นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 พ.ย.) ที่ระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.15-35.31 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดี รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง และกดดันให้เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงแกว่งตัว sideway แต่ทว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้นตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงการปรับตัวลงของราคาทองคำที่หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ขณะเดียวกัน การปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจยังคงจำกัดอยู่ในโซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากรายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ออกมาดีกว่าคาดอาจทำให้เงินดอลลาร์ พร้อมบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแรก ไปทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้
อนึ่ง ในวันนี้ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของฝั่งยุโรป เพราะหากรายงานดัชนี PMI ของทั้งอังกฤษและยูโรโซนออกมาแย่กว่าคาด อาจยิ่งกดดันให้ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งยุโรป และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB รวมถึง ECB โดยผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายน ของฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจยูโรโซนและอังกฤษจะยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการอาจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะการหดตัวต่อเนื่องของทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการ ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและยูโรโซนออกมาแย่กว่าคาดอาจกดดันให้เงินปอนด์ (GBP) รวมถึงเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้ หลังจากที่ทั้งสองสกุลเงินได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า (เริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2)