xs
xsm
sm
md
lg

ปิดเงียบคดี “สมโภชน์” 9 ปี...ส่งแมลงเม่าตาย 4 หมื่นหมู่ EA / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คดีทุจริตภายในกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ของนายสมโภชน์ อาหุนัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท มีรายอะเอียดออกมาแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการกำหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มการสอบสวนคดีเมื่อปี 2559 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

การสอบสวนมีความล่าช้า เพราะคดีมีความซับซ้อนละเอียดอ่อน และยังต้องเชิญผู้ร่วมทุจริตมาชี้แจงข้อมูลและแก้ข้อกล่าวหา ก่อนสรุปสำนวนร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ในความผิดทุจริตเงิน 3,456 ล้านบาท

ถ้ากรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งฟ้องและอัยการเห็นด้วย นายสมโภชน์ และพวกรวม 3 คน จะเข้าสู่การชี้ชะตากรรมในชั้นศาล แต่คงใช้เวลาอีกหลายปี

แต่สถานการณ์เฉพาะหน้าที่กำลังระส่ำระสายอยู่คือ หุ้นกลุ่ม EA โดยเฉพาะหุ้น บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX และหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD

หุ้น EA อยู่ระหว่างการขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขาย เนื่องจากมีปัญหาด้านการเปิดเผยข้อมูล ส่วนหุ้น NEX และ BYD ถูกถล่มขายจนราบคาบราคารูดติดดิน ต่ำสุดในรอบหลายปี

หุ้น EA เปิดซื้อขายเมื่อไหร่ คงถูกถล่มหนักไม่แพ้กัน

ผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่ม EA มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 66,789 ราย แยกเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย EA จำนวน 42,659 ราย ผู้ถือหุ้นรายย่อย NEX จำนวน 12,280 ราย และ BYD ผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 11,850 ราย

ผู้ลงทุนหุ้นกลุ่ม EA จำนวนกว่าครึ่งแสนราย อาจไม่ต้องพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ หรือเสียหายเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่สูญเสียเลย ถ้ามีการส่งเบาะแสการสอบสวนนายสมโภชน์ และพวกรวม 3 คน ตั้งแต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว

เพราะราคาหุ้นช่วงนั้นเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 20 บาท จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ได้มากมายจนเกินครึ่งแสนรายเหมือนปัจจุบัน

ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาเล่นหุ้น EA และพ่วง NEX และ BYD เข้าไปด้วย เพราะถือเป็นหุ้นกลุ่มเดียวกัน มีข่าวดีถูกปล่อยกระตุ้นราคาเป็นระยะ และราคาหุ้นเคลื่อนไหวในทิศทางเดียว

นักลงทุนหลั่งไหลเก็งกำไรหุ้นกลุ่ม EA โดยไม่เฉลียวใจ ไม่รู้สึกว่าจะต้องระวังภัยอะไร ก่อนต้องพบจุดจบจากหายนะครั้งใหญ่

ถ้า ก.ล.ต.ส่งสัญญาณ เตือนภัยนักลงทุนเมื่อ 9 ปีก่อน แจ้งให้รู้ว่าอยู่ระหว่างการสอบสวนทุจริตผู้บริหาร EA นักลงทุนคงเผ่นหนี เทขายหุ้นทิ้งหมด ความเสียหายคงเกิดขึ้นไม่เท่าไหร่ ปริมาณนักลงทุนที่พลาดท่าเสียทีจะมีจำนวนน้อย

แต่ ก.ล.ต.เงียบสนิท ปล่อยให้นักลงทุนหลงระเริงกับกลุ่ม EA ปล่อยให้ลากราคาหุ้น EA ไปสูงสุดถึง 105.50 บาท ก่อนจะรูดลงมาเหลือเพียง 10 บาทเศษ

หน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดหุ้นอย่าง ก.ล.ต. หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างแบงก์ชาติ เคยเกิดปัญหาโยนกลอง หรือเกี่ยงกันเปิดเผยข้อมูลการสร้างราคาหุ้น และการทุจริตปลอมแปลงตั๋วสัญญาใช้เงินให้สาธารณชนรับรู้มาแล้ว เมื่อประมาณปลายปี 2535

นายเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต.ในยุคนั้น ได้รวบรวมข้อมูลกล่าวโทษหุ้นบริษัทเงินทุน เฟิร์สซิตี้อินเวสท์เม้นท์ จำกัด หรือฉายาหุ้น "ฟ้าใส" หุ้นเก็งกำไรร้อนแรงในช่วงนั้น ซึ่งคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ (รัตตกุล) เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่

นายวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในช่วงเวลาเดียวกัน และตรวจสอบพบการปลอมแปลงตั๋วสัญญาใช้เงินของ บง.เฟิร์สซิตี้ แต่ไม่ยอมแถลงการทุจริตภายในบริษัท เพราะกลัวถูกโจมตีว่า เป็นต้นเหตุให้ตลาดหุ้นตก

แต่ในที่สุด ปลายเดือนเมษายน 2536 ก.ล.ต.ก็ประกาศกล่าวโทษคุณหญิงพัชรี ทำให้ตลาดหุ้นเกิดความปั่นป่วนในทันที ขณะที่หุ้น บง.เฟิร์สซิตี้ ตกติดฟลอร์ นับสิบวันทำการ

ไม่รู้ว่า ก.ล.ต.จะมีแนวทางกำหนดมาตรการเตือนนักลงทุนสำหรับหุ้นที่อยู่ในระหว่างการสอบสวนความผิด เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนมากขึ้นหรือไม่

เพราะคดีของผู้บริหาร EA นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่รู้ระแคระคายล่วงหน้าเลย จนต้องตายหมู่

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังฟื้นคืนชีพมาตรการแจ้งข้อมูลนักลงทุน ซึ่งในอดีตหลายสิบปีก่อนเคยนำมาใช้ แต่ไม่รู้เหตุใดจึงยกเลิกไป

มาตรการที่จะปัดฝุ่นขึ้นมาใช้ใหม่คือ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบพบพฤติกรรมการบริหารงานที่ผิดปกติในบริษัทจดทะเบียน หรือมีการซื้อขายหุ้นไม่ผิดปกติ และเมื่อตรวจสอบรวบรวมหลักฐานในเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดจะส่งเรื่องให้ ก.ล.ต.พิจารณาสอบสวนความผิดในเชิงลึกต่อไป

แต่ก่อนส่งเรื่องต่อให้ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดแถลงข้อมูล พฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดของบริษัทจดทะเบียนแห่งใด หรือหุ้นตัวใดมีการซื้อขายที่ผิดปกติ เพื่อให้นักลงทุนรับทราบและใช้เป็นข้อมูลพิจารณาตัดสินใจ ช่วยให้ระมัดระวังตัว หรือหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นตัวนั้น และอาจขายหุ้นทิ้งในทันที

อีกไม่นานเกินรอ หุ้นที่มีพฤติกรรมปั่น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการฉ้อโกง ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดโปงเบื้องต้นให้นักลงทุนรู้ล่วงหน้า

ไม่ใช่รู้ต่อเมื่อสายเสียแล้ว รู้ว่าผู้บริหาร EA โกง นักลงทุนรายย่อยก็ตายกันเกลี้ยงแล้ว

ทั้งที่ ก.ล.ต. มีโอกาสช่วยนักลงทุนเกือบ 5 หมื่นชีวิตให้รอดจากหายนะ เพียงแต่ 9 ปีก่อน ส่งสัญญาณบอกว่า EA มีโกงเท่านั้น ทุกคนหนีตายจาก EA ทันที

แต่วันนี้หนีไม่ทันแล้ว เสียหายกันย่อยยับทั้งกลุ่ม EA และจะเรียกร้องความรับผิดชอบจาก "สมโภชน์ อาหุนัย" ได้ไหมล่ะ








กำลังโหลดความคิดเห็น