xs
xsm
sm
md
lg

สลักคอก เกาะช้างฝั่งซ้าย : สลัดคอก บอกให้รู้ว่ามีดี/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
กิจกรรมล่องเรือมาดเที่ยวชมป่าชายเลน
เป็นที่รู้กันดีสำหรับคนที่ไปเกาะช้าง จ.ตราด บ่อยๆว่า หากนั่งเรือเฟอรี่จากฝั่งไปถึงยังเกาะช้างแล้วเดินทางไปทางขวา(ฝั่งตต.) ภาพส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นย่านชุมชนที่ค่อนข้างคึกคัก ครึกครื้น แถมบางย่านบางจุดยังอุดมไปด้วยบาร์เบียร์ และแสง-สี-เสียง ที่ไม่ใช่งานไลท์แอนด์ซาวน์ ไม่ใช่เรียลิตี้โชว์ หากแต่เป็นโลกแห่งความจริงที่นับวันความเจริญทางวัตถุนิยมจะรุมเร้าเกาะช้างฝั่งขวามากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายๆคนเปรียบบางพื้นที่บนเกาะช้างฝั่งขวาว่า เป็นดังน้องๆของพัทยาเลยทีเดียว

ผิดกับการเดินทางไปทางฝั่งซ้าย(ของท่าเรือ)ที่หากใครผ่านไป-ผ่านมาก็จะพบว่าฝั่งนี้ยังมีความเป็นธรรมชาติ สงบงาม มีสวนผลไม้หลากหลายให้เห็นกันอยู่ทั่วไป

ที่เกาะช้างฝั่งซ้าย(ฝั่งตอ.) แม้ทะเลชายหาดจะไม่สวยเท่าฝั่งขวา แต่ว่าจากท้องถนนเราสามารถมองเห็นทะเลชายหาดได้ไม่ยาก ต่างจากฝั่งขวาที่แม้จะมีทะเลสวยๆอย่าง หาดคลองพร้าว หาดทรายขาว แต่ว่าในระหว่างที่นั่งรถผ่านเราแทบไม่มีโอกาสมองเห็นทะเลหรือชายหาดดังๆเลย เพราะถูกสิ่งก่อสร้างบดบังทัศนียภาพหมด(นอกจากจะไปยืนชมที่จุดชมวิวในมุมสูงในบางจุด)

สำหรับการไปเยือนเกาะช้างหนล่าสุด ผมไปเที่ยวฝั่งขวาเป็นหลัก แต่ความประทับใจกลับอยู่ในฝั่งซ้ายที่แม้ว่าจะมีโอกาสแวะเวียนไปเที่ยวเพียงไม่นานก็ตาม

ที่เกาะช้างฝั่งซ้าย ผมไปกินอาหารทะเลสดๆ(มื้อเที่ยง)ที่บ้านสลักเพชร ก่อนย้อนกับมาล่องเรือ มาดประยุกต์หรือ“กอนโดล่าเกาะช้าง”(ที่ได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อน) ชมวิถีชีวิตพื้นบ้าน ป่าชายเลน ไปจนออกปากอ่าวที่หมู่บ้านสลักคอก ซึ่งนอกจากจะได้สัมผัสกับความเพลิดเพลินจากการล่องเรือชมทิวทัศน์แล้ว ผมยังพบว่าแนวทางการทำงานของทุนท้องถิ่นที่นี่น่าสนใจไม่น้อยเลย

1…

...ทรัพยากรชุมชนไม่ได้ใช้โดยชุมชน...

นี่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวหลายๆแห่งในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น ป่าเขา ดงดอย หรือทะเลและเกาะต่างๆ ซึ่งนอกจากชาวชุมชนจะไม่ได้ใช้ทรัพยากรของตัวเองเพื่อการดำรงชีวิตหรือเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ชาวบ้านยังถูกทุนต่างถิ่นเข้ามารุกคืบ กลืนกิน พร้อมกับเปลี่ยนสถานะชาวบ้านในพื้นที่ในฐานะ“คนใน” ให้กลายเป็น“คนนอก” ไปโดยปริยาย
ที่นี่มีเรือคยักและเรือมาดประยุกต์ไว้บริการ
และนั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ พิทยา หอมไกรลาศ หัวเรี่ยวหัวแรงหลักและชาวชุมชนหัวก้าวหน้าในบ้านสลักคอกจำนวนหนึ่งรวมตัวกันตั้งชมรมเพื่อการท่องเที่ยวพื้นบ้านขึ้น เพื่อใช้ชาวบ้านสลักคอกได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชุมชนเพื่อการดำรงชีวิตและการท่องเที่ยวที่บูมมาหลายปีแล้วบนเกาะช้าง

ซึ่งสำหรับบ้านสลักคอกนั้น มีความสำคัญมากในทางนิเวศวิทยาบนเกาะช้าง เพราะเป็นที่ตั้งของป่าชายเลนผืนใหญ่สุดบนเกาะช้าง มีขนาดประมาณ 500 ไร่ ที่นอกจากจะเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำ อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา แล้ว ป่าชายเลนยังช่วยป้องกันการพังทลายชายฝั่ง ช่วยลดความเร็วลมที่จะเข้ามาปะทะฝั่ง นอกจากนี้ป่าชายเลนสลักคอกยังเป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้านสำคัญบนเกาะช้าง เป็นแหล่งพืชสมุนไพร รวมไปถึงเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกบนเกาะช้างอีกด้วย

หากป่าผืนนี้เสื่อมโทรมหรือมีอันเป็นไป แน่นอนว่าทรัพยากรทางทะเลและชาวบ้านในละแวกนั้นย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง ณ วันนี้ ผืนป่าบ้านสลักคอกก็ส่วนหนึ่งได้ถูกนายทุนบุกรุกทำนากุ้ง ที่ชาวบ้านแถวนั้นต่างบ่นว่าน้ำเสียจากนากุ้งได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะทางทะเลและป่าชายเลนอยู่ไม่น้อยเลย

ด้วยเหตุนี้“ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก” จึงถือกำเนิดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ อาทิ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนเกาะช้าง(ตามนโยบายรัฐบาล),เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับสมาชิกและชุมชน,เพื่อให้นักท่องเที่ยว ชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนสลักคอกให้คงอยู่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการถือกำเนิดของชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกนั้น ใช่ว่าจะหมดจรดงดงามเหมือนการเปิดตัวธุรกิจ เปิดเฟรนช์ไชน์ เปิดหัวหนังสือใหม่ หรือเปิดร้านอาหาร ของเหล่าดารา นักร้อง ไฮโซ หรือบรรดาเซเลบทั้งหลาย เพราะนี่เป็นการเปิดการท่องเที่ยวชุมชนโดยชาวบ้านที่เริ่มจากศูนย์ ซึ่งนับเป็น การ“สลัดคอก”ของชาว“สลักคอก”ที่ชาวบ้าน(ในชมรม)พยายามเดินออกจากคอก(กรอบ)การท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ที่ปล่อยให้ทุนสามานย์ต่างถิ่นเข้ามากอบโกย ทำลาย ทรัพยากร โดยที่ชาวบ้านทำได้เพียงยืนดู บ้างก็ขายที่ขายทางให้กับนายทุน หรือไม่ก็ไปสมัครเป็นลูกจ้างใช้แรงงาน ให้บริการ ในกิจการของนายทุนเหล่านั้น

2…

“หลังตั้งชมรม พวกเราได้จัดตั้งกองทุนในระบบสหกรณ์ มีการขายหุ้นให้กับสมาชิกหุ้นละ 100 บาท ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ให้ความสนใจ ปีแรกจึงมีชาวบ้านสมัครเข้าเป็นสมาชิกแค่ประมาณ 20 คน เพราะพวกเขายังงงๆอยู่ว่า พวกเรามาทำอะไรกัน ทำประมงอยู่ดีๆจู่ๆก็มาซื้อเรือคยัคให้นักท่องเที่ยวมาเรือเล่นในป่าโกงกางทั้งๆที่ไม่เห็นจะมีอะไรให้ดู ส่วนภาครัฐบางหน่วยงานก็มองพวกเราเชิงลบว่าจะรวมตัวกันตั้งกลุ่มแข็งข้ออะไรหรือเปล่า หรือบางคนก็ว่ามันจะไปกันได้สักกี่น้ำ”
ป่าชายเลนสลักคอก
พี่เอ(ราชันย์ ภู่ทนิน) คนเกาะช้างโดยกำเนิดในฐานะผู้จัดการชมรมท้าวความให้ผมฟัง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการพยายามออกจากคอกเดิมๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“ช่วงตั้งชมรมใหม่ๆมีปัญหาขลุกขลักหลายด้าน แต่ว่าเมื่อไม่ท้อและสู้ต่อไปก็เริ่มเห็นผล ยิ่งมีภาครัฐอย่างอพท.ให้งบสนับสนุน มีททท.มาช่วยด้านประชาสัมพันธ์ ก็ทำให้บ้านสลักคอกวันนี้มีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถขยายกิจการด้วยการต่อเรือมาดเพิ่มเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักท่องเที่ยว”

พี่เอเล่าต่อว่า ในปีแรกของการตั้งชมรมฯ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการประมาณ 1,000 คน แบ่งต่างชาติ 900 คน และคนไทย 100 คน ในขณะที่สมาชิกชมรมก็ได้เงินปันผลสิ้นปีกันคนละ 500 บาท

“เมื่อชมรมเริ่มตั้งหลักได้ ชาวบ้านก็เริ่มหันมาสนใจและให้ความร่วมมือมากขึ้น จนเกิดการรณรงค์ให้ทำความสะอาดตามลำคลอง ตามป่าชายเลน ในพื้นที่หมู่บ้าน และรณรงค์ให้ช่วยกันดูแลทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความหวงแหน เพราะขนาดฝรั่งต่างชาติเขายังเดินทางมาไกลเพื่อมานั่งเรือชมป่าชายเลน แต่กับคนในพื้นที่ที่เห็นอยู่เป็นประจำหากไม่ช่วยกันดูแลรักษามันก็คงจะกระไรอยู่ และนั่นก็ทำให้ชาวบ้านหันมาใส่ใจในชุมชนและมีส่วนร่วมในชุมชนมากขึ้น คือไม่ปล่อยให้ผ่านว่าไม่ใช่ธุระของข้าเหมือนแต่ก่อน ซึ่งดูได้จากปริมาณขยะแถวนั้นที่ปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก”

จากนั้นในที่ปี 2 ชมรม พี่เอบอกว่า มีชาวบ้านมาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้จะมีชาวหมู่บ้านอื่นมาสมัครแต่ชมรมนี้ได้ขอสงวนสิทธิ์ให้กับชาวบ้านสลักคอกก่อน ซึ่งพอขึ้นปีที่ 3 สมาชิกชมรมก็มีเพิ่มมากเป็นจำนวน 80% ของคนในหมู่บ้าน

“ปีล่าสุดผมได้เงินปันผลมา 4 พันบาท”พี่ทอม เจ้าหน้าที่ที่พายเรือกล้ามใหญ่บอกกับผม

สำหรับปีนี้พี่เอบอกว่า ทางชมรมตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 350,000 บาท แต่ถึง ณ วันนี้ยังไม่ครบปี ทำรายได้เกินเป้าไปเล็กน้อยแล้ว
ล่องเรือชมทิวทัศน์
“ในปีหน้าเราจะหยุดไม่ให้สมาชิกเดิมซื้อหุ้นเพิ่ม แต่จะขายหุ้นให้เฉพาะสมาชิกใหม่เท่านั้นเพื่อขยายฐาน และก็จะมีการทบทวนจัดระบบระเบียบของชมรมกันใหม่ เพราะเมื่อการท่องเที่ยวที่นี่ได้รับผลดีเกินคาด หากไม่ควบคุมไว้อาจทำให้ชุมชนแตกได้”

พี่เอบอกอย่างนั้น พร้อมกับเผยไอเดียว่า ในอนาคตเมื่อหลายอย่างเข้าที่เข้าทางอาจจะมีการจัดกิจกรรมโฮมสเตย์ขึ้นในหมู่บ้านเพื่อเป็นอีกทางเลือกของนักท่องเที่ยว และจะมีการเชื่อมโยงกิจกรรมท่องเที่ยวระหว่างชุมชนต่างๆ อย่างเช่น ชุมชนสลักเพชรที่จะมีการตั้งชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักเพชรขึ้นในเร็วๆนี้

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางชมรมฯของเราจะเน้นที่การทำธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนแบบพอเพียงค่อยเป็นค่อยไป โดยจะไม่ยอมให้การท่องเที่ยวมาทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่นี่”

พี่เอกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมกับบอกอีกว่าในกลุ่มของพวกเขาจะไม่ยอมขายที่ให้กับนายทุนต่างถิ่นที่เข้ามากว้านซื้อที่บนเกาะช้างฝั่งซ้ายเด็ดขาด และจะพยายามรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวบ้านอย่าได้ขายที่ให้กับนายทุน เพราะนี่คือแผ่นดินของบรรพบุรุษ คือแผ่นดินเกิดของพวกเขา

"ผมไม่อยากให้เกาะช้างฝั่งซ้ายเหมือนเกาะช้างฝั่งขวา ที่นับวันการท่องเที่ยวแบบไร้ทิศทางทำให้มันดูคล้ายพัทยามากขึ้นทุกวัน"

นอกจากนี้พี่เอยังบอกว่า ถ้าหากนายทุนจะเข้ามากว้านซื้อที่ไปทำที่โรงแรม รีสอร์ท ทางเกาะช้างฝั่งซ้าย โดยใช้วิธีการสกปรกหรือไม่คำนึงถึงความรู้สึกของชาวบ้าน พวกเขาคงไม่ยอมและจะทำการคัดค้านอย่างเต็มที่

ผมฟังแล้วก็ได้แต่เอาใจช่วยอย่างเต็มที่ ทั้งการพยายามรักษาที่ดินไว้ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือนายทุน ทั้งการทำธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนที่แม้จะไม่ใช่มืออาชีพ แต่นี่ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของทุนเล็กๆที่ได้พยายามเบียดแทรกขึ้นมาหาพื้นที่เล็กๆทางการท่องเที่ยว ท่ามกลางกระแสทุนใหญ่ ทุนต่างถิ่น ที่โหมกระหน่ำเข้าตีเกาะช้างอยู่อย่างต่อเนื่อง

3...

สำหรับบทความนี้เกือบจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งด้วยความชื่นชมที่ผมมีต่อการชาวบ้านสลักคอกในการพยายามรักษาผืนแผ่นดิน และการพยายามออกจากคอกการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ เพื่อสร้างทุนท้องถิ่นเล็กๆอันเป็นของชุมชนขึ้น

แต่ประทานโทษ!?! หลังกลับจากเกาะช้างได้ไม่กี่วัน เห็นข่าว หมาเศรษฐี เอ๊ย!!! มหาเศรษฐีคนหนึ่ง พยายามจะชักชวน(มหาเศรษฐี)แขกซาอุมาลงทุนทำนาในบ้านเราแล้วก็รู้สึกว่า

การที่ทุนท้องถิ่นต้องแพ้พ่ายต่อทุนใหญ่สามานย์ต่างถิ่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะโลกนี้มีคนสามานย์เยี่ยงนี้นี่เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น