นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ธ.ค.) ที่ระดับ 35.14 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นแรงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.25 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.11-35.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเล็กน้อยก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด และพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ณ ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด ขณะที่มุมมองของเฟดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในอนาคตผ่าน Dot Plot และถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ไปพอสมควร ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงหนัก ขณะเดียวกัน ส่งผลให้ราคาทองคำรีบาวนด์ขึ้นแรง ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นในการทยอยซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่เปิดสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะดังกล่าวได้บ้าง ทำให้เราประเมินว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซนแนวรับหลัก 35.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้บอนด์ยิลด์ไทยลดลงเช่นกัน อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนทยอยขายทำกำไรบอนด์ไทยได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินได้ หากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้ หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจแข็งค่าต่อสู่โซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้
ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และ ECB ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของสกุลเงินยุโรป ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ได้พอสมควร นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะหากออกมาดีกว่าคาดอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสเฟด “ลด” ดอกเบี้ย เร็วและลึก กว่าที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้เงินดอลลาร์รีบาวนด์แข็งค่าขึ้น ส่วนเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้เช่นกัน
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยผู้เล่นในตลาดจะจับตาว่า ทั้ง 2 ธนาคารกลางจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับเฟดหรือไม่ พร้อมกันนั้น ทั้ง BOE และ ECB จะมีการเริ่มส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าอย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์หรือไม่
นอกจากผลการประชุมธนาคารกลางหลักดังกล่าว เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เพื่อประเมินว่ามุมมองของตลาดล่าสุดที่มองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่