xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 36.10 กังวลแนวโน้มเฟด-เสถียรภาพการคลังไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.60-36.30 บาท/ดอลลาร์ และมองกรอบค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (13 พ.ย.) ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 35.88-36.10 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงหนัก นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ซึ่งได้สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นและบอนด์โดยนักลงทุนต่างชาติในช่วงวันศุกร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน พร้อมติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก และลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ หลังตลาดกลับมากังวลทั้งประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมีทิศทางไม่แน่นอน อนึ่ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนออกมาดีกว่าคาดอาจช่วยให้ทั้งเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้น หรือ ชะลอการอ่อนค่าได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซน 36.25-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ ตลาดการเงินไทยอาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อมาตรการ Digital Wallet โดยหากพิจารณาจากแรงขายหุ้นและบอนด์ รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาทล่าสุด อาจประเมินได้ว่าผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทยมากขึ้น

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้หากตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือเร่งตัวขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด และสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้นอาจกดดันให้เงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น