xs
xsm
sm
md
lg

ตีกรอบเจ้าของ บจ.แอบจำนำหุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหาผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันขอสินเชื่อ และถูกบังคับขายหุ้น หรือ FORCE SELL จนเกิดผลกระทบในวงกว้าง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องตื่นตัวเพื่อหาแนวทางแก้ไข

เพราะการที่ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินขอสินเชื่อหรือจำนำ ในหลายกรณีที่นักลงทุนทั่วไปไม่รับรู้ข้อมูล และรู้ข้อมูลเมื่อเกิดการบังคับขายหุ้น ทำให้ราคาหุ้นทรุดหนัก จนผู้ถือหุ้นรายย่อยเกิดความเสียหาย

กรณีผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ warrix นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ โดยฝากหุ้นไว้กับคัสโตเดียน หรือผู้ดูแลหลักทรัพย์ และอ้างว่าหุ้นหายไป 15 ล้านหุ้น เป็นการตอกย้ำปัญหา การนำหุ้นไปจำนำ โดยที่นักลงทุนทั่วไปไม่รับรู้

เพราะถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และไม่มีหลักทรัพย์นำไปวางเป็นหลักประกันเพิ่ม อาจถูกบังคับขายหุ้น สร้างผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่งที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ ถูกบังคับขายหุ้น ราคาหุ้นร่วงติดฟลอร์ 30%

การนำหุ้นไปจำนำหรือวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อขอวงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น หรือขอเงินกู้เพื่อใช้กรณีอื่นนั้น มีทั้งการทำรายการในระบบผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หรือผ่านบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โดยมีข้อมูลรายงานให้นักลงทุนรับรู้ และการทำรายการกับผู้ปล่อยกู้อื่นที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์ โดยไม่มีการรายงานข้อมูล

ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่รายงานการจำนำหุ้น นักลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน และความเสี่ยงหากเกิดการบังคับขายหุ้น

แต่การจำนำหุ้นชนิดปิดเงียบ ไม่มีการรายงานข้อมูลให้ ก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์รับทราบ นักลงทุนไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนแห่งใด แอบนำหุ้นไปจำนำหุ้นไว้ที่ไหนบาง นำหุ้นไปจำนำไว้สัดส่วนเท่าไหร่ วันดีคืนดีเกิดการบังคับขาย ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะแหลกราญโดยไม่ทันตั้งตัว

ทุกฝ่ายเห็นปัญหาของการจำนำหุ้นแล้ว รู้ว่าเป็นช่องโหว่ที่สร้างความเสียหายของนักลงทุนรายย่อย และเตรียมการปิดช่องโหว่ ป้องกันผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน แอบนำหุ้นไปตึ๊ง ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่รับรู้ โดยจะกำหนดให้การทำรายการนำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อขอเงินกู้ไปทำอะไรก็ตาม จะต้องรายงานการทำธุรกรรมจำนำหุ้นให้ ก.ล.ต.รับทราบ เพื่อเผยแพร่สู่นักลงทุน

และเป็นการรายงานข้อมูล เช่นเดียวกับการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่ถือหุ้นเกิน 5% ของทุนจดทะเบียนจะต้องรายงานให้ก.ล.ต.ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น

ถ้ากฎกติกาควบคุมการจำนำหุ้นมีผลบังคับใช้ ไม่มีการลักลอบนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันเงินกู้ โดยทุกรายการต้องรายงาน ก.ล.ต. จะช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลพิจารณาตัดสินใจได้ว่า ควรจะลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ผ็บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นไปจำนำหรือไม่ โดยเฉพาะการจำนำเพื่อขอวงเงินซื้อหุ้น หรือเปิดบัญชีเล่นหุ้น

เพราะบริษัทจดทะเบียนที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นไปจำนำ โดยเฉพาะขอวงเงินเล่นหุ้นหรือมาร์จิ้นนั้นย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าบริษัทจดทะเบียนที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่มีปัญหาทางการเงิน และไม่ขอมาร์จิ้นเล่นหุ้น

ข้อมูลการจำนำหุ้นที่ถูกปกปิด กลายเป็นช่องโหว่ของความเสี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นมายาวนาน จนเกิดวิกฤตการบังคับขายหุ้น จึงกระตุ้นให้ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ต้องลงมาช่วยกันปิดช่องโหว่ ซึ่งแม้จะช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่สายเกินจะเยียวยาแก้ไข

เช่นเดียวกับมาตรการ UPTICK RULE ซึ่งสกัดการทุบขาย SHORT SELL เล่นงานต่างชาติที่เล่นหุ้นเอาเปรียบนักลงทุนในประเทศจนอยู่หมัดจนถึงวันนี้








กำลังโหลดความคิดเห็น