป็น“ย่านบ้านเจ๊ก” ที่ในอดีตคือย่านค้าขายและที่อยู่ของคนจีนและเวียดนามที่มาทำงานเป็นลูกมือฝรั่งเศส ปัจจุบันย่านบ้านเจ๊กแปรสภาพเป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านอินเทอร์เน็ต ฯลฯ เพื่อบริการนักท่องเที่ยว โดยยังคงลักษณะภายนอกของอาคารที่เป็นตึกเก่าสไตล์โคโลเนียลของฝรั่งเศสไว้อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นผนังปูนสีอ่อนมุงหลังคากระเบื้องดินเผา ประตู หน้าต่าง ที่งดงามด้วยบัวประดับผนัง ซึ่งนับเป็นเสน่ห์อันน่ายลอีกอย่างหนึ่งของหลวงพระบางที่ต้องตาโดนใจนักท่องเที่ยวหลายๆ คน
ที่ย่านบ้านเจ๊กยังมีของดีอีกอย่างหนึ่งซ่อนอยู่นั่นก็คือ “เฮือนมรดกเชียงม่วน” ซึ่งเป็นเรือนคหบดีโบราณตามแบบลาวแท้ๆ ที่ว่ากันว่าเรือนหลังนี้เก่าแก่และคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในหลวงพระบาง
เส้นทางพาสู่ช่วงท้ายของถนนกลางเมืองที่ในช่วงนี้มีวัดให้ชมหลายวัด อาทิ วัดสบ วัดสีบุนเฮือง วัดสีมงคน วัดคีลี วัดปากคาน โดยมีวัดแสนสุขาราม หรือวัดแสน เป็นวัดที่ดูโดดเด่นที่สุดเพราะวัดนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนหนึ่งเดียวในตัวเมืองหลวงพระบาง ซึ่งคนหลวงพระบางเรียกว่า “พระเจ้า 18 สอก” (ภาษาลาว) เพราะสูง 18 ศอก ส่วนสิมของวัดแสนนั้นก็มีการประดับตกแต่งอย่างงดงามด้วยลวดลายหลากหลายรูปแบบ
และจากวัดแสนเลยขึ้นไปหน่อย จะมีทางเลี้ยวซ้ายไปยัง “วัดเชียงทอง” สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่สวยงามที่สุดในหลวงพระบาง ซึ่งใครที่ไปเที่ยวหลวงพระบางห้ามพลาดการเที่ยววัดนี้ด้วยประการทั้งปวง
วัดเชียงทอง นับเป็นตัวแทนของศิลปะสกุลช่างล้านช้างที่งดงามและสมบูรณ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช โดยวัดนี้มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ สิม(โบสถ์หรือวิหาร)ที่งดงามอ่อนช้อย นับเป็นสิมล้านช้างที่งดงามสมบูรณ์ที่สุด ด้วยรูปทรงสิมที่อ่อนช้อยมีหลังคาซ้อน 3 ชั้นลดหลั่นคลุมต่ำ ที่ด้านบนสุดมี”ช่อฟ้า” แบบลาวที่สร้างด้วยลวดลายปราณีตสีทองอร่ามตาโดดเด่นอยู่กลางสันหลังคา ส่วนช่อฟ้าแบบไทยคนลาวเรียกกว่า “โหง่”แกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคชูคออ่อนช้อย
นอกจากรูปทรงอันอ่อนช้อยแล้ว สิมวัดเชียงทองยังโดดเด่นด้วย“พอกคำ”ที่เป็นลวดลายลงรักปิดทอง ตั้งแต่หน้าบันไล่ลงมายังประตูหน้า ผนังด้านนอก ส่วนด้านในสิมมีพระประธานองค์โตประดิษฐานอยู่อย่างขรึมขลังที่เห็นแล้วชวนให้เข้าไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
อีกจุดหนึ่งที่น่ายลก็คือ ลายประดับ“ดอกดวง”หรือกระจกสีรูป “ต้นทอง”ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดที่แวดล้อมอยู่ ณ ด้านหลังสิม นอกจากนี้ที่หอพระม่านและหอพระไสยาสน์ข้างหลังสิมก็มีลวดลายดอกดวงอันสวยงามประดับบนผนังสีชมพูในเรื่องราวนิทานพื้นบ้านลาว และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางในอดีต
ของดีที่วัดเชียงทองยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะที่นี่ยังมี“โรงราชรถ”หรือ“โรงเมี้ยนโกศ”ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2504 เพื่อใช้เป็นโรงเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ โดยมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมทั้งภายนอกและภายใน โดยภายนอกนั้นดูงดงามด้วยลวดลายแกะสลักไม้สีเหลืองอร่ามเรืองรอง ฝีมือของ“เพียตัน”(พระยาตัน) หนึ่งในสุดยอดช่างของลาว(คนเดียวกับที่แกะสลักสิมประตูวัดใหม่) ที่แกะสลักแบบกว้านควักไม้จนงานดูลอยเด่นขึ้นมา เป็นลวดลายอันวิจิตร ไม่ว่าจะเป็นรูปสีดาลุยไฟที่พลิ้วไหวทรงพลังที่บานประตูทางเข้า รูปทศกัณฑ์ฝันว่ากำลังเสพสังวาสกับสาวงามก่อนตายที่บานหน้าต่างบานแรก(ด้านซ้าย) รวมถึงรูปแกะสลักไม้ที่งดงามอีกมากมาย
ในขณะที่เมื่อเดินเข้าสู่ภายในโรงเมี้ยนโกศก็จะพบกับราชรถแกะสลักไม้สีทองเหลืองอร่ามทั้งคัน มีเศียรของพญานาค 5 เศียรยื่นออกมาจากด้านหน้าราชรถอย่างอ่อนช้อยสวยงามแต่ว่าก็แฝงความขรึมขลังอยู่ในที
นอกจากความงามจากงานสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับต่างๆแล้ว วัดเชียงทองยังมีความงดงามอยู่ที่วิถีของพระ-เณรหลวงพระบาง ที่แม้ว่าในแต่ละวันจะมีคนไปเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก แต่ว่าวัดเชียงทองก็ยังคบไร้วี่แววพุทธพาณิชย์ โดยในทุกๆเช้าเจ้าอาวาสวัดเชียงทองจะเป็นรูปแรกที่เดินนำขบวนเหล่าพระภิกษุสงฆ์ไปตักบาตรข้าวเหนียว ส่วนในช่วงกลางวันก็จะมีพระ-เณรมานั่งอ่านตำราศึกษาพระธรรม นั่งสนทนา ทำความสะอาดวัดกันเป็นปกติ
ส่วนในยามเย็นเหล่าพระเณรที่วัดเชียงทองจะพากันเข้าโบสถ์เพื่อทำวัตรเย็น เช่นเดียวกับวัดอื่นๆทั่วหลวงพระบาง ซึ่งนี้คือความงดงามของหลวงพระบางที่งามทั้งเมืองและงามทั้งคน จนกลายเป็นหนึ่งในดินแดนในฝันของนักเดินทางส่วนใหญ่ที่ตั้งใจเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเยือนหลวงพระบางให้ได้...
แม้เสน่ห์สูงสุดแห่งหลวงพระบาง สปป.ลาว ในสายตาของผู้มาเยือนอย่างผมจะอยู่ที่“คน” ซึ่งใช้ชีวิตอย่างสงบงาม เรียบง่าย แนบแน่นในพุทธศาสนา แต่กระนั้น“ตัวเมืองหลวงพระบาง”เองก็นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันโดดเด่นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเยือนอย่างไม่สร่างซา
สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงพระบาง ยังคงบรรยากาศแบบเก่าๆทั้งตึกรามบ้านช่องวัดวาอาราม ก็เนื่องมาจากการที่คนหลวงพระบางต่างช่วยกัน“อนุรักษ์”เมืองมรดกโลกนี้ ไว้อย่างเคร่งครัดและเหนียวแน่น ทำให้ในรอบ 10 ปีหลังการเป็นเมืองมรดกโลกตัวเมืองหลวงพระบางมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
ด้วยเหตุนี้ตัวเมืองหลวงพระบางจึงเหมาะแก่การขี่จักรยานเนิบนาบหรือเดินชิลล์ ชิลล์ ชมตึกรามบ้านเรือนและวัดวามอารามยิ่งนัก ซึ่งเส้นทางชมเมืองหลวงพระบางยอดนิยมก็คือ เส้นทางถนนกลางเมือง(ถ.สีสะหว่างวง)ที่เริ่มต้นจากสี่แยกกลางเมืองไล่เรื่อยไปถึงแยกแม่น้ำคานและไปสิ้นสุดที่วัดเชียงทอง
แน่นอนว่าหากชมกันอย่างละเอียดเจาะทุกเม็ดบนถนนสายนี้คงต้องใช้เวลาหลายวัน แต่หากว่าเลือกชมจุดที่เด่นๆ และชมเพื่อความเพลิดเพลินบนถนนเส้นนี้ใช้เวลาเดินชมประมาณหนึ่งวัน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
จุดน่าสนใจอันดับบนถนนสายนี้ ผมเริ่มต้นที่“วัดใหม่สุวันนะพูมาราม” หรือที่ชาวลาวเรียกสั้นๆว่า“วัดใหม่” แต่ว่าจริงๆแล้ว เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2337 ในสมัยพระเจ้าอนุรุทธราช
วัดใหม่ มีความโดดเด่นชวนชมอยู่ที่ “สิม”(โบสถ์หรือวิหาร)ซึ่งดูโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมลาว มีหลังคาทรงอ่อนช้อยซ้อนชั้นกันลงมา มีบานประตูสิมเป็นประตูไม้แกะสลักฝีมือ “เพียตัน” (พระยาตัน) หนึ่งในสุดยอดช่างของลาวเป็นผู้บรรจงสรรค์สร้างที่ดูแล้วสวยงามพลิ้วไหวดีแท้ ส่วนภายในสิมก็มีพระพุทธรูปทรงเครื่องหรือที่คนลาวเรียกกันว่า“พระเอ้”เป็นพระประธานที่ดูเคร่งขรึม
ถัดวัดใหม่ไปเป็น“หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง” ที่ในอดีตเคยเป็นพระราชวังหลวงที่พำนักของเจ้ามหาชีวิต(พระมหากษัตริย์) มาในปัจจุบันพระราชวังหลวงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองที่พอเดินเข้าไปจะเห็นทิวต้นตาล 2 ข้าง นำสายตาไปสู่อาคารพระราชวังที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสผสมลาว ซึ่งหลายๆ คนเปรียบเปรยพระราชวังหลังนี้ว่าเป็น “ฝรั่งสวมชฎา”
ใครที่เข้าไปในหอพิพิธภัณฑ์ฯแล้วเพื่อความเป็นสิริมงคล ควรที่จะไปสักการะ“พระบาง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางที่อยู่ในห้องทางขวามือก่อน จากนั้นใครจะเลือกชมสิ่งใดก็ตามแต่สะดวก โดยในหอพิพิธภัณฑ์ฯยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างเช่น ห้องฮับต้อนที่เต็มไปด้วยกลองมโหระทึกสำริด บัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทองคำในท้องพระโรงใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังมีพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างของหลวงพระบางอีกเพียบ
เมื่อเที่ยวชมหอพิพิธภัณฑ์แล้ว พอเดินออกมาอย่างเพิ่งรีบไปไหน เพราะฝั่งตรงข้ามมี “พระธาตุพูสี” หรือ“พระธาตุจอมพูสี”ตั้งโดดเด่นอยู่บน“พูสี” ที่ถือเป็นใจเมืองหรือหลักเมืองหลวงพระบาง ที่มีตำนานเล่าว่า ฤาษีสองพี่น้องคือ คืออามะละและโยทิกะ ได้เลือกพูสีเป็นใจเมืองเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม โดยปัจจุบันพูสีนับเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวอันสำคัญของเมืองหลวงพระบางที่ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดพูสีกันไม่ได้ขาด
อนึ่งยอดพูสีมีทางขึ้น 2 ทาง แต่ว่าคนส่วนใหญ่นิยมขึ้นพูสีโดยใช้เส้นทางริมถนนกลางเมือง ที่มีบันได 328 ขั้น ซึ่งในระหว่างทางจะร่มรื่นไปด้วยซุ้มต้นจำปา(ลั่นทมหรือลีลาวดี)ดอกไม้ประจำชาติลาว ที่หากใครเดินขึ้นในช่วงจำปาออกดอกก็จะได้สัมผัสกับกลิ่นหอมเย็นของดอกจำปาอบอวลทั่วไป
ครั้นพอถึงยอดพูสี ผมหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะข้างบนนี้โดดเด่นไปด้วยพระธาตุจอมพูสีสีทองอร่ามตา ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2347 ซึ่งเมื่อผมไหว้องค์พระที่พระธาตุจอมพูสีเสร็จสรรพ ทีนี้ก็ได้เวลาชมวิวเมืองหลวงพระบางกันแล้ว เพราะที่บนนี้คือจุดชมวิวเมืองหลวงพระบางชั้นยอด โดยเมื่อมองไปทางฝั่งแม่น้ำโขงก็จะเห็นหอพิพิธภัณฑ์ในสถาปัตยกรรมฝรั่งสวมชฎาตั้งเด่นเป็นสง่าริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนหากมองไปในด้านตรงข้ามก็จะเห็นสายน้ำคานไหลเลี้ยวเคียงคู่กับอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอย่างหลวมๆท่ามกลางขุนเขารายล้อม
ใครที่ชมวิวเมืองหลวงพระบางจนหนำใจแล้ว ขาลงผมแนะนำให้ลงอีกทาง เพราะว่าจะได้พบ“วัดถ้ำพูสี” ที่เป็นรอยพระพุทธบาทธรรมชาติที่ดูคล้ายฝ่าเท้าขนาดใหญ่ฝั่งลึกลงในโพรงถ้ำ ดูแปลกตาน่าสักการะยิ่งนัก
จากรอยพระพุทธบาท ผมเดินลงมาอีกสักพักก็ถึงยังถนนเส้นเดิม ซึ่งช่วงนี้ถือเป็น“ย่านบ้านเจ๊ก” ที่ในอดีตคือย่านค้าขายและที่อยู่ของคนจีนและเวียดนามที่มาทำงานเป็นลูกมือฝรั่งเศส ปัจจุบันย่านบ้านเจ๊กแปรสภาพเป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านอินเทอร์เน็ต ฯลฯ เพื่อบริการนักท่องเที่ยว โดยยังคงลักษณะภายนอกของอาคารที่เป็นตึกเก่าสไตล์โคโลเนียลของฝรั่งเศสไว้อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นผนังปูนสีอ่อนมุงหลังคากระเบื้องดินเผา ประตู หน้าต่าง ที่งดงามด้วยบัวประดับผนัง ซึ่งนับเป็นเสน่ห์อันน่ายลอีกอย่างหนึ่งของหลวงพระบางที่ต้องตาโดนใจนักท่องเที่ยวหลายๆ คน
ที่ย่านบ้านเจ๊กยังมีของดีอีกอย่างหนึ่งซ่อนอยู่นั่นก็คือ “เฮือนมรดกเชียงม่วน” ซึ่งเป็นเรือนคหบดีโบราณตามแบบลาวแท้ๆ ที่ว่ากันว่าเรือนหลังนี้เก่าแก่และคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในหลวงพระบาง
เส้นทางพาสู่ช่วงท้ายของถนนกลางเมืองที่ในช่วงนี้มีวัดให้ชมหลายวัด อาทิ วัดสบ วัดสีบุนเฮือง วัดสีมงคน วัดคีลี วัดปากคาน โดยมีวัดแสนสุขาราม หรือวัดแสน เป็นวัดที่ดูโดดเด่นที่สุดเพราะวัดนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนหนึ่งเดียวในตัวเมืองหลวงพระบาง ซึ่งคนหลวงพระบางเรียกว่า “พระเจ้า 18 สอก” (ภาษาลาว) เพราะสูง 18 ศอก ส่วนสิมของวัดแสนนั้นก็มีการประดับตกแต่งอย่างงดงามด้วยลวดลายหลากหลายรูปแบบ
และจากวัดแสนเลยขึ้นไปหน่อย จะมีทางเลี้ยวซ้ายไปยัง “วัดเชียงทอง” สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่สวยงามที่สุดในหลวงพระบาง ซึ่งใครที่ไปเที่ยวหลวงพระบางห้ามพลาดการเที่ยววัดนี้ด้วยประการทั้งปวง
วัดเชียงทอง นับเป็นตัวแทนของศิลปะสกุลช่างล้านช้างที่งดงามและสมบูรณ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช โดยวัดนี้มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ สิม(โบสถ์หรือวิหาร)ที่งดงามอ่อนช้อย นับเป็นสิมล้านช้างที่งดงามสมบูรณ์ที่สุด ด้วยรูปทรงสิมที่อ่อนช้อยมีหลังคาซ้อน 3 ชั้นลดหลั่นคลุมต่ำ ที่ด้านบนสุดมี”ช่อฟ้า” แบบลาวที่สร้างด้วยลวดลายปราณีตสีทองอร่ามตาโดดเด่นอยู่กลางสันหลังคา ส่วนช่อฟ้าแบบไทยคนลาวเรียกกว่า “โหง่”แกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคชูคออ่อนช้อย
นอกจากรูปทรงอันอ่อนช้อยแล้ว สิมวัดเชียงทองยังโดดเด่นด้วย“พอกคำ”ที่เป็นลวดลายลงรักปิดทอง ตั้งแต่หน้าบันไล่ลงมายังประตูหน้า ผนังด้านนอก ส่วนด้านในสิมมีพระประธานองค์โตประดิษฐานอยู่อย่างขรึมขลังที่เห็นแล้วชวนให้เข้าไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
อีกจุดหนึ่งที่น่ายลก็คือ ลายประดับ“ดอกดวง”หรือกระจกสีรูป “ต้นทอง”ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดที่แวดล้อมอยู่ ณ ด้านหลังสิม นอกจากนี้ที่หอพระม่านและหอพระไสยาสน์ข้างหลังสิมก็มีลวดลายดอกดวงอันสวยงามประดับบนผนังสีชมพูในเรื่องราวนิทานพื้นบ้านลาว และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางในอดีต
ของดีที่วัดเชียงทองยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะที่นี่ยังมี“โรงราชรถ”หรือ“โรงเมี้ยนโกศ”ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2504 เพื่อใช้เป็นโรงเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ โดยมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมทั้งภายนอกและภายใน โดยภายนอกนั้นดูงดงามด้วยลวดลายแกะสลักไม้สีเหลืองอร่ามเรืองรอง ฝีมือของ“เพียตัน”(พระยาตัน) หนึ่งในสุดยอดช่างของลาว(คนเดียวกับที่แกะสลักสิมประตูวัดใหม่) ที่แกะสลักแบบกว้านควักไม้จนงานดูลอยเด่นขึ้นมา เป็นลวดลายอันวิจิตร ไม่ว่าจะเป็นรูปสีดาลุยไฟที่พลิ้วไหวทรงพลังที่บานประตูทางเข้า รูปทศกัณฑ์ฝันว่ากำลังเสพสังวาสกับสาวงามก่อนตายที่บานหน้าต่างบานแรก(ด้านซ้าย) รวมถึงรูปแกะสลักไม้ที่งดงามอีกมากมาย
ในขณะที่เมื่อเดินเข้าสู่ภายในโรงเมี้ยนโกศก็จะพบกับราชรถแกะสลักไม้สีทองเหลืองอร่ามทั้งคัน มีเศียรของพญานาค 5 เศียรยื่นออกมาจากด้านหน้าราชรถอย่างอ่อนช้อยสวยงามแต่ว่าก็แฝงความขรึมขลังอยู่ในที
นอกจากความงามจากงานสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับต่างๆแล้ว วัดเชียงทองยังมีความงดงามอยู่ที่วิถีของพระ-เณรหลวงพระบาง ที่แม้ว่าในแต่ละวันจะมีคนไปเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก แต่ว่าวัดเชียงทองก็ยังคบไร้วี่แววพุทธพาณิชย์ โดยในทุกๆเช้าเจ้าอาวาสวัดเชียงทองจะเป็นรูปแรกที่เดินนำขบวนเหล่าพระภิกษุสงฆ์ไปตักบาตรข้าวเหนียว ส่วนในช่วงกลางวันก็จะมีพระ-เณรมานั่งอ่านตำราศึกษาพระธรรม นั่งสนทนา ทำความสะอาดวัดกันเป็นปกติ
ส่วนในยามเย็นเหล่าพระเณรที่วัดเชียงทองจะพากันเข้าโบสถ์เพื่อทำวัตรเย็น เช่นเดียวกับวัดอื่นๆทั่วหลวงพระบาง ซึ่งนี้คือความงดงามของหลวงพระบางที่งามทั้งเมืองและงามทั้งคน จนกลายเป็นหนึ่งในดินแดนในฝันของนักเดินทางส่วนใหญ่ที่ตั้งใจเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเยือนหลวงพระบางให้ได้...