xs
xsm
sm
md
lg

ปอศ.ส่ง ก.ล.ต. สอบ 10 บจ. พัวพันปั่นหุ้นสร้าง "เหมืองทิพย์" ดันราคาหุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.
ตำรวจ ปอศ. ลุยตรวจสอบธุรกิจเหมืองบิตคอยน์ พบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 10 แห่ง พัวพันปั่นหุ้น สร้าง “เหมืองทิพย์” ส่งข้อมูล กลต. ตรวจสอบ จ่อดำเนินคดีหนัก หวั่นนักลงทุนตกเป็นเหยื่อ ด้าน รมว.คลัง "อาคม" กำชับ ก.ล.ต. คุมเข้มดูแลอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้สั่งการให้ พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร ผกก.3บก.ปอศ ตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองขุดเงินตระกูลดิจิทัล หลังพบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อย่างน้อย 10 บริษัท ที่มีการเผยแพร่ข่าวสารหรือการให้ข้อมูลต่อประชาชนผ่านสำนักข่าวต่างๆ จนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาของหลักทรัพย์อย่างผิดปกติจากสภาพของตลาด หรือเป็นการ "ปั่นหุ้น" ทั้งในทางราคาขึ้น ราคาลง หรือราคาคงตัว โดยไม่ปรากฏการพัฒนาที่สำคัญของบริษัทจดทะเบียนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ หากบริษัทจดทะเบียนฝ่าฝืนข้อบัญญัติของกฎหมาย ย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดย บก.ปอศ. ได้ประสานส่งข้อมูลทั้ง 10 บริษัทให้กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อสืบสวน และตรวจสอบการกระทำผิดกรณีดังกล่าวแล้ว หาก ก.ล.ต.ตรวจพบเป็นความผิดตามที่ ตำรวจ บก.ปอศ. ตรวจสอบ ก.ล.ต.สามารถเข้าร้องทุกข์กับตำรวจ เพื่อจัดการกับบริษัท "เหมืองทิพย์" หรือไม่มีการทำเหมืองจริงตามที่กล่าวอ้างนี้ได้ทันที

ก่อนหน้านี้ในช่วงปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก มูลค่าการซื้อขายต่อวันสูงหลักหลายร้อยล้านบาท พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. จึงสั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบ จนพบว่าเกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับธุรกิจเหล่านี้ต้องได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.256


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบกิจการเหมืองขุดเงินดิจิทัลหลังพบความผิดปกติในการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างน้อย 10 บริษัทว่า เรื่องนี้ ยังไม่ได้รับรายงานจาก ก.ล.ต. แต่เป็นเรื่องที่ทางตำรวจกับก.ล.ต.จะประสานกันได้อยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญในการเข้าไปตรวจสอบ

สำหรับประเด็นความกังวลและเป็นห่วงที่จะกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดการเงินนั้น นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่มี เพียงแต่ว่า ก.ล.ต.ต้องกำชับให้เข้มงวดและดูแลอย่างใกล้ชิด

จากการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนในตลาดแห่งประเทศไทย พบบจ.หลายแห่งที่ประกาศลงทุนเหมืองบิทคอยน์ อาทิ บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA, บริษัท โคแมนซี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ COMAN, บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA, บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI, บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS

บริษัท เอเจ แอควานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA , บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN, บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT , บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF และ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF จับมือ บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ B ทุ่มงบ 700 ล้านบาท ทำเครื่องขุดบิตคอยน์ 2,200 เครื่อง สามารถขุดบิตคอยน์ได้ 50-55 BTC ต่อเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น