xs
xsm
sm
md
lg

เดินเครื่องดันหัตถกรรมโกอินเตอร์ สสว.ตั้งเป้าไทยศูนย์กลางอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี
เปิดตัวโครงการยกระดับหัตถกรรมไทยสู่สากล นำร่องแดนอีสาน ส่งดีไซน์เนอร์ระดับโลก มืออาชีพการตลาดต่อยอดฝีมือชาวบ้าน “กอร์ปศักดิ์” ชี้สอดคล้องแนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ด้าน สสว. ตั้งเป้าผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์สิ่งทอหัตถกรรมในอาเซียน

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB ระยะที่ 1 ณ จังหวัดนครราชสีมา ว่า ในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีชาติสมาชิก 10 ประเทศ ต่อไปนี้ภูมิภาคอาเซียนจะมีประชากรรวมกว่า 560 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ ที่ผู้ค้าในตลาดโลกต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสทางการด้านจะกว้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การแข่งขันจะสูงตามไปด้วย รัฐบาลจึงต้องการให้ผู้ประกอบการระดับกลางและย่อมของไทย หรือเอสเอ็มอี ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ ได้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียนมากที่สุด โดยวางจุดยืนที่จะพัฒนาสินค้าไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ให้มีขีดความสามารถในแข่งขันสูงขึ้น รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มหัตถกรรมผ้าทอและผ้าไหม ถือเป็นหนึ่งในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อัตลักษณ์เฉพาะตัว ความหลากหลายของสินค้า และวัตถุดิบ ฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และมีผู้อยู่สาขานี้ทั้งตรงและต่อเนื่องจำนวนมาก กว่า 50,000 คน แทบทั้งหมดเป็นระดับเอสเอ็มอี เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB ระยะที่ 1 เพื่อยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมสู่สากล และให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเซียน

รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาว่า การทำมาหากินของประชาชนโดยเฉพาะระดับล่าง ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกจะไปอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนสูงมาก ดังนั้น รัฐบาลพยายามขยับคนจนให้ขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางให้มากที่สุด โดยสิ่งทอและหัตถกรรมเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ และมีชาวบ้านเกี่ยวข้องในการผลิตจำนวนมาก แต่ว่าชาวบ้านจะเก่งเฉพาะการผลิต ขาดการตลาด ดังนั้น โครงการดังกล่าวจะเข้ามาเชื่อมต่อการผลิต การตลาด และดีไซน์ เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยให้ชาวบ้านผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ตรงตามความต้องการตลาด และขายได้มูลค่าสูงขึ้น สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ creative economy

ด้านนายภักดิ์ ทองส้ม รักษาการผู้อำนวยการ สสว. เผยถึงรูปแบบการดำเนินโครงการนี้ สสว.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยในภูมิภาค 3 แห่ง สหกรณ์คลัสเตอร์หัตถศิลป์อีสานและสมาคมของขวัญของชำร่วยและของตกแต่งบ้านไทย ซึ่งมีกิจกรรมหลายด้าน เช่น คัดเลือกกลุ่มหัตถกรรมที่มีความพร้อมมาอบรมเพิ่มความขีดสามารถ ทำข้อมูลการตลาดเชิงลึก จัดส่งดีไซน์เนอร์มืออาชีพไปลงพื้นที่ เพื่อช่วยออกแบบให้สินค้าตรงตามความต้องการของตลาดโลก สร้างเครือข่ายในการผลิต และส่งเสริมการตลาด ฯลฯ โดยการดำเนินกิจกรรมจะต่อเนื่องไปทั่วประเทศ เริ่มนำร่องที่ จ.นครราชสีมา เชื่อว่า โครงการนี้ไทยจะช่วยผลักดันให้หัตถกรรมไทยไปสู่สากลได้จริง และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตผ้าทอมือและหัตถกรรมในภูมิภาคอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น