xs
xsm
sm
md
lg

จากน่านสู่เดียนเบียนฟู เปิดประตูสู่อินโดจีน ตอนจบ : ไทดำเมืองแถง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย:มะเมี้ยะ
กระท่อมทหารสื่อสารของฝ่ายเวียดมินห์
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สุภาษิตไทยยังใช้ได้ดีเสมอ หลังจากที่มีโอกาสได้มาเวียดนามเยือนเดียนเบียนฟูเมืองแห่งประวัติศาสตร์ด้านการสงคราม ได้ชมค่าย คู ประตู หอรบ ของทหารฝ่ายฝรั่งเศสไปแล้วนั้น ถ้าจะให้เสมอภาคกันฉันก็ต้องไปแวะดูค่ายรบของฝ่ายทหารเวียดมินห์ด้วย

ฉันจึงมาเที่ยวชมต่อที่ฐานทัพของฝ่ายเวียดมินห์ "กองบัญชาการของนายพลโว เหงียน เกื๊ยบ" ที่มีฐานกำลังรบอยู่นอกเมือง ทีแรกคิดว่าไม่นานเราคงที่ถึงที่หมาย เพราะจากสถานที่ท่องเที่ยวก่อนหน้านั้น ใช้เวลาไปในแต่ละจุดไม่เกินสิบนาทีเท่านั้น แต่คราวนี้ต่างกันนั่งรถนานเป็นพิเศษ ออกนอกเมืองมาไกลโข ทางขึ้นเขาอีกต่างหาก

รถเมล์โดยสารปรับอากาศพวงมาลัยซ้าย จอดแน่นิ่งอยู่บริเวณหน้าทางขึ้นเมื่อมาถึงที่หมาย ที่จนถึงขณะนี้ฉันก็ยังคงมองไม่เห็นว่า ฐานทัพเวียดมินห์ ตั้งอยู่ ณ ที่ใด เพราะเห็นแต่ทุ่งนา จวบจนเมื่อเห็น ทองสุก บุนนะลาด ไกด์ชาวลาวประจำคณะของเรา เดินนำลิ่วขึ้นบันไดหินที่สูงชันนับสิบขั้นขึ้นไป ลางสังหรณ์ก็บังเกิดทันที งานนี้มีเดินให้ร่างกายได้เผาผลาญแคลอรี่เป็นแน่แท้

ซึ่งก็เป็นจริงดังคาด ทางเดินสู่ค่ายของเวียดมินห์นี้ตั้งอยู่ในป่า เป็นการเดินขึ้นสู่ที่สูงเรื่อยๆเดินมาได้ราว15 นาที ฉันก็ได้พบค่ายของทหารเวียดมินห์ดังปรารถนา ที่นี่สามารถเดินวนดูเป็นวงกลมได้ เพราะมีการสร้างทางเดินหินเชื่อมถึงกัน

ที่ค่ายเวียดมินห์แห่งนี้มีทั้งอยู่บนดินและใต้ดิน พวกที่อยู่บนดินจะเป็นหน่วยของทหารสื่อสารเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ยังคงมีกระท่อม ที่ใช้เป็นทั้งที่ทำงานและที่หลับนอนของเหล่าทหารหาญหลงเหลือให้เห็นอยู่ ภายในมีหุ่นที่สร้างขึ้นมา เพื่อจำลองรูปแบบวิธีการสื่อสาร ในช่วงสงครามกับฝรั่งเศสอันเป็นความภาคภูมิใจของชาวเวียดนามปรากฏให้เห็น

นอกจากหน่วยของทหารสื่อสารแล้ว ก็ยังมีโรงอาหารอีกด้วย ส่วนที่ฐานทัพใต้ดิน เป็นที่อยู่ของนายพล โว เหงียน เกี๊ยบ และนายทหารชั้นเสนาธิการมี ห้องนอน ห้องน้ำอยู่ใต้ดิน ลอดเล่นในอุโมงค์ดูวิถีนักรบเวียดมินห์ คิดอยู่ว่าตัวเองโชคดีแค่ไหน ที่เกิดขึ้นมาในประเทศที่มีแต่ความสงบสุข และไม่ได้เกิดมาในยุคสงครามเข่นฆ่ากันแบบนี้

การสู้รบนี้ฝ่ายเวียดมินห์เป็นฝ่ายกุมชัยชนะ มีการเจรจาสงบศึกที่เจนีวา ปี 1954 ที่ประชุมตกลงแบ่งเวียดนามเป็นสองส่วนชั่วคราว เวียดนามเหนือเป็นของพวกคอมมิวนิสต์ และฝรั่งเศสยังครอบครองเวียดนามใต้ โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1956 หลังฝรั่งเศสถอนตัว สหรัฐฯ ได้เข้ามาสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามใต้ซึ่งมีจักรพรรดิเบาได๋ เป็นประมุข และโงดินเดียม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นศัตรูกัน มีการสังหารพวกชาตินิยมและพวกก่อการร้ายเกิดขึ้นทั้งในเวียดนามเหนือและใต้ ความขัดแย้งขยายตัวเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสงครามเวียดนาม (สงครามอินโดจีนครั้งที่ 2) ในครั้งต่อมา

เสร็จสิ้นจากฐานทัพเวียดมินห์แล้ว ก็ใช่ว่าจะเดินทางออกมาจากที่นั่นทันที เพราะที่นี่ดูท่าว่าจะมีของดีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นทุ่งข้าวสีทอง ที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา และสาวไทดำใส่ "เสื้อก้อม"เสื้อแขนยาวทรงกระบอก ผ้าซิ่นสีดำ ตั้งเกล้า คลุมเปียว (ผ้าคลุมศีรษะสีดำปักลวดลายที่ปลายทั้งสองข้าง)

บ้างก็สวมหมวกเวียดนามที่ทำมาจากใบจาก ที่เรียกว่า "น๊อน ล้า" (Non la) แต่ทางภาคอีสานอาจจะรู้จักในชื่อเรียกว่า "กุบ"เดินกันอยู่ตามคันนากำลังจะเดินกลับบ้าน ที่เป็นหมู่บ้านรูปแบบศิลปะของไทดำซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ใกล้ๆไม่ไกลนัก

หมู่บ้านตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งข้าวสีทอง เป็นภาพที่งดงามจับตายิ่ง ฉันเดินเล่นอยู่ริมถนนที่นานจะมีรถราขับผ่านมาสักคัน ริมถนนมีหนุ่มสาวไทดำ นำข้าวที่เพิ่งเกี่ยวจากนามากองรวมกันบนพื้นผ้าใบ แล้วฟาดข้าวแรงๆลงบนแผ่นไม้กระดาน เครื่องทุ่นแรงชนิดเดียวที่ฉันเห็นที่เหลือใช้แรงคนทั้งนั้น ฟาดจนเมล็ดข้าวทุดเม็ดร่วงหลุด ทำไปคุยไปอากาศก็เย็นสบาย ธรรมชาติก็บริสุทธ์ฉันคิดว่าใจของชาวไทดำที่อาศัยอยู่ที่นี่คนเย็นไม่ต่างกัน

พูดถึงไทดำในเดียนเบียนฟูแล้ว ก็ขอเล่าประวัติของชาวไทดำที่นี่สักนิด ไทดำ หรือผู้ไทดำเป็นกลุ่มคนไทกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองจุไท เดียนเบียนฟูครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของชาวไทดำซึ่งเรียกเมืองนี้ว่า "เมืองแถง"ส่วนเดียนเบียนฟูเป็นชื่อที่เวียดนามตั้งให้ภายหลังมีความหมายว่า "ปราการแห่งชายแดน"

ในอดีตดินแดนนี้เคยอยู่ในการปกครองของไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏในจดหมายเหตุว่า ทรงส่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีไปปราบฮ่อที่เมืองนี้ แต่ต้องเจอกับฝรั่งเศสที่บุกเข้ามาเพื่อจะเอาอาณานิคม ปะทะกับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2431 ก็ได้เจรจาเพื่อยกดินแดนสิบสองจุไทให้ ดินแดนนี้เลยหมดไปจากความสนใจของราชสำนักไทยในเวลาต่อมา

ชาวไทดำเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท บางคนถึงกับสันนิษฐานว่าเมืองแถงในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางของชาวไทน้อยก่อนเคลื่อนย้ายมาในเขตลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขง มีหลักฐานปรากฏถึงการกวาดต้อนไทดำหลายครั้งมายังประเทศไทย มีไทดำมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายจังหวัดทั้งที่เพชรบุรี กาฬสินธุ์ นครพนม เป็นต้น

หลายคนอาจรู้จักไทดำในชื่อ "ลาวโซ่ง" หรือ "ไทยทรงดำ" การมาที่นี่จึงเหมือนกันการย้อนมาดูรากเหง้าของชนชาติเหมือนอยู่ใกล้กับญาติสนิท แม้บางคำพูดก็สื่อสารกันรู้เรื่อง เช่นการนับเลข 1-20 ก็ยังออกเสียงเรียกเหมือนคนไทย

ขากลับจากฐานทัพเวียดมินห์ ยังโชคดีได้แวะชมนาขั้นบันไดที่มีให้เห็นอยู่ริมทาง แม้ว่านาขั้นบันไดที่นี่จะไม่ใช่ที่หนึ่งของเวียดนาม เหมือนดังนาขั้นบันไดที่ซาปา แต่ก็เป็นทิวทัศน์ที่ดูสบายตาดี ยังบ่นเสียดายกันอยู่เลยว่าไม่มีโอกาสไปซาปาเพราะขึ้นเหนืออีกนิดก็ถึงซาปาแล้ว

วันรุ่งขึ้นเราก็เตรียมเก็บสัมภาระ เพราะวันนี้พวกเราจะเดินทางออกจากเดียนเบียนฟูกลับสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกันแล้ว ก่อนกลับมีโอกาสแวะไปดูตลาดของชาวเดียนเบียนฟูด้วย ที่นี่เป็นตลาดใหญ่มีทุกสิ่งให้เลือกสรร

แต่ที่น่าประหลาดใจสำหรับฉัน คงจะเป็นยาดองทั้งหลายที่มีสารพัดสัตว์ดองแช่อยู่ข้างใน ไม่ว่าจะเป็น งูเห่าทั้งตัว แมลงต่างๆ และหนอนเป็นต้น ตลาดกลางเมืองเดียนเบียนฟูเป็นสถานที่สุดท้ายในเดียนเบียนฟูและในเวียดนามที่ฉันมีโอกาสได้มาเยี่ยมในทริปนี้

สำหรับเส้นทางขากลับ พวกเราชาวคาราวานยังคงใช้เส้นทางเดิมเหมือนตอนขามา แวะพักที่ "อุดมไชย"หนึ่งคืนก่อนจะเริ่มการเดินทางในเส้นทางสายใหม่ ไปยัง "แขวงหลวงน้ำทา"เพื่อจะใช้เส้นทางนี้ไปออกด่านที่บ่อแก้ว เพื่อข้ามฝั่งไปยังอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ด้วยท่าเรือบั๊ก

เส้นทางใหม่นี้พวกเราวิ่งบนถนนสายที่ชื่อ "R3A" ถนน1ใน10สายที่เกิดขึ้นจากกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cooperation) จากความช่วยเหลือของธนาคารพัฒนาอาเชียน (Asian Development Bank- ADB) มีสายทางที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง 4 สายทางR3A คือหนึ่งในนั้น R3A เชื่อมโยงจาก ไทย - ลาว – จีน ผ่าน อ.เชียงของ -ห้วยทราย - หลวงน้ำทา - บ่อเต็น/บ่อหาน - เชียงรุ้ง – คุนหมิง

ในวันนี้ทุกคนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้กลับไปพักยังฝั่งไทย เมื่อมาถึงด่านบ่อแก้วเรื่องเอกสารเราปล่อยให้ไกด์ทองสุกเป็นผู้ดำเนินการส่วนพวกเรา กระโดดลงเรือเรียบร้อยแล้วเตรียมกลับแผ่นดินไทย จากไปหลายวันคิดถึงแผ่นดินแม่เหมือนกัน

เรือเตรียมเคลื่อนที่ออกจากท่า แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าด่านบ่อแก้วควักมือเรียกให้กลับมา ด้วยเหตุผลว่าเอกสารยังไม่เรียบร้อย นั่งรอเอกสารผ่านแดนกันตั้งแต่บ่ายจนค่ำ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ด่านบ่อแก้วก็สร้างความประทับใจด้วยการแถมฟรี ให้พวกเราพักค้างที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนชนลาวเพิ่มอีกหนึ่งคืน ทริปนี้จึงเรียกได้ว่า ครบรสโหด มันส์ ฮา สมใจขาเที่ยวจริงๆ.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"เดียนเบียนฟู" เป็นจังหวัดหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ห่างจากกรุงฮานอยประมาณ 200 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกห่างจากลาวเพียง 35 กิโลเมตร เป็นสมรภูมิรบอันลือลั่นในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งแรก (1946-1954) : 1 บาท เท่ากับ 476.19 ดอง โดยประมาณ
 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จากน่านสู่เดียนเบียนฟู เปิดประตูสู่อินโดจีน ตอนที่1: มนต์เมืองน่าน    
จากน่านสู่เดียนเบียนฟู เปิดประตูสู่อินโดจีน ตอนที่2: สุขใจในหลวงพระบาง  
จากน่านสู่เดียนเบียนฟู เปิดประตูสู่อินโดจีน ตอนที่3: แวะอุดมไชย ไปเมืองขวา
จากน่านสู่เดียนเบียนฟู เปิดประตูสู่อินโดจีน ตอนที่4:ย้อนอดีตสมรภูมิรบเดียนเบียนฟู           
กำลังโหลดความคิดเห็น