xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : คดีปั่นหุ้น MORE ระวังปล่อยเสือเข้าป่า ซ้ำรอย ‘ชนินทร์ Stark’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 ตอนคดีปั่นหุ้น MORE ระวังปล่อยเสือเข้าป่า ซ้ำรอย ‘ชนินทร์ Stark’



เวลานี้ไม่มีคดีไหนการปั่นในตลาดหลักทรัพย์คดีไหน จะเป็นที่น่าสนใจมากเท่ากับคดีการซื้อขายหุ้นของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ในช่วงระหว่างวันที่ 18 ก.ค.-10 พ.ย.2565 ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE

และพบข้อเท็จจริงรวมถึงพยานหลักฐานที่สนับสนุนให้เชื่อได้ว่า กลุ่มบุคคลรวม 32 ราย ได้ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในช่วงเวลาดังกล่าว

คดีนี้สร้างความสะเทือนให้กับวงการตลาดหุ้นพอสมควร เพราะเป็นคดีที่สร้างความเสียหายประมาณ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังถูกขยายผลต่อเนื่องอีกด้วย

โดยก.ล.ต.ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เนื่องจากอาจเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมกับยื่นให้กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. ร่วมตรวจสอบด้วย

ความคืบหน้าล่าสุดของคดีนี้ ปรากฎว่าสามแม่ลูกตระกูลพรประภาที่ถูกตั้งข้อหา ประกอบด้วย นางอรพินธุ์ พรประภา นายเอกภัทร หรือ ไฮโซคิม และนายอธิภัทร พรประภา เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. ตามหมายเรียกของคณะพนักงานสอบสวนคดีปั่นหุ้นมอร์ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

การเข้าพบตำรวจของครอบครัวพรปะภา มีความน่าสนใจตรงที่ให้การให้สัมภาษณ์เปิดใจของนายเอกภัทร หรือ 'ไฮโซคิม' ซึ่งยืนยันว่า การเข้ามาพบกับพนักงานสอบสวนเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่เคยคิดหนี เพราะถ้าตนเองไม่บริสุทธิ์ใจจริงๆ ก็คงไม่เดินทางมาพบกับตำรวจในครั้งนี้ ซึ่งส่วนตัวมีหลักฐานพร้อมสำหรับการต่อสู้คดี

แม้คดีจะเดินหน้าไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องร่วมกันพิจารณากันต่อไป คือ ท่าทีของพนักงานสอบสวนในการทำคดีนี้ โดยเฉพาะขั้นตอนของการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาคนสำคัญอย่างครอบครัวพรปะภา เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ในคดีการปั่นหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ก็เกิดกรณีรเสือหลุดเข้าป่ากันมาแล้ว ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขอออกหมายจับนายชนินทร์ เนื่องจากนายชนินทร์ได้เดินทางออกไปฮ่องกง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ดีเอสไอ เดือดร้อนกันทั้งกรมจนต้องเร่งประสานองค์การตำรวจสากล (Interpol) ผ่านกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือออกประกาศองค์การตำรวจสากลสีน้ำเงิน (หมายน้ำเงิน) ในการสืบสวนหาถิ่นที่อยู่ของผู้ต้องหา เพื่อให้ดีเอสไอ ดำเนินการตามขั้นตอนขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนพร้อมกับประสานไปยังกรมการกงสุลให้พิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ด้วย

ประเทศไทยเคยมีบทเรียนมาแล้วหลายครั้งกับการปล่อยเสือเข้าป่า ซึ่งในความจริงเป็นเรื่องยากมากที่จะเอาคนทำผิดในคดีลักษณะนี้มาลงโทษ เพราะต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้มีศักยภาพทางการเงินมากพอที่จะเดินทางหนีไปได้รอบโลก

จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายจะเริ่มกังวลว่าผู้ถูกกล่าวคดีหุ้นMORE จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกหรือไม่

ดังนั้น บางทีกระบวนการยุติธรรมของไทยควรนำมาตรฐานของต่างประเทศในคดีที่ใกล้เคียงมาพิจารณาดูบ้าง โดยเฉพาะในกรณีของนายจ้าว ฉางเผิง หรือซีซี อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไบแนนซ์ ซึ่งถูกศาลยุติธรรมสหรัฐสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ จนกว่าจะมีการพิพากษาคดีในเดือนกุมภาพันธ์นี้

เนื่องจากอดีตซีอีโอรายนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะหลบหนี โดยเมื่อมองไปยังบรรทัดฐานของต่างประเทศแล้ว ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่หน่วยงานตรวจสอบของไทยควรนำเป็นตัวอย่างเช่นกัน เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน

บทเรียนมีให้เห็นมาแล้ว อีกทั้งยังมีมาตรฐานจากต่างประเทศที่ควรนำมาพิจารณา ก็ได้แต่หวังว่าคงจะไม่เกิดเหตุการณ์ปล่อยเสือเข้าป่า จนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น