นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.00-35.65 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.30-35.50 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (27 พ.ย.) ที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 35.30-35.48 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ โดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของทั้งสหรัฐฯ และจีน พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟด และรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์เป็นแนวต้านสำคัญ ซึ่งเงินบาทจะอ่อนค่าต่อ หรือพลิกกลับมาแข็งค่าอาจต้องรอลุ้นทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. ทั้งนี้ เงินบาทอาจได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินหยวนจีน (CNY) หากรายงานดัชนี PMI จีนออกมาดีกว่าคาด และที่สำคัญ โฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้ ซึ่งต้องจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด หลังล่าสุดราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้ (โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท)
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยากหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงสนับสนุนเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามองว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน “Higher for Longer” พร้อมกับเริ่มปรับลดโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลงได้ “เร็วและลึก” กว่าที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ฝั่งสหรัฐฯ - ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนตุลาคม และรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาประเมินว่า เฟดมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวจะส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ควบคู่ไปกับการติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด รวมถึง รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ว่าจะสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ของเฟดสาขาต่างๆ อย่างไรบ้าง โดยหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น จากรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจก่อนหน้า อาจเป็นปัจจัยให้เฟดดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเรายังคงมองว่า เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ไปก่อน และเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้นชัดเจนและเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า หากคาดการณ์ของเราไม่ผิดพลาด
▪ฝั่งยุโรป - ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB โดยเฉพาะประธาน ECB โดยในส่วนของ ECB นั้น ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และมีโอกาสที่ ECB จะลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าไม่น้อยกว่า -75bps ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจได้แรงหนุนจากรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของยูโรโซนที่จะชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.9% (ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI จะชะลอลงสู่ระดับ 2.7%)
▪ฝั่งเอเชีย - ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของจีนในเดือนพฤศจิกายน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.1 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนอาจยังอยู่ในภาวะหดตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตจะยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จุด ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น นักวิเคราะห์ต่างคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก โดยภาพดังกล่าวจะสะท้อนจากยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคมที่จะโตกว่า +5.9%y/y ในส่วนนโยบายการเงินนั้น ตลาดประเมินว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะหนุนให้ทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% และ 5.50% ตามลำดับ
▪ฝั่งไทย - เราประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% หลังล่าสุดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจอาจลดลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้บ้าง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ รวมถึงความไม่แน่นอนของแนวโน้มบรรดาเศรษฐกิจหลัก ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น ราว +9%y/y ตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ Semiconductor ที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรและอาหารยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ยอดการนำเข้าอาจโตราว +6%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจเกินดุล +530 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การฟื้นตัวดีขึ้นของการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 4 จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีนี้ได้