นับตั้งแต่ประกาศเพิ่มทุน หุ้นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ปักหัวลงมาตลอด จนราคาบนกระดานต่ำกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมกว่า 10% ซึ่งอาจกระทบต่อแผนการระดมทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท
เพราะผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 1 แสนราย ซึ่งถือหุ้นรวมกันสัดส่วนกว่า 59% ของทุนจดทะเบียนคงเผ่นหนี สละสิทธิการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
BTS แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ก่อนเปิดการซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยประกาศเพิ่มทุนจำนวน 2,926.14 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 4.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 4.50 บาท ซึ่งจะระดมเงินทั้งสิ้น 13,167.63 ล้านบาท
เงินจากการเพิ่มทุนครั้งนี้นำไปใช้ในการซื้อหุ้นบริษัท ร็อคเทค โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ ROCTEC และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RABBIT โดยใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 14,870.59 ล้านบาท และทำให้กลุ่ม BTS ถือหุ้นใน 2 บริษัทสัดส่วน100%
นับจากวันที่ประกาศเพิ่มทุน นักลงทุนเทขายหุ้น BTS ออกมาต่อเนื่อง จนราคาปรับฐานลง 4 วันทำการติด ก่อนลงมาปิดที่ 3.98 บาท เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา จวนเจียนจะสร้างจุดต่ำสุดใหม่ที่เคยทำไส้ที่ 3.94 บาท
BTS มีบริษัทย่อยและบริษัทที่ร่วมลงทุน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นับสิบแห่ง ถือเป็นหุ้นที่มีอาณาจักรใหญ่ เพียงแต่การลงทุนในหลายบริษัทประสบผลขาดทุน เนื่องจากราคาหุ้นที่ซื้อลงทุนไว้ตกต่ำ โดยขาดทุนจากหุ้นบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ประมาณ 5.24 พันล้านบาท
และขาดทุนจากการลงทุนหุ้นในกลุ่มบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART อีกนับหมื่นล้านบาท
การเพิ่มทุนและนำเงินไปลงทุนใน ROCTEC และ RABBIT ผู้ถือหุ้นรายย่อย BTS อาจไม่มั่นใจในผลตอบแทนที่ดี นอกจากนั้น ราคาหุ้นใหม่ที่เสนอขายยังไม่จูงใจ เพราะราคาสูงกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายบนกระดาน
ถ้าต้องการเก็บสะสมหุ้น BTS เลือกซื้อบนกระดานได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำไมต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาแพง
และสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ ตลาดหุ้นซบเซา นักลงทุน “ติดหุ้น” กันทั้งบ้านทั้งเมือง จึงไม่มีใครอยากเติมเงินเพิ่มทุนอีก
ในยามนี้ถ้าเลือกได้หรือเลี่ยงได้ และไม่มีความจำเป็นจริงบริษัทจดทะเบียนจะไม่เพิ่มทุน หรือออกหุ้นกู้ เพราะภาวะการเงินฝืดเคือง แม้จ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ก็ไม่อาจจูงใจนักลงทุนซื้อหุ้นกู้ง่ายๆ
เป้าหมายการเพิ่มทุระดมเงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทของ BTS อาจไม่ได้ตามใจหวัง เพราะจะมีเพียงกลุ่มนายคีรี กาญจนพาสน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้นที่จะใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา ซึ่งต้องควักเงินประมาณ 5 พันล้านบาท เพื่อรักษาสิทธิจองซื้อหุ้นใหม่
หลายปีก่อน BTS เคยเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลที่ดีอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นหุ้นที่สามารถถือเพื่อลงทุนระยะยาวได้ แต่ผลประกอบการปี 2566/2567 ขาดทุนกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขาดทุนหุ้น KEX จึงงดจ่ายเงินปันผล แต่ผลประกอบการปี 2567/2568 คาดว่าผลประกอบการจะกลับมามีกำไร
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนครั้งนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเกิดความรู้สึกว่ามีภาระที่ต้องใส่เงินก้อนใหม่เข้าไปใน BTS
ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ไม่ต้องการแบกรับภาระ และตัดสินใจสละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน จึงทุบขายหุ้น BTS ทิ้ง จนราคามุดหลุด 4 บาท โดยไม่รู้ว่าจะไหลลงทะลุกันชนจุดต่ำสุดเดิมที่ 3.94 บาทหรือไม่