ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังไล่รื้อค้นงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง เพราะมีธุรกรรมที่เข้าข่ายความไม่โปร่งใส และอาจกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทและประชาชนผู้ถือหุ้น จึงออกคำสั่งให้ชี้แจงปมที่น่าสงสัย ซึ่งรวมถึงบริษัท เอเคเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AKS
AKS ถูกผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตกรณีการพิจารณามูลค่าเงินลงทุนของบริษัท อีโกรนิกซ์ การทำสัญญาขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอยี่ โฮลดิ้ง และซื้อคืนในราคาที่สูงกว่า และการจ่ายเงินมัดจำค่าที่ดิน แต่ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ นอกจากนั้น ในปี 2566 บริษัทลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่อาจถูกเพิกถอนและบันทึกขาดทุนเงินลงทุนทั้งจำนวนในเวลาอันสั้น
ตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ AKS ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 24 กันยายน 2567 และชี้แจงความเห็นของคณะกรรมการบริษัทภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ในประเด็นการพิจารณามูลค่าเงินลงทุนของ บจ.อีโกรนิกซ์ โดยปี 2565 บริษัทย่อย 99.80% ซื้อเงินลงทุนอีโกรนิกซ์ทั้งหมด 1,200 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทเห็นว่าจะสามารถสร้างรายได้และกำไรในอนาคต
แต่ 6 เดือนแรกปี 67 บริษัทไม่มีรายได้ขายจากธุรกิจ ส่วนปี 2566 มีรายได้ขาย 24 ล้านบาท มีขาดทุนขั้นต้น 9 ล้านบาท ขณะที่ต้นปี 2567 บริษัทประเมินมูลค่ายุติธรรมของอีโกรนิกซ์ เท่ากับ 1,164-1,445 ล้านบาท
การทำสัญญาขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอยี่โฮลดิ้ง ( WEH) และซื้อคืนในราคาที่สูงกว่า โดยเดือนมกราคมปี 2567 บริษัทย่อยที่ AKS ถือหุ้น 100% ขายหุ้น WEH 500,000 หุ้น รวม 200 ล้านบาท
โดยบริษัทมีสิทธิซื้อหุ้นคืนภายใน 1 ปี แต่ยังไม่กำหนดราคาและเงื่อนไข โดยเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 บริษัทย่อยทำสัญญาขายหุ้น WEH ทั้งหมด 5 ฉบับ รวม 700,000 หุ้น ในราคา 109 ล้านบาท และทำสัญญาซื้อหุ้นคืนภายใน 1 ปีรวม 130 ล้านบาท ซึ่งราคาซื้อคืนสูงกว่าราคาขาย 21 ล้านบาท
การจ่ายเงินมัดจำค่าที่ดิน และเงินมัดจำค่าหุ้นสามัญ แต่ยังไม่ได้รบัโอนกรรมสิทธิ์ โดยบริษัทย่อยจ่ายเงินมัดจำเพิ่มเติมและปัจจุบันยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งจ่ายเงินมัดจำรวม 387 ล้านบาทระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา และบริษัทมีเงินสด 24 ล้านบาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ 253 ล้านบาท แต่เคยมีรายการเงินมัดจำค่าที่ดินซึ่งถูกตั้งค่าเผื่อการไม่ได้รับคืน 850 ล้านบาท และยังคงไม่ได้รับเงินคืน
และการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่อาจถูกเพิกถอนและบันทึกขาดทุนเงินลงทุนทั้งจำนวนในเวลาอันสั้น โดยวันที่ 15 มีนาคม 2566 บริษัทย่อยซื้อหุ้นบริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น (SLM) ซึ่งเป็น บริษัทที่อาจถูกเพิกถอนและถูกหยุดพักการซื้อขายตั้งแต่ปี 2559 จำนวน 700,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 3.60 บาท รวม 2.52 ล้านบาท ไตรมาสที่ 2 และ 3 ปี 2566 บริษัทมีเงินลงทุนหุ้น SLM เพิ่มเป็น 11 ล้านบาท และ 31 ธันวาคม 2566 บริษัท ได้บันทึกขาดทุนเงินลงทุนทั้งจำนวน
ผู้ถือหุ้นรายย่อย AKS จำนวน 27,381 ราย ควรติดตามคำชี้แจงจากฝ่ายบริหารบริษัท เพราะบริษัทยังมีทรัพย์สินอยู่ และเป็นของผู้ถือหุ้นทุกคน แต่ฝ่ายบริหารบริษัทมีพฤติกรรมส่อไปในทางจำแนกทรัพย์สินออก มีวิธีการเข้าข่ายถ่ายเงินของผู้ถือหุ้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในบริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่ง จนในที่สุดเงินถูกสูบออกจากบริษัทหมดเกลี้ยง จนหุ้นกลายเป็นซากศพโดยสมบูรณ์
AKS มีประวัติโชกโชน เข้ามาจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 เดิมคือ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด หรือ KMC มีนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นหุ้นตัวแรกที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก คดีปั่นหุ้นตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อเดือนเมษายน 2536
ต่อมา มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่ และขายออกหุ้นออกทั้งหมด ก่อนที่หุ้น KMC จะถูกพักการซื้อขายเพียงไม่กี่เดือน เนื่องจากไม่ส่งงบการเงิน หลังจากนั้นเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีชื่อของนายฉาย บุนนาค นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาเกี่ยวพัน พร้อมแต่งตัวใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ หุ้นกลับเข้ามาซื้อขายอีกครั้งวันที่ 9 ตุลาคม 2560 โดยราคาถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 31 สตางค์ และนับจากวันนั้นจนวันนี้ไม่มีใครเห็นหุ้น AQ ที่ 31 สตางค์อีกเลย
หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ และโครงสร้างการอีกชื่อ เปลี่ยนเป็นบริษัท เอเคเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AKS พร้อมทีมผู้บริหารรุ่นหนุ่มๆ และประกาศนโยบายทางธุรกิจอย่างสวยหรู แต่ผลงานยังไม่ประจักษ์นักลงทุน ส่วนหุ้นสลบเหมือดอยู่ที่ 1 สตางค์ยาวนาน
ตั้งแต่ยังเป็นหุ้น KMC เปลี่ยนมาเป็น AQ และ AKS สร้างความย่อยยับให้นักลงทุนมาตลอด และมีเพียงกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เท่านั้นที่ต้องชดใช้การบริหารงานที่ไม่สุจริต โดยถูกศาลตัดสินจำคุก 860 ปี ในความผิดฟอกเงินกู้แบงก์กรุงไทย ส่วนนายรัชดา ลูกชายถูกตัดสินจำคุกหลายร้อยปี
แต่ยังไม่มีผู้บริหารบริษัทคนใดต้องรับโทษตามนายวิชัย แม้ทุกยุคหรือทุกครั้งที่การเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่หรือแปลงร่างโดยการเปลี่ยนชื่อ จะมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากได้รับเคราะห์ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ปมที่ส่อเค้าเข้าข่ายการโยกเงินออกในหลายประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์เข้ารื้อค้นอยู่ อาจทำให้ทีมผู้บริหารรุ่นหนุ่มที่ถูกส่งเข้ามาออกหน้าใน AKS ต้องพบวิบากกรรมหนักหน่วงในชีวิตก็ได้
ผู้ถือหุ้นรายย่อยคงได้แต่ติดตามจุดจบของการรื้อปมเทเงินของ AKS ในครั้งนี้ แต่ไม่มีสิทธิติดตามทวงคืนเงินที่ใส่ลงไปในหุ้น ไม่ว่าจะเป็นยุคหุ้น KMC - AQ หรือแม้แต่หุ้น AKS ที่อาการร่อแร่เต็มที