xs
xsm
sm
md
lg

ดัน“โคราช”นำร่องยกระดับ“หัตถกรรมไทย”เป็นศูนย์กลางอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 รัฐบาลผลักดันเปิดโครงการ “ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB” นำร่องโคราชเป็นแห่งแรก เพื่อยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน
นครราชสีมา- รัฐบาลผลักดันเปิดโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB นำร่องโคราชเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน หวังพัฒนาเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่งเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นประธานเปิดโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB ระยะที่ 1 ยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมสู่สากล เพื่อความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปี 2558 กลุ่มผู้นำอาเซียนเห็นพ้องกันในกลยุทธการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การพัฒนาฐานการผลิตร่วม ในอาเซียน เพื่อแสวงหาความได้เปรียบเชิงธุรกิจ โดยในเบื้องต้นได้ระบุฐานการผลิตร่วมไว้ 12 สาขา ซึ่งไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในสาขาการท่องเที่ยวและการบิน ขณะนี้รัฐบาลในภูมิภาคอาเซียน กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนให้ผนึกกำลังเข้าด้วยกัน โดยเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีมากกว่าร้อยละ 90 ของวิสาหกิจทั้งหมดในอาเซียนจะเป็นกลไก และฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

สำหรับการดำเนินโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB จะเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาเอสเอ็มอีได้อย่างเป็นระบบ เป็นรายสาขา เริ่มต้นด้วยการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานในประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และรัฐบาลต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ในกลุ่มสินค้าหัตกรรม เนื่องจากการประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ทั้งความหลากหลายของสินค้า และวัตถุดิบจากธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรม มีจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่ในห่วงโซ่อุปทานมากถึง 50,000 คน ในอุตสาหกรรมผ้าทอเมือและหัตถกรรมอื่น ๆ ประกอบกับงานหัตถกรรมของไทยที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพที่สูงกว่าคู่แข่ง และ ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตในสปป.ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ได้

หัตถกรรมไทยไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการประกอบอาชีพของคนไทยเท่านั้น ยังเป็นวิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมและรากเหง้าแห่งภูมิปัญหาที่ต้องสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงเป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่น สนับสนุนให้เกิดโอกาสขยายช่องทางการตลาดเพื่อเชื่อมโยงสู่แหล่งท่องเที่ยวสินค้าพื้นเมืองและช่วยเผยแพร่ความเป็นเอกลักษณ์ และ อัตลักษณ์ของหัตกรรมไทยสู่ภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า ประมาณร้อยละ 50 ของวิสาหกิจชุมชนของไทยประกอบอาชีพด้านหัตถกรรม ฉะนั้นการพัฒนาต้นแบบธุรกิจในสาขาหัตถกรรมจะส่งผลต่อการกินดีอยู่ดีของประชาชนในวงกว้าง และ การคงอยู่ทางวัฒนธรรมของไทยไว้ได้อย่างยาวนาน

สำหรับโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB นี้เริ่มต้นนำร่องในพื้นที่ จ.นครราชสีมาเป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี เหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งมีภูมิปัญญาในเรื่องหัตถกรรมผ้าทอมือมาอย่างยาวนาน และจะมีการขยายไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป

ผลที่คาดหวังจะได้จากโครงการนี้ คือ ต้นแบบธุรกิจในการพัฒนาคลัสเตอร์ ผ้าทอมือและหัตถกรรมไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค, แกนนำชุมชนมีความรู้ความเข้าใจด้านการทำธุรกิจและการผลิตเบื้องต้นจำนวน 1,200 ราย , กลุ่มชุมชนมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง 50 กลุ่ม , มีการออกแบบสินค้าใหม่ 500 รายการ ,มีประวัติธุรกิจของกลุ่มและสินค้าหัตถกรรมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ 50 กลุ่ม และผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชนมีงานทำอย่างต่อเนื่องจำนวน 50 กลุ่ม โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้นประมาณ 8 เดือน นายภักดิ์ กล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น