xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 35.27 ผันผวนในทางอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 ธ.ค.) ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.40 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.14-35.39 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้างตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินฝั่งยุโรป (EUR และ GBP) จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อฝั่งยุโรปล่าสุดชะลอลงมากกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำอยู่บ้าง หลังราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า บรรดาธนาคารกลางหลักจะทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีหน้า ส่งผลให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าไปได้ไกล

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell อย่างใกล้ชิด พร้อมติดตามการปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDPNow) ในไตรมาสที่ 4 โดยเฟดสาขา Atlanta

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ในช่วงก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด (จะเริ่มตั้งแต่ช่วง 22.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย) ค่าเงินบาทอาจผันผวนไปตามบรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินเอเชียและตลาดการเงินไทย โดยฝั่งตลาดการเงินเอเชียอาจยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนในฝั่งตลาดการเงินไทย เรามองว่า แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจยังพอมีอยู่บ้าง ทำให้โดยรวมเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้

อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด อีกทั้งในช่วงโซนแนวต้านดังกล่าว เราคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงในการทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังโมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำเริ่มแผ่วลง จนทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจตัดสินใจทยอยขายทำกำไรเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด เนื่องจากในช่วงนี้ตลาดอาจอ่อนไหวกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด หรือถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่งสัญญาณ Hawkish หรือสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวผสมผสาน โดยบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent Seven) เช่น Nvidia -2.9% Alphabet -1.8% ต่างปรับตัวลดลงตามแรงขายทำกำไร ขณะที่ หุ้นกลุ่มอื่นๆ ต่างปรับตัวขึ้นได้ตามความหวังว่า เฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ล่าสุด ชะลอตัวลงตามคาด ขณะเดียวกัน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ปรับตัวสูงขึ้นแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวลงต่อเนื่องของตลาดแรงงาน ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.38% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.23%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.55% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อฝั่งยุโรปชะลอตัวลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของหุ้นยุโรปถูกจำกัดลงบ้าง เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดจะยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ในปีหน้า แต่ทว่าบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น มีส่วนช่วยหนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวนด์ขึ้นได้บ้างและแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.31% อย่างไรก็ดี คืนวันศุกร์นี้อาจเห็นการเคลื่อนไหวของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ผันผวนได้ เนื่องจากตลาดจะรับรู้ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ และถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งหากบอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้น เรายังคงมุมมองเดิมว่าผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (เน้นกลยุทธ์รอจังหวะ Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาสะท้อนว่าเฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วและเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้าตามที่ตลาดคาด ทว่า เงินดอลลาร์ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของสกุลเงินยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ECB และ BOE อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า จากรายงานอัตราเงินเฟ้อฝั่งยุโรปล่าสุดที่ชะลอลงมากกว่าคาด ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด (กรอบ 103-103.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าทั้งบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์จะมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง และกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ทว่าราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังว่า บรรดาธนาคารกลางหลักอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ทำให้ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวเหนือระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ทั้งนี้ จังหวะการรีบาวนด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น