xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมรองรับเปิดตลาดการค้าอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. เร่งยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมไทยตั้งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางอาเซียน รองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ชี้ผลการรวมคลัสเตอร์หัตถกรรมสำเร็จเกินคาด 2 ภาคเหนือ อีสานรวมกันได้กว่า 500 ราย สร้างต้นแบบแกนนำชุมชนหัตถกรรม 1,200 ราย คาดว่าจะเกิดแบบใหม่ได้กว่า 500 แบบ

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า ทาง สสว. ได้มีแผนที่ยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมไทย ให้เป็นศูนย์กลางในระดับอาเซียน ตามโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB และได้มีการเปิดตัวตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ จังหวัดนครราชสีมา และสัญจรไปจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการทั้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 500 ราย

ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลต้องการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 โดยเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีมากกว่าร้อยละ 90 ของวิสาหกิจทั้งหมดในอาเซียน จะเป็นกลไกและฟันเฟืองหลัก ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่การนำโดยภาครัฐ แต่ภาครัฐจะมีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ กำหนดนโยบาย ดำเนินโครงการ ให้การสนับสนุนที่จำเป็นและเอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ สสว. ดำเนินโครงการ ASEAN DESIGN & CRAFTS SOURCING HUB ระยะที่ 1 ยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมสู่สากล เพื่อความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างเป็นระบบ โครงการนี้ได้ริเริ่มมาจากแนวคิดว่า ในการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเติบโตด้วยกันได้ จำเป็นต้องมีการแบ่งงานกันทำ และแต่ละประเทศก็จะต้องแสวงหาโอกาสขึ้นมาเป็นผู้นำในสาขาต่างๆ ที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่

“ผลที่คาดว่าจะได้รับตามโครงการนี้ คือ ต้นแบบธุรกิจในการพัฒนาคลัสเตอร์ผ้าทอมือและหัตถกรรมไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Sourcing Hub) แกนนำชุมชนมีความรู้ความเข้าใจด้านการทำธุรกิจและการผลิตเบื้องต้นจำนวน 1,200 ราย กลุ่มชุมชนมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง 50 กลุ่ม มีการออกแบบสินค้าใหม่ 500 รายการ มี ประวัติธุรกิจของกลุ่มและสินค้าหัตถกรรมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ 50 กลุ่ม และผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชนมีงานทำอย่างต่อเนื่องจำนวน 50 กลุ่ม โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้นประมาณ 8 เดือน” นายชาวันย์ระบุ

สำหรับการจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ทางผู้จัดมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการกลุ่มหัตถกรรมในภาคกลางและพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสพบปะกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจหัตถกรรม ได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติจริง และสร้างแรงบันดาลใจในการสรรหาวัตถุดิบ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใคร แต่โดนใจผู้ซื้อ ตลอดจนการเสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับปัญหา และอุปสรรคในการส่งออกสินค้าหัตถกรรมสู่ตลาดต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น