xs
xsm
sm
md
lg

ตายนับแสน!!! วิบากกรรม...ฤาฝีมือมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑) เพื่อทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐาน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และวันประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑) ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้าสำหรับนุ่ง มีพยากรณ์ว่า น้ำสำหรับปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ การเสี่ยงทายพระโค กินเลี้ยง กินข้าว พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหารจะบริบูรณ์ดี กินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี

ปรารภวันพืชมงคลเป็นเบื้องต้น ด้วยสังเกตมาหลายปีแล้วว่าในวันพืชมงคลจะมีฝนตกเป็นประจำ ไม่พบว่า มีการทำสถิติวิเคราะห์คำพยากรณ์ที่สัมพันธ์กับปริมาณ น้ำฝนที่มีในแต่ละปี และความสมบูรณ์ของผลิตผลทางการเกษตรเลย ถ้ามีการรวบรวมสถิติไว้ จะทำให้สามารถ พยากรณ์อากาศในปีนั้นได้อย่างใกล้เคียง นี่คือภูมิปัญญาของบรรพชนไทยที่สร้างสรรค์ไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน น่าเสียดายที่ความเจริญทางวิทยาการตะวันตก ทำให้ภูมิปัญญาส่วนนี้ถูกเลือนหายไปจากสังคมไทย ก่อให้เกิดการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตามอำนาจของความโลภในจิตใจของคน ที่ปรารถนาในทรัพย์สมบัติมากกว่าความสมดุลทางธรรมชาติ ที่จะเอื้ออำนวยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสันติสุข

การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ที่อาศัยการทำการเกษตร ตามวิถีชีวิตพื้นฐานของชาวบ้านบังหน้า ตามความต้องการของนายทุนผู้โลภมาก ได้ทำลายป่าสงวนของชาติไปอย่างน่าใจหาย มิเพียงเท่านี้ ป่าชายเลนก็ถูกทำลายไปอีก เพื่อนำพื้นที่มาทำนากุ้งบังหน้า ในที่สุดความทุจริตในจิตใจของข้าราชการผู้ทำหน้าที่ออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่เหล่านั้น ก็เป็นการทำลายแนวป้องกันภัยตามธรรมชาติอย่างถาวร

ที่พักผ่อนตามภูเขา ชายทะเล ที่มีทิวทัศน์สวยงาม สามารถเกิดขึ้นได้ ก็เพราะเหตุเช่นนี้ การสรรสร้างความสวยงามจากฝีมือมนุษย์แม้จะดูงดงามจริงตามทัศนะของผู้สร้างและนักท่องเที่ยว สามารถสร้างมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น เช่นกรณีสึนามิ หรือน้ำป่าไหลท่วมบ้านเรือนชุมชน ความสูญเสียจำนวนมากกว่ารายได้นั้น คือสิ่งที่เป็นความจริงในชั่วพริบตา

ความสูญเสียทางทรัพย์สินอาจมีมูลค่าประเมินได้ แต่ความสูญเสียชีวิตของชาวบ้านจากภัยเหล่านี้ มิอาจประเมินค่าได้เลย ความช่วยเหลือที่มีต่อครอบครัวผู้ประสบภัยอาจหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ ด้วยน้ำใจที่เกิดจากความสังเวชกรุณา แต่เวลาผ่านไปไม่นาน ความคิดป้องกันภัยธรรมชาติเหล่านี้ก็เลือนหายไป รอจนเกิดภัยธรรมชาติขึ้นอีกครั้ง จึงมาว่ากันใหม่

ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการป้องกันภัยธรรมชาติเบื้องต้น คือ ความยุติธรรม ในจิตใจของผู้ที่สมัครใจเป็นข้าราชการ หรือข้าผู้ทำการของพระราชา ความหมาย แห่งความยุติธรรมนี้ ต้องศึกษาจากพระบรมราโชวาท ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ดังนี้

“...คำว่า ยุติธรรม นี้ หมายความว่าเป็นคนที่จะวางตัวให้ดี วางตัวให้ตรง วางตัวที่จะทำอะไรที่ตรงไปตรงมา ในโรงศาลเองก็จะต้องทำ แต่นอกโรงศาลก็จะต้องทำ ถ้าทุกแห่ง ท่านจะต้องทำตัวให้ดี ให้ยุติธรรม เพราะว่าผู้ที่เป็นผู้พิพากษา เป็นตัวอย่างของความดี ความดีของผู้ที่จะวางตัวให้ดี หรือวางตัวให้ตรง วางตัวให้ยุติธรรมคือวางตัวให้ดี ที่ดีๆ ลำบาก เพราะว่าถ้าท่านทำอะไรที่ตรงไปตรงมาคือแบบไม่มีอะไรไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าความตรงไปตรงมานี้อยู่ที่ไหน ความตรงไปตรงมาคือทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านจะทำ ในเวลาทำหน้า ที่และมอบหน้าที่ จะต้องวางตัวให้ดี หมายความว่าแต่ ละท่านจะต้องพยายามที่จะทำเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน ทำเป็นตัวอย่างที่ดี แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่อยู่เหนือความยุติธรรม...”

ถ้าข้าราชการสามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดเป็นนิสัย ความอยุติธรรมที่สร้างความไม่เสมอภาคในสังคมก็จะไม่มี การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ป่าชายเลน ก็ย่อมหมดไป แนวป้องกันภัยธรรมชาติจากป่าสงวนและป่าชายเลน ก็จะถูกฟื้นคืนมาได้อย่างแน่นอน

แต่แน่ใจหรือว่าแค่นี้จะทำให้ภัยธรรมชาติเช่นวาตภัย อุทกภัย หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยได้ ตอบได้อย่างจริง แท้ว่าไม่หมดแน่ เพราะป่าสงวนและป่าชายเลนนั้น สามารถบรรเทาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากลมพายุ น้ำป่า และน้ำทะเล ได้ก็จริง แต่พลังงานแห่งการทำลายล้างของภัยธรรมชาติเหล่านั้น ก็ไม่ถูกหยุดยั้งได้จากแนวป้องกันภัยเหล่านี้ทั้งหมด แม้มนุษย์จะสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่แข็งแรงมั่นคงสามารถต้านทานแรงกระทำที่มหาศาลได้ แต่มหาภัยจากธรรมชาติก็สามารถชนะสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นได้เสมอ เช่น ความมั่นคงของอาคารที่พักชายทะเล ที่ว่าแข็งแรง ก็ต้านทานแรงกระทบของคลื่นยักษ์สึนามิไม่ได้ (พ.ศ.๒๕๔๗) อาคารคอนกรีต เสริมเหล็กในเขตเป่ยฉวน มณฑลเสฉวน ก็ไม่อาจต้านทานต่อแผ่นดินไหว ที่แรงถึง ๗.๙ ริกเตอร์ได้ (๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑) ความรุนแรงของพายุไซโคลนนาร์กีสที่พัดถล่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี จน ถึงกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า (๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑) ความสูญเสียชีวิตของผู้คนที่มีจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสน คือสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีจากมหาภัยเหล่านี้ พร้อมทั้งสิ่งที่ติดตามมาคือความขาดแคลนเวชภัณฑ์ในการรักษา ผู้ได้รับบาดเจ็บ การค้นหาผู้รอดชีวิต และภาวะโรคระบาด ที่สุดงบประมาณในการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนที่ได้รับภัยพิบัติ ก็ถูกนำมาใช้อย่างฉุกเฉิน

ขออนุโมทนายกย่องในความเอื้อเฟื้อเปี่ยมล้นด้วยความกรุณาต่อกันของชาวโลก ที่มอบความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากมหาภัยเหล่านี้ นี่คือสิ่งสวยงามอันทรงค่าของโลกใบนี้ ที่ทุกศาสนาก็สรรเสริญ

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ก็ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งต่อคณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์และมูลนิธิสื่อสารทางไกล ที่เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ความว่า

“...ในขณะนี้สถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ในประเทศใกล้เคียงก็มี ทั้งประเทศจีนก็มีการช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับนานาชาติก็เป็นการดี การที่ประเทศอยู่เย็นเป็นสุขต้องช่วยกัน เอื้อเฟื้อคนไทยด้วยกัน และเอื้อเฟื้อประชาชนที่ไม่ใช่คนไทย และมี สำนึกในการทำความดีก็จะไม่เปล่าประโยชน์ ไม่ได้บอกว่าคนไทยดีมาก แต่คนไทย “ดี” รู้จักช่วยกัน ทำให้โลกอยู่ได้...”

๑๐ ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติบนโลกใบนี้ ล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งสร้างสรรค์ความสุขสบายในการดำเนินชีวิตให้เกิดขึ้นแก่สังคม กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำลายสมดุลของธรรมชาติไปมากมาย
ถ้าอุตสาหกรรมในการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคมีความเจริญมากขึ้น ตามความต้องการของผู้บริโภค ภาวการณ์ ผันผวนทางธรรมชาติก็จะมีมากขึ้น และเพิ่มขึ้นตลอดเวลา มหาวาตภัย อุทกภัย ไฟป่า ล้วนเป็นผลมาจากความสุขในระบอบทุนนิยมทั้งสิ้น

การทำลายธรรมชาติที่รุนแรงและสร้างผลกระทบทางธรณีวิทยามากที่สุดคืออุตสาหกรรมทางทหาร เชื่อกันว่าการทดลองขีปนาวุธในชั้นใต้ดินของหลายประเทศ มีผลกระทบต่อระบบแกนกลางของโลก ความผันผวนของความร้อนที่เกิดในแกนกลางของโลก มีส่วนผลักดันให้รอยเลื่อนของแผ่นดินมีการเคลื่อนไหว เป็นปัจจัยทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และภูเขาไฟหลายแห่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การประทุตัวได้ในที่สุด ถ้าแผ่นดินไหวหรือการประทุตัวของภูเขาไฟเกิดขึ้นในมหาสมุทร จะเป็นเหตุก่อคลื่นสึนามิด้วย

การทดลองยิงขีปนาวุธทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อ ระบบอากาศที่ห่อหุ้มโลกไว้ ตลอดถึงการสร้างภาวะเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมา ผลเสียหายทางธรรมชาติที่เด่นชัดคือน้ำแข็งที่ขั้วโลกมีการละลายตัวเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทรให้มากขึ้น อากาศที่ร้อนผิดปกติและน้ำที่มากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัย ที่หนุนให้เกิดพายุไซโคลนได้ในที่สุด ผลประโยชน์จากการขายขีปนาวุธ หรือมีขีปนาวุธไว้ในครอบครอง อาจจะทำความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นแก่ประเทศนั้น แต่หายนะอันยิ่งใหญ่ก็เป็นผลที่ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ความสูญเสียชีวิตในมหาภัยจากธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตไม่ได้คำนึงมาก่อนเลย

เพราะแนวความคิดที่ตระหนักถึงหายนะที่เกิดจากอาวุธสงคราม นายอัลเฟรด แบร์นฮาร์ด โนเบล (Alfred Bernhard Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน วิศวกร นักประดิษฐ์ ผู้ผลิตอาวุธและผู้คิดค้นดินระเบิดไดนาไมท์ เจ้าของบริษัทโบโฟรส์ (Bofors) ผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ จึงได้ทำพินัยกรรมพร้อมคำสัญญายกที่ดินและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล เพื่อใช้จัดตั้งเป็นรางวัลโนเบล สำหรับมอบแก่ผู้ทำประโยชน์ดีเด่นแก่โลกโดยไม่เลือกสัญชาติ ในทุกปี จนถึงปัจจุบัน

ความเจริญทางอุตสาหกรรมมีมากขึ้นเท่าไร การใช้ธรรมชาติเพื่อทำให้เกิดความเจริญนั้นก็มีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ดังเช่นการบริโภคน้ำมันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวเร่งให้มีการสูบน้ำมันขึ้นมาจากใต้ดินในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ผลที่ติดตามมาคือการทรุดตัวของแผ่นดิน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองไดเซ็ตต้า รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่ดินทรุดตัวลงมาเป็นหลุมกว้าง กลืนโรงเก็บอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมันและรถยนต์ หลายคันลงไป ปรากฏการณ์แผ่นดินทรุดตัวเป็นหลุมใหญ่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเท็กซัส (๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑)

ความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้ทำลายสมดุลธรรมชาติที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มหันตภัยจากธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และจะทวีความรุนแรงเพิ่ม ขึ้นทุกขณะ ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินก็จะมีมาก ขึ้น แม้มนุษย์จะพัฒนาระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ให้มีความสามารถรับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ธรรมชาติก็ยังสร้างมหันตภัยแก่มนุษย์ต่อไปได้อีกนาน

บรรพชนไทยได้สร้างวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม กลมกลืนกับธรรมชาติ ไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา แต่อนิจจาทายาทหลายคนมิได้ยกย่อง ในมรดกส่วนนี้เลย กลับไปทูนเทิดวัฒนธรรมประเพณีทางตะวันตก ที่สร้างความเสียหายต่อขบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เป็นเหตุให้เกิดมหันตภัยทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ควรที่ลูกหลานไทยจะหวนกลับมาศึกษา ภูมิปัญญาไทยที่เป็นมรดกของบรรพชน แล้วพยายามรักษาจารีตประเพณีเหล่านั้นให้คงอยู่สืบไป ความสมดุลทางธรรมชาติในประเทศไทยก็จะเกิดมีขึ้น ความไม่ประมาทที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมไทย จะทำให้เราได้รู้จักการระวังป้องกันมหันตภัยทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ในที่สุด

พายุไซโคลนนาร์กีส ในพม่า แผ่นดินไหวในจีน คงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแห่งมหันตภัยทางธรรมชาติ แต่การศึกษาถึงเหตุที่เกิดมหันตภัยทางธรรมชาติเช่นนี้ จะช่วยป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของมนุษยชาติให้ปลอดภัยได้ เพราะการศึกษาจะทำให้ในที่สุดทราบว่า

ชีวิตที่ตายไปจำนวนมากมายนั้น เป็นวิบากกรรม ฤาฝีมือมนุษย์?

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย หลวงโต)
กำลังโหลดความคิดเห็น