xs
xsm
sm
md
lg

คนใน-คนนอก ณ “หลวงพระบาง”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
เมืองหลวงพระบางในอ้อมกอดแห่งขุนเขา
“ได้มาถึงถิ่น ดินแดนเขาเล่าลือนาม โอ้เมืองงดงาม สมเป็นมิ่งขวัญชาวเมือง โอ้หลวงพระบางดินแดนผู้คนเขากล่าว งามแท้เดงามหลายแท้เจ้า สมคำเล่าลือก้องไปไกล...

ได้มาเห็น บ่อยากจากลา โอ้งามแท้หนาสายธาราน้ำของ น้ำคาน ผู้เฒ่าผู้นาง ยอดพูสีบ่มีไสปาน งามวัดวาอาราม หลวงพระบางเจ้างามแท้หนอ...

เจ้าจงก้าวขึ้นสมคำเขากล่าวลือกัน ชาวเมืองสุขสรรค์สร้างสาทำมาหากิน เจ้าจงก้าวไปตามทางสว่างรู้แจ้ง หลวงพระบางประสาปั้นแต่งจงใสแจ้งเมืองส่องแสง...”


บทเพลง“หลวงพระบางยุคใหม่”

.........................................

ในอดีต “หลวงพระบาง” เมืองมรดกโลกแห่งสปป.ลาว ถูกยกให้เป็น “แดนยูโธเปียของนักอุดมคติ” แต่มาวันนี้ความเป็นยูโธเปียได้แปรเปลี่ยนไป กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของสปป.ลาว ซึ่งเต็มไปด้วยความงดงามของบ้านเมืองที่มีการผสมผสานกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ในบรรยากาศเมืองเก่าอันชวนมอง
ทุกๆเช้าพระแต่ละวัดจะพร้อมใจกันออกมาเดินบิณฑบาตเป็นแถวยาวเหยียดนับร้อยๆรูป
และที่สำคัญก็คือหลวงพระบางเป็นเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่มีจิตใจงดงาม จริงใจ ในวิถีที่เรียบง่าย แต่เป็นความเรียบง่ายที่สุดแสนจะมากมายไปด้วยเสน่ห์ ทำให้“คน”แห่งหลวงพระบางถูกยกให้เป็นเสน่ห์สูงสุดของเมืองนี้

สำหรับเสน่ห์ของคนหลวงพระบางนั้น หากจะศึกษาและเรียนรู้กันอย่างละเอียดก็คงต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนี้สักพักใหญ่ พร้อมๆกับคบหาสมาคมคนหลวงพระบางเป็นเพื่อน หรือไม่ก็แต่งงานกับคนหลวงพระบาง แต่กระนั้นก็ใช่ว่าการไปเที่ยวหลวงพระบางจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับเสน่ห์ของคนหลวงพระบางเสียเมื่อไหร่ล่ะ เพราะจริงๆแล้วเสน่ห์อันงดงามของคนเมืองนี้มีให้พบเห็นอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง

เริ่มกันตั้งแต่เช้ามืดที่คนหลวงพระบางส่วนใหญ่จะพากันตื่นแต่เช้าเตรียมข้าวของเพื่อรอ “ตักบาตรข้าวเหนียว” ที่ถือเป็นเสน่ห์อันโดดเด่นของคนเมืองนี้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และเป็นที่ใฝ่ฝันของนักเดินทางทั้งหลายว่า สักวันหนึ่งจะต้องมาตักบาตรข้าวเหนียวที่หลวงพระบางให้จงได้
ตักบาตรข้าวเหนียว เสน่ห์อันโดดเด่นแห่งหลวงพระบาง
สำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่การตักบาตรข้าวเหนียวคือภาพอันชวนตื่นตาตื่นใจ เป็นไฮไลท์ของการท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ในขณะที่ชาวหลวงพระบางแล้วการตักบาตรข้าวเหนียวคือวิถีที่ยังคงแนบแน่นในพระพุทธศาสนา

เมื่อการตักบาตรข้าวเหนียวได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยว ทำให้มีชาวหลวงพระบางจำนวนหนึ่ง จัดทำข้าวเหนียวใส่กระติ๊บไว้ให้นักท่องเที่ยวใส่บาตร ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มองโลกเชิงอุดมคติมักจะไม่ค่อยชื่นชอบเท่าใดนัก มองว่ามันเป็นธุรกิจเกินไป แต่สำหรับผมแล้วนี่คือโลกแห่งความเป็นจริง ที่ชาวบ้านพวกนั้นต้องทำมาหากินจากธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังรุกคืบหลวงพระบางอย่างโตวันโตคืน ส่วนถ้าจะมีไม่ชอบบ้างก็ตรงที่แม่ค้าบางคนชอบมั่วนิ่มนับจำนวนกระติ๊บข้าวเหนียวเกินนั่นแหละ

ครั้นการตักบาตรข้าวเหนียวพ้นผ่านไป วิถียามเช้าของชาวหลวงพระบางก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มความคึกคักขึ้น เพราะร้านรวงต่างๆเริ่มทยอยกันเปิด ไม่ว่าจะเป็น ร้านขายของชำ ร้ายขายของที่ระลึก และร้านขายอาหารอย่าง ข้าวเปียก ข้าวปุ้น เฝอ(ก๋วยเตี๋ยว) ที่เป็นแผงลอยเล็กๆมีชาวลาวเวียนเข้า-ออกมานั่งกินกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสภากาแฟลาวที่มีการพูดคุยที่คึกคัก แต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุยกันในเรื่องสัพเพเหระทั่วไป ไม่ใช่การพูดคุยในประเด็นทางการเมืองอย่างสภากาแฟ(ส่วนใหญ่)ในบ้านเรา
ตลาดเช้าสีสันแห่งวิถีพื้นบ้านของชาวหลวงพระบาง
นอกจากนี้ที่“ตลาดเช้า”ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองก็ถือเป็นอีกหนึ่งแห่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวิถีชีวิตของคนเมืองหลวง โดยในทุกๆเช้าตลาดแห่งนี้จะมีพ่อค้า-แม่ค้านำสินค้าพื้นเมือง พืชผลทางการเกษตร และอาหารพื้นบ้าน มาวางขายกันทั่วไป ในขณะที่ชาวบ้านแถวนั้นต่างก็ออกมาจับจ่ายซื้อข้าวของกันอย่างคึกคัก นับเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยเสน่ห์(พื้นบ้าน)ของชาวหลวงพระบางโดยแท้จริง

เมื่อเวลาเคลื่อนคล้อยจากสายไปจนถึงบ่าย ชาวหลวงพระบางจะดำเนินชีวิตกันอย่างเนิบนาบ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วนี่คือเวลาทองของการออกเที่ยวชมความงดงามของเมืองหลวงพระบาง เมืองเล็กๆอันสงบงามที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาโดยมีสายน้ำโขงและสายน้ำคานเป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนหลวงพระบาง

สำหรับในช่วงสายไปจนถึงบ่ายนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะใช้เวลาขี่จักรยานหรือไม่ก็เดินเที่ยวชมเมืองที่เต็มไปด้วยวัดวาอาราม(26 วัด) และตึกเก่าสไตล์โคโรเนียลแบบฝรั่งเศส รวมถึงบ้านแบบลาวโบราณที่ยังคงมีหลงเหลือให้ชมอยู่นิดหน่อย โดยตัวเมืองหลวงพระบางนั้นมีขนาดเล็กสามารถเดินเที่ยวชมได้อย่างสบายๆ

ในขณะที่บางคนเลือกที่จะออกไปเที่ยวนอกเมืองชมวิถีชีวิตชนบทของชาวหลวงพระบาง ซึ่งหมู่บ้านที่ฮอตฮิตที่สุดก็เห็นจะไม่มีที่ไหนเกิน “หมู่บ้านผานม” หมู่บ้านชาวไทลื้อที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการทอผ้า โดยชาวไทลื้อที่นี่ได้อพยพมาจากสิบสองปันนาเมื่อ 100 กว่าไปที่แล้ว พร้อมๆกับพกพาฝีมือการทอผ้าอันยอดเยี่ยมติดตัวมาด้วย

สำหรับการทอผ้าที่บ้านผานม จะเป็นการทอผ้าแบบโบราณที่ทอด้วยมือโดยใช้กี่กระตุกแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นฝีมือที่สืบทอดต่อๆมกันมาจากบรรพบุรุษ โดยผู้หญิงที่บ้านผานมจากทอผ้าเป็นทุกคน และผู้หญิงส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนี้จะนุ่งซิ่นฝีมือการตำแพนของตัวเอง

และด้วยฝีมือการทอผ้าอันยอดเยี่ยมของชาวบ้านผานม ทั้งในเรื่องลวดลาย ความงามและความประณีตทำให้ผ้าทอบ้านผานมมีชื่อเสียงเลื่องลือไกล กลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในหลวงพระบาง ซึ่งใครที่ไปเที่ยวหมู่บ้านผานมจึงสามารถพบเห็นชาวบ้านประกอบขั้นตอนการทอผ้าอยู่ทั่วไปตั้งแต่การเลี้ยงไหม สาวไหม ปั่นฝ้าย ย้อมสีด้ายจากธรรมชาติ ไปจนถึงการผูกลายและนั่งทอผ้าอยู่ตามใต้ถุนบ้าน

เมื่อแต่ละบ้านทอผ้าเสร็จแล้วก็จะส่งไปวางขายที่ “ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมของหมู่บ้าน” ซึ่งในนั้นจะเต็มไปด้วยสารพัดผ้าทอของชาวบ้านผานม ไม่ว่าจะเป็น ผ้าซิ่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมเตียง ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋า เสื้อ กางเกงเล และอีกมากมายในลวดลายสารพัดแบบทั้งลายสมัยใหม่และลายแบบดั้งเดิม ในสนนราคาย่อมเยาตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพัน แล้วแต่ว่าใครจะพอใจเลือกซื้อเลือกหาลายไหน แบบไหน และในราคาไหน โดยผ้าทอทุกชิ้นล้วนแต่เป็นงานระดับมาสเตอร์พีช ที่หากใครได้เห็นกระบวนการทำตั้งแต่ต้นจนมาถึงการลงมือทอที่ใช้เวลาหลายวัน ก็จะรู้ว่าผ้าทอมือเหล่านี้ขายในสนนราคาไม่แพงแต่อย่างใดเลย

นอกจากผ้าทออันงดงามแล้ว ผู้สาวที่ผ้าผานมก็ถือว่ามีความงดงามไม่แพ้กัน และที่สำคัญก็คือเป็นความงดงามจากภายในไม่ย่าจะเป็นการใช้ชีวิตที่สงบงามในแบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือการมีน้ำมิตรจิตใจที่งดงาม ทำให้ใครที่มาเยือนหมู่บ้านนี้ล้วนต่างได้รับความประทับใจกลับไป

และนี่ก็คือเสน่ห์ของ “คน” เมืองหลวงพระบาง ที่หากว่าไร้ซึ่ง “คนหลวงพระบาง” แล้ว เสน่ห์ของเมืองนี้จะดูด้อยลงไปถนัดตาเลยทีเดียว...

แต่มาวันนี้ เมื่อหลวงพระบางถูกกระแสธารแห่งการท่องเที่ยวในโลกทุนนิยมโหมกระหน่ำ หลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ชาวหลวงพระบาง“คนใน"(พื้นที่)จะยืนหยัดต้านกระแสธารที่รุมเร้าได้มากน้อยแค่ไหน???

...เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิถีชาวหลวงพระบางเปลี่ยนไปก็คือ นักท่องเที่ยว“คนนอก"(พื้นที่) ที่มาเยือนยังหลวงพระบางนั่นเอง...
กำลังโหลดความคิดเห็น