นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (30 พ.ย.) ที่ระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.95 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหว sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.75-34.92 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้จะมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ แต่เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงหลัง
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเคลื่อนไหวแบบ two-way ซึ่งจะขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยเราเริ่มเห็นความเสี่ยงด้านอ่อนค่ามากกว่าการแข็งค่า หลังล่าสุดผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ในปีหน้าและเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคม ทว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนมากนัก ทำให้มีความเสี่ยงที่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ PCE ในคืนนี้ ออกมาดีกว่าคาด และยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งอยู่ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้เงินบาทและราคาทองคำย่อตัวลงได้
อย่างไรก็ดี หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด อาจหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่เงินบาทอาจยังติดโซนแนวรับแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เรายังคงเห็นโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศจากบรรดาผู้ประกอบการในช่วงปลายเดือน
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของจีน เพราะหากออกมาดีกว่าคาดอาจหนุนให้เงินหยวนจีนทยอยแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ ในทางกลับกัน ข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่แย่กว่าคาดอาจกดดันเงินหยวนจีนและสกุลเงินฝั่งเอเชียให้อ่อนค่าลง โดยในกรณีดังกล่าวเงินบาทอาจอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าเงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ง่ายนัก
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน ในเดือนพฤศจิกายน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.1 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ขณะที่ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนอาจยังอยู่ในภาวะหดตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิต จะยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จุด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อย่างมีนัยสำคัญ