นายเศรษฐา ทวีสิน กลายเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ให้ความสนใจปัญหาตลาดหุ้นมากเป็นพิเศษ
โดยสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ แก้ปัญหาความตกต่ำของตลาดหุ้นและเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนหลายครั้งแล้ว
ล่าสุด สั่งให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งแก้ปัญหาหุ้นที่มีพฤติกรรมซื้อขายผิดปกติ และนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็ว
เพราะที่ผ่านมา กระบวนการลงโทษผู้กระทำผิดมีความล่าช้ามาก จนกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีทางเลือกการลงทุนได้ทั่วโลก
ถ้ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นในตลาดหุ้น แต่ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิกเฉย หรือบริหารจัดการไม่ดี จะมีคำถามว่า ทั้งสองหน่วยงานกำกับกันอย่างไร และเมื่อต่างชาติเห็นว่าเจ้ามือโกง จะย้ายเงินไปลงทุนที่อื่นแทน
นายกฯ ยังกำชับให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณารับบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่ดี
เพราะการรับหุ้นใหม่ แต่ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาที่เสนอขายประชาชนผู้ลงทุน หรือต่ำกว่าราคาจองตั้งแต่การซื้อขายในวันแรกนั้น
ทำให้เกิดคำถามว่าเจ้าของบริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหรืออันเดอร์ไรเตอร์ พิจารณากำหนดราคาเสนอขายหุ้นบนสมมติฐานอะไร
และตลาดหลักทรัพย์อนุมัติหุ้นเข้ามาซื้อขายได้อย่างไร โดยเฉพาะหุ้นนางงามซึ่งราคาขึ้นไปสูงลิ่ว
หุ้นบริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI หรือหุ้นนางงาม ถูกลูกหลงการยกตัวอย่างของนายเศรษฐาเต็มเปา ราคาหุ้นทรุดฮวบลงทันที เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา จนหลุดต่ำกว่า 20 บาทเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
การบ้านชิ้นใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีฝากให้ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ แก้ไขมี 2 วาระใหญ่คือ การไม่ละเลย เมินเฉยกับหุ้นที่มีพฤติกรรมการสร้างราคา โดยทันทีที่มีการซื้อขายผิดปกติจะต้องเร่งจัดการและการกล่าวโทษแก๊งปั่นหุ้น ต้องไม่อืดอาดล่าช้าเป็นเรือเกลือ โดยใช้เวลา 5-7 ปี
ส่วนอีกวาระคือการพิจารณารับหุ้นใหม่ ต้องเฟ้นหุ้นดี ไม่ปล่อยหุ้นเน่าๆ เข้ามาปล้นเงินผู้ลงทุน โดยเจ้าของหุ้นหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนใหม่ รวมหัวกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทอันเดอร์ไรเตอร์
ตั้งราคาเสนอขายหุ้นในราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน เมื่อหุ้นเข้าซื้อขายราคารูดต่ำกว่าราคาเสนอขายหรือต่ำกว่าราคาจองตั้งแต่วันแรก
และตลาดหลักทรัพย์ไม่เคยรู้ร้อนรู้หนาว หรือสำนึกในความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนที่เสียหายย่อยยับจากการจองซื้อหุ้นใหม่
ไม่เคยคิดแก้ปัญหาการรับหุ้นเน่าเข้าตลาดหุ้นแต่อย่างใด และไม่เคยมีมาตรการแก้ไขปัญหาหุ้นใหม่ที่เข้าตลาดหุ้นแล้วราคาต่ำกว่าจอง
การพุ่งเป้าในการกำราบปรามปรามหุ้นที่มีพฤติกรรมปั่นโดยฉับพลันทันทีที่ก่อเหตุ การเร่งกระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษแก๊งปั่นหุ้น และการเข้มงวดกับการรับหุ้นใหม่ โดยไม่ปล่อยให้หุ้นเน่าหลุดเข้าตลาดหุ้น
ไม่ปล่อยให้เกิดการสมคบคิดระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนใหม่ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทอินเดอร์ไรเตอร์ ตั้งราคาเสนอขายหุ้นแพงเกินเหตุ ปล้นเงินนักลงทุน โดยไม่มีใครหน้าไหนต้องรับผิดชอบ เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
เพราะมีคำถามมานานเหลือเกินแล้วว่า ทำไม ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์จึงปล่อยให้หุ้นปั่นมีอยู่เต็มไปหมด ทำไม่ฟาดฟันหุ้นที่มีพฤติกรรมปั่นอย่างเด็ดขาดทันที และทำไมการร้องทุกข์กล่าวโทษแก๊งปั่นหุ้นจึงใช้เวลายาวนาน 5-7 ปี
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ไปงมโข่งอยู่ที่ไหน
นักลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่รู้ดีว่าหุ้นตัวไหนปั่น รู้กระทั่งว่าขาใหญ่ เจ้ามือหรือเจ้าของหุ้นคนไหนปั่นหุ้นตัวใด
แต่ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์กลับบ้องตื้นไม่รู้
และมีคำถามมานานเหมือนกันว่า ทำไมตลาดหลักทรัพย์จึงปล่อยให้หุ้นเน่าๆ หลุดเข้ามาสร้างความเสียหายให้นักลงทุนในตลาดหุ้น
ทำไมนักลงทุนที่อุตส่าห์อุดหนุนจองซื้อหุ้นใหม่ ต้องกลายเป็นหมูวิ่งเข้าไปชนปังตอ ถูกหลอกต้มให้ซื้อหุ้นใหม่เน่าๆ ในราคาที่แพงระยำ จนขาดทุนกันป่นปี้
ถ้ากำจัดพฤติกรรมการปั่นหุ้นจนสิ้นซากได้ ถ้าแก๊งปั่นหุ้นถูกยัดเข้าคุกเสียบ้าง ถ้า ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์เข้มงวดการรับหุ้นใหม่ เลือกเฟ้นหุ้นที่มีคุณภาพ ไม่ปล่อยให้หุ้นเน่าหลุดเข้ามา
ไม่ปล่อยให้เจ้าของหุ้นใหม่ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์สมคบคิดกันตั้งราคาเสนอขายตามใจชอบ กอบโกยความมั่งคั่งใส่ตัว บนความเดือดร้อนของนักลงทุน
ท้องฟ้าในตลาดหุ้นคงผ่องอำไพ การลงทุนคงจะเข้าสู่ยุคศิวิไลซ์เสียที
นายเศรษฐา จับประเด็นรากเหง้าปัญหาหมักหมมเรื้อรังในตลาดหุ้นได้ตรงเผงแล้ว โจทย์ที่ต้องตีให้แตกคือ
ทำอย่างไร ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์จะตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง
ทำอย่างไรทั้งสองหน่วยงานจะสำนึกในความรับผิดชอบต่อการปกป้องประชาชนผู้ลงทุน ซึ่งถูกแก๊งมิจฉาชีพปล้นมาตลอดระยะเวลา 49 ปี นับแต่ก่อตั้งตลาดหุ้น