xs
xsm
sm
md
lg

สสว. นำร่องภาคเหนือ ยกระดับแฮนด์เมดสู่อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.)
สสว. เดินหน้าโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB ระยะที่ 1 สู่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ มุ่งยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมผ้าทอและผ้าไหมไทยสู่สากล เพื่อความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ชูกลยุทธ์การยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมไทย ต้องผลิตตามความต้องการของตลาด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ สสว. ดำเนินโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB ระยะที่ 1 ยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมสู่สากล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Sourcing Hub) ในกลุ่มสินค้าหัตถกรรม เนื่องจากประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น ความหลากหลายของสินค้าและวัตถุดิบทั้งจากธรรมชาติและวัตถุดิบเชิงวัฒนธรรม จำนวนผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานถึง 50,000 คน ในอุตสาหกรรมผ้าทอมือและหัตถกรรมอื่น ๆ งานหัตถกรรมของไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพที่สูงกว่าคู่แข่ง ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตใน ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และมีผู้ประกอบการรวมกันไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย ในสหภาพพม่าและอินโดนีเซีย

ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว จะพัฒนาต้นแบบธุรกิจหัตถกรรมไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายในอาเซียน โดยเริ่มนำร่องโครงการที่ภาคเหนือของไทย ที่ จ.เชียงใหม่ โดยโครงการนี้ได้ริเริ่มมาจากแนวคิดว่า ในการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเติบโตด้วยกันได้ จำเป็นต้องมีการแบ่งงานกันทำ และแต่ละประเทศก็จะต้องแสวงหาโอกาสขึ้นมาเป็นผู้นำในสาขาต่างๆ ที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ และรัฐบาลเล็งเห็นการที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเป็นผู้นำในสาขาหนึ่งสาขาใดนั้น จำต้องมีการพัฒนาต้นแบบธุรกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างเป็นระบบ มีการบริหารจัดการที่ดี ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเข้าถึงตลาด การกำหนดราคาที่เหมาะสม การผลิตสินค้าให้ตรงใจตลาด และการสร้างตราสินค้า (Brand)

“จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า ประมาณร้อยละ 50 ของวิสาหกิจชุมชนของไทย ประกอบอาชีพด้านหัตถกรรม นอกจากนี้ สินค้าหัตถกรรมของไทยยังมีความเป็นเอกลักษณ์ แฝงด้วยวัฒนธรรมอันยาวนาน และโดดเด่นเหนือประเทศอาเซียนอื่นๆ ดังนั้น การพัฒนาต้นแบบธุรกิจในสาขาหัตถกรรม จะส่งผลต่อการกินดีอยู่ดีของประชาชนในวงกว้าง และการคงอยู่ทางวัฒนธรรมของไทยไว้ได้อย่างยาวนาน แต่จะให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ผู้ประกอบการต้องเข้าใจความต้องการของตลาด และการใช้งานสินค้าหัตถกรรมในมิติใหม่ๆ เช่น การนำไปใช้ในการตกแต่งที่อยู่อาศัย” ผอ.สสว.ระบุ

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการฯ นี้ สสว. จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคอีก 3 แห่ง สหกรณ์คลัสเตอร์หัตถศิลป์อีสาน สมาคมของขวัญของชำร่วยและของตกแต่งบ้านไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาพันธ์ Life Style 7 แห่ง โดยจะมีกิจกรรมภายใต้โครงการหลายกิจกรรมดังนี้

กิจกรรมที่ 1คัดเลือกและประเมินความพร้อมของชุมชนจากกลุ่มผู้ผลิตทุกภาค จำนวน 100 กลุ่ม
กิจกรรมที่ 2 คัดเลือกกลุ่มหัตถกรรมจำนวน 50 กลุ่ม เข้าร่วมโครงการฯ โดยเริ่มจากการสัมมนาอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการสร้างทัศนคติที่ดีใน ผู้ประกอบการลักษณะพี่สอนน้อง
กิจกรรมที่ 3การดึงลักษณ์ท้องถิ่นมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ โดยการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบชุมชนและผู้ชื้อ
กิจกรรมที่ 4จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการซึ่งจะเน้นกระบวนการสร้างตัวอย่างสินค้าและการตรวจสอบคุณภาพ
กิจกรรมที่ 5การจัดทำข้อมูลกลยุทธ์ การเจาะตลาดเชิงลึก
กิจกรรมที่ 6การจัด Niche Market Review
กิจกรรมที่ 7การจัดทำ Handicraft Cluster Profile และ
กิจกรรมที่ 8การออกงานแสดงสินค้า

ผลที่คาดว่าจะได้รับตามโครงการนี้ คือ ต้นแบบธุรกิจในการพัฒนาคลัสเตอร์ผ้าทอมือและหัตถกรรมไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Sourcing Hub) แกนนำชุมชนมีความรู้ความเข้าใจด้านการทำธุรกิจและการผลิตเบื้องต้นจำนวน 1,200 ราย กลุ่มชุมชนมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง 50 กลุ่ม มีการออกแบบสินค้าใหม่ 500 รายการ มี ประวัติธุรกิจของกลุ่มและสินค้าหัตถกรรมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ 50 กลุ่ม และผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชนมีงานทำอย่างต่อเนื่องจำนวน 50 กลุ่ม โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้นประมาณ 8 เดือน

ทางด้านนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ สสว. เลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสำหรับภาคเหนือในการยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมไทย ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีจุดยุทธศาสตร์ดี เหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ อีกทั้งมีภูมิปัญญาในเรื่องหัตถกรรมผ้าทอมือมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการธุรกิจหัตถกรรมจากพื้นที่ต่างๆ ในภาคเหนือจำนวนกว่า 500 ราย ร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ ทางจังหวัดให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ในการประสานงานและอำนวยความสะดวก และมุ่งหวังให้การดำเนินโครงการของ สสว. ประสบความสำเร็จ โดยสามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการหัตถกรรมในภาคเหนือตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น