นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 พ.ย.) ที่ระดับ 35.18 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.03-35.24 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงสู่โซน 35.20 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่าเงินบาทยังคงแกว่งตัว sideway ไปก่อนจนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยในวันนี้ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยหากรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด (ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานพลิกกลับมาลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณสะท้อนว่าการจ้างงานไม่ได้ชะลอตัวลงมากขึ้นอย่างที่ตลาดกังวล) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวขึ้นต่อได้ และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้น รวมถึงระยะยาวในรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออกมาสูงกว่าคาด อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจต่อมุมมองล่าสุด ว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วและเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า โดยในภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ กดดันให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 35.50 บาทต่อดอลลาร์) ได้ไม่ยาก
ในทางกลับกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด หรือยังคงสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่า เรามองว่าเงินบาทอาจยังไม่แข็งค่าจนหลุดโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ รวมถึงสกุลเงินฝั่งเอเชีย อย่างเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินหยวน (CNY) หลังทั้งสองสกุลเงินต่างปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้