นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8พ.ย.) ที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.58 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.65 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 35.50-35.66 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าราว -1% ส่งผลให้ทั้งบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ต่างปรับตัวลดลง (นอกจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ล่าสุด ช่วยจำกัดการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ฝั่งสหรัฐฯ) และช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวนด์ขึ้นมาได้บ้าง
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไปก่อน ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ หรือ จนกว่าตลาดจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ชัดเจน นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทยยังมีความผันผวน เพราะถึงแม้ว่าในฝั่งตลาดบอนด์จะเริ่มเห็นการกลับเข้าซื้อบอนด์ไทยของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น แต่ฝั่งตลาดหุ้น นักลงทุนต่างชาติอาจเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip and Sell on Rally เนื่องจากมุมมองผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังมองว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยอาจเป็นการรีบาวนด์ในระยะสั้นเท่านั้น ขณะเดียวกัน หากเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นอาจเผชิญแรงซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้นำเข้า ซึ่งอาจชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ได้บ้าง
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด และผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า เริ่มตั้งแต่การประชุมเดือนพฤษภาคม ทำให้หากถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองดังกล่าว หรือผลการประมูลบอนด์สะท้อนความกังวลแนวโน้มการออกบอนด์ของสหรัฐฯ มากขึ้น อาจทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่า พร้อมกับ กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด (ตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 21.15 น. ตามเวลาประเทศไทย) โดยมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควร เนื่องจากในสัปดาห์นี้แทบจะไม่มีรายข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งยุโรป เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวรวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน