นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 พ.ย.) ที่ระดับ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.80-35.50 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 34.99-35.18 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวนด์ขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.50% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัว sideway โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 103.9 จุด
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นหลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลง พร้อมกับการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำ ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วและอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้เรามองว่าควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น และรอติดตามรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าอาจชะลอลงบ้างจนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ซึ่งต้องรอลุ้นทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังทยอยรับรู้รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ขณะเดียวกัน ควรระวังความผันผวนจากค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หากตลาดมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะไม่รีบหรือยังไม่สามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาแย่กว่าคาด และที่สำคัญ โฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้ ซึ่งต้องจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจรีบาวนด์แข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด หรือภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นดูดีกว่าเศรษฐกิจหลักอื่นๆ